“เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช”
การทำน้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพจากสมุนไพร 7 รส ที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร มีวิธีทำที่เหมือนกันทุกรส แตกต่างกันที่วัตถุดิบหลัก คือ สมุนไพรแต่ละชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องเลือกใช้ให้ตรงกับความต้องการของเรา
“น้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพ คือ อาหารของจุลินทรีย์ ไม่ใช่จุลินทรีย์ แต่เป็นอาหารจุลินทรีย์ จะทำให้จุลินทรีย์แข็งแรงและเพิ่มจำนวน ช่วยในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุอย่างรวดเร็ว”
สมุนไพร 7 รส
- สมุนไพรที่มี รสจืด : บำรุงดิน บำบัดน้ำ บำบัดของเสีย เช่น ข้าว, ย่างนาง, ผักบุ้งไทย, รวงข้าว, ผักตบชวา, หน่อกล้วย
- สมุนไพรที่มี รสขม : สร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย เช่น ฟ้าทะลายโจร, สะเดา, บอระเพ็ด, หญ้าใต้ใบ, เสลดพังพอน, ขี้เหล็ก
- สมุนไพรที่มี รสฝาด : ป้องกันเชื้อราในโรคพืช เช่น เปลือกแค, เปลือกมังคุด, ใบฝรั่ง, ใบทับทิม, เปลือกลูกเนียง
- สมุนไพรที่มี รสเมาเบื่อ : ป้องกันแมลง ฆ่าหนอน เพลี้ย และแมลงอื่นๆ เช่น หางไหล, ขอบชะนางแดง-ขาว, สลัดได, แสยก, หนอนตายหยาก, ใบน้อยหน่า, พญาไร้ใบ, เม็ดมะกล่ำ
- สมุนไพรที่มี รสหอมระเหย : ป้องกันและไล่แมลง เปลี่ยนกลิ่นต้นพืช เช่น ตะไคร้หอมไล่ยุง, ตะไคร้บ้าน, สาบเสือ, โหระพา, กะเพรา, ผักชี, กะทกรก
- สมุนไพรที่มี รสเผ็ดร้อน : ป้องกันและกำจัดแมลง ทำให้แมลงแสบร้อน เช่น พริก, พริกไทย, ข่า, กระเทียม, ดีปลี
- สมุนไพรที่มี รสเปรี้ยว : ป้องกันไล่แมลง เช่น เปลือกส้ม, มะนาว, มะกรูด, มะขาม, สับปะรด, มะเฟือง, ตะลิงปลิง

วิธีทำน้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพจากสมุนไพร 7 รส และส่วนผสม
- ถังหมักทำจากวัสดุที่ไม่ถูกกัดกร่อนป้องกันไม่ให้แสงและอากาศเข้าได้ ( ถังพลาสติก โอ่งมีฝาล็อค 200 ลิตร ) สีน้ำเงิน มีเข็มขัดล็อค
- พืชแต่ละรสที่เราต้องการหมัก 3 ส่วนเทียบเป็นกิโลกรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
- หวาน สำคัญถ้าน้ำตาลน้อยจะทำให้เน่า น้ำตาลชนิดต่างๆ 1 ส่วน หรือ 1 กก. ยกเว้นน้ำตาลทรายขาว, กากน้ำตาล แนะนำน้ำตาลที่คนกินได้เช่น น้ำตาลทรายแดง, น้ำตาลปี๊บ, น้ำตาลปึก, น้ำตาลอ้อย
- น้ำหมักเก่า ที่หมักจากพืชรสจืด 1 ส่วน, 1 กก, 1 ลิตร ไปเร่งปฎิกิริยาให้ย่อยเร็วขึ้น ไม่ใส่ได้แต่จะย่อยช้า ต้องหมักนานขึ้น
- น้ำเปล่า น้ำสะอาด 10 กิโลกรัม = 10 ลิตร
- สรุปอัตราส่วน พืช 3 กก + หวาน ( น้ำตาล ) 1 กก + น้ำหมักเก่า ( รสจืด ) 1 ลิตร + น้ำสะอาด 10 ลิตร ( ถ้าใช้อ้อยสด ใช้อัตราเท่ากับพืช 1:1 เช่น พืช 3 กก ใช้อ้อยสด 3 กก )
- หากจะหมักเพิ่มขึ้นสามารถปรับได้จากอัตราส่วนด้านบนเพิ่มจำนวนได้
- ทุกสูตรขั้นตอนการทำเหมือนกัน เปลี่ยนแค่พืชอย่างเดียว
- ถ้าใช้หน่อกล้วย ใช้หน่อกล้วยได้ทุกชนิด ใช้หน่อที่สูงประมาณ 1 เมตร
- เททุกอย่างลงในถังคนให้เข้ากัน+น้ำหมักรสจืดเก่าจะเกิดจุลินทรีย์ทำปฎิกิริยาย่อยกันก่อนหมักไว้ 15 วัน แล้วค่อยเปิดเติมน้ำนับต่อไปอีก 30 วัน
- 3 วันมาเปิดระบายแก๊สครั้งหนึ่ง ถ้ามีหนอนไม่ต้องตกใจเดี๋ยวมันจะตายและย่อยสลายอยู่ในนี้
- เดือน1 เป็น แก๊ส, เดือน 2 เป็นกรด, เดือนที่ 3 เป็น แอลกอฮอล์
- สำคัญที่สุดอย่าให้แสงกับอากาศเข้า เป็นเวลานานมันถึงจะเริ่มย่อย เมื่อเริ่มย่อยจะเกิดแก๊ส ต้องคอยมาเปิดระบายแก๊สออก ( ต้องมีช่องว่างด้านบนระหว่างฝากับน้ำหมัก ประมาณ 10% ของถัง ถ้าไม่มีช่องว่างจะบวมและฝาแตก )
- พอครบ 3 เดือน หรือจะ 4, 5, 6 เดือน ก็ได้ไม่เป็นไร แล้วค่อยเอาน้ำไปใช้ เน้นน้ำหมักรสจืดเป็นหลักเพราะจะใช้เยอะ
- ใช้ได้นานจนกว่าจะมีกลิ่นเหม็น ถ้ามีกลิ่นเหม็นแปลว่าจุลินทรีย์กินน้ำตาลหมดแล้ว ให้ละลายน้ำตาล 100 ลิตร / น้ำตาล 1 กก แล้วคน ให้เข้ากันแล้วปล่อยทิ้งไว้ 10-20 วัน
- ถ้ากลิ่นกลับมาสภาพเดิมแปลว่า น้ำตาลพอดีแล้ว นำไปใช้ต่อได้
- ถ้ากลิ่นยังไม่กลับมาเหมือนเดิมยังเหม็นอยู่ ให้ลองเติมเพิ่มอีก 0.5 กก คนแล้วรอดูอีก 10 วัน ถ้ากลิ่นยังไม่กลับมาเหมือนเดิม แสดงว่า น้ำตาลยังไม่พอให้เติมน้ำตาลอีก 0.5 กก คนให้เข้ากัน รอ 10 วันไปเรื่อยๆ จนกว่ากลิ่นจะกลับมาไม่เหม็นเหมือนเดิมจึงนำไปใช้ต่อได้
วิธีคำนวณทำน้ำหมัก ถัง 200 ลิตร
สูตร 3:1:1:10 = 15 ส่วน + ช่องว่าง 1 ส่วน = 16 ส่วน
200 ลิตร / 16 ส่วน = 12.5 ลิตร ( กิโลกรัม ) / 1 ส่วน
พืช : 3 ส่วน x 12.5 = 37.5 กก.
หัวเชื้อ ( น้ำหมักรสจืดเก่า ) : 1 ส่วน = 12.5 ลิตร
น้ำตาลทรายแดง : 1 ส่วน = 12.5 กก.
น้ำสะอาด : 10 ส่วน x 12.5 = 125 ลิตร
คนให้เข้ากันสม่ำเสมอถ้าคนไม่เข้ากันจะเน่า ต้องคนให้น้ำตาลละลาย
วิธีใช้น้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพ
- ใช้รดราดดิน บำรุงดิน น้ำหมักรสจืด 1 : น้ำ 200 ( ถ้าเป็นสะระแหน่ ต้องใช้ 1: 2,000 )
- ใช้ฉีดพ่นใบ น้ำหมัก 1 : 400
- ใช้บำบัดน้ำในบ่อ น้ำหมักรสจืด 10 ลิตร : บ่อน้ำ 1 ไร่
- ฉีดพ่นพื้นคอกสัตว์ ดับกลิ่นสิ่งปฎิกูล ราดชักโครก น้ำหมักรสจืด 1 : น้ำ 200
- ไล่แมลงวัน : 1/100
- ฆ่าหญ้า : 1/10 + เกลือ
ตัวอย่าง
ถ้าใช้บัวรดน้ำขนาด 10 ลิตร จะใช้น้ำหมัก 50 ซีซี หรือประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ
เคล็ดลับ
- เอาของที่มีในพื้นที่ ท้องที่ เพื่อให้เราพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด ถ้าเราพึ่งตนเองได้มากเท่าไหร่ ต้นทุนเราจะลด แล้วต้นทุนที่เราลด มันปลอดภัย เป็นของที่เรามีเอง ไม่มีสารพิษตกค้าง ไม่มีสารเคมี มันจะทำให้เราทำแล้วเหลือมากขึ้น
- จุลินทรีย์หน่อกล้วย ต้องใช้ให้หมดภายใน 1 เดือนมิเช่นนั้นเชื้อจุลินทรีย์จะตาย หรือเชื้อจุลินทรีย์จะลดลงไปเรื่อยๆ
วีดีโอสอนการทำน้ำหมักสมุนไพร 7 รส
