ชื่อ – ชนิด พันธุ์
สะเดา สะเดาบ้าน (ภาคกลาง),สะเลียม (ภาคเหนือ),ต้นกะเดา (ภาคอีสาน) , เดา , กระเดา (ภาคใต้) , ตะหม่าเหมาะ (กะเหรี่ยง) , ผักสะเลม (ไทยลื้อ)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Azadirachta indica A. Juss.
ประวัติ
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของสะเดาอยู่ในบริเวณประเทศพม่าและประเทศอินเดียแล้วมีการกระจายพันธุ์ไปในป่าแล้งแถบในประเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย สำหรับในประเทศไทยมีเขตการกระจายตามธรรมชาติเป็นป่าเบญจพรรณแล้งและป่าแดงทั่วประเทศ ทั้งนี้ในสภาพธรรมชาติไม้สะเดายังสามารถเจริญงอกงามในท้องถิ่นที่ มีอากาศร้อนชื้น ที่มีอุณหภูมิสูงได้ถึง 44 องศาเซลเซียส ที่ระดับความสูง 50 – 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล และสามารถขึ้นได้ในสภาพดินที่มีความแห้งแล้งดินหิน และดินเหนียว
รูปร่าง รูปทรง ( ต้น ใบ ดอก ผล )
- ใบ มีสีเขียวเข้มหนาทึบ ออกเป็นช่อแบบขนนก ยาว 15-40 เซนติเมตรมีใบย่อย 4-7 คู่ ขอบใบหยักเล็กน้อยหรือเกือบเรียบการเรียงตัวของใบแบบสลับ ใบย่อยเรียงตัวแบบตรงกันข้าม ในพื้นที่ที่แล้งจัด จะทิ้งใบเฉพาะส่วนล่างๆ ประมาณเดือนมกราคม ถึงมีนาคม และใบใหม่จะผลิขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเมษายน ช่วงนี้สะเดาจะแทงยอดอ่อนพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ดอก ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ตามง่ามใบหรือตามมุมที่ร่วงหลุดไปและที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเทา ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ แกนกลางของช่อมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ลักษณะค่อนข้างเกลี้ยง แตกกิ่งกางออกเป็น 2-3 ชั้น ที่ปลายเป็นช่อกระจุกอยู่ 1-3 ดอก มีขนคล้ายไหม มีใบประดับและใบประดับย่อยเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีขนนุ่มและสั้น ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้นเช่นกัน ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปทรงแจกัน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายเป็นพู 5 พูกลม พูซ้อนเหลื่อมกัน กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปช้อนแคบ ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้นขึ้นทั้งสองด้าน ท่อเกสรตัวผู้เกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม มีสัน 10 สัน ขอบบนเป็นพูกลม 10 พู มีอับเรณู 10 อัน ยาวประมาณ 0.8 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปรีแคบ ส่วนรังไข่เกลี้ยงหรือมีขนนุ่มสั้น
- ผลและเมล็ด มีลักษณะคล้ายผลองุ่น ขนาดยาว 1-2 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1 เซ็นติเมตร ผลจะสุกระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน แล้วแต่สภาพพื้นที่ ผลสุกสีเหลืองอมเขียว ลักษณะกลมรี มีรสหวานเล็กน้อย เมล็ดมีผิวค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาวสีเหลืองซีดหรือสีน้ำตาล ลักษณะกลมรี
ความสูงเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่
- 15-20 เมตร
ความกว้างทรงพุ่มเมื่อโตเต็มที่
- 4-6 เมตร
ความต้องการแสง
- ต้องการแสง 100%
ความต้องการน้ำ
- ต้องการน้ำมาก ควรรดน้ำทุกวัน
ชอบดินประเภท
- ชอบดินร่วน
ประโยชน์การใช้สอย
- ใบอ่อน แก้โรคผิวหนัง ปรับสมดุลน้ำเหลือง รักษาแผลพุพอง ,ช่วยเจริญอาหาร,ช่วยย่อยอาหาร,แก้ไข้,บำรุงธาตุ
- ใบแก่ บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ,แก้ไข้,ใช้พอกฝี
- ก้าน แก้ไข้ บำรุงน้ำดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงสุขภาพในช่องปาก
- ดอก แก้พิษโลหิต บรรเทาอาการเลือดกำเดาไหล แก้ริดสีดวง บรรเทาอาการคันคอ บำรุงธาตุไฟ
- ผล บำรุงหัวใจเป็นยาระบาย แก้อาการหัวใจเต้นผิดปกติ ,แก้ลม
- ผลอ่อน ช่วยเจริญอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะขัด
- เปลือกต้น เป็นยาขมเจริญอาหาร แก้ไข บิดมูกเลือด แก้ท้องร่วง แก้กษัย หรือ โรคซูบผอมแห้งแรงน้อย ลดเสมหะ แก้อาการท้องเดิน แก้บิด มูกเลือด
- แก่น แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้ไข้จับสั่น บำรุงโลหิต บำรุงธาตุไฟ
- ราก แก้เสมหะในลำคอ แก้เสมหะที่เกาะแน่นในทรวงอก ,แก้ไข้
- ยาง ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้
- กระพี้สะเดา แก้น้ำดีพิการให้คลั่งเพ้อ แก้เพ้อคลั่ง บำรุงน้ำดี
- เมล็ดสะเดา นำมาสกัดเป็นน้ำมันสะเดาบริสุทธิ์ ใช้บำรุงผิวพรรณและเส้นผม,ใช้เป็นยาฆ่าแมลง
การขยายพันธุ์
- การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เป็นการขุดหน่อที่แตกจากรากต้นสะเดามาชำในแปลงเพาะจนตั้งตัวได้แล้วนำลงชำในถุงพลาสติกที่ได้เตรียมดินไว้แล้ว หรือทำโดยการตัดรากที่ขุดจากแม่ไม้สะเดาเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีขนาดโตของเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.3 ถึง 0.5 เซนติเมตร ชำลงในแปลงเพาะชำและรดน้ำให้ชุ่มประมาณ 1 เดือน เมื่อหน่อแตกออกมาแล้วย้ายชำลงในถุงพลาสติก ก็จะได้กล้าไม้ที่โตได้ขนาดเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่
- การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ เป็นการเตรียมกล้าไม้โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งเมล็ดสะเดาไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ดังนั้นเมื่อเก็บเมล็ดมาแล้วควรรีบเพาะทันที่ เพราะถ้าเก็บไว้นานจะสูญเสียเปอร์เซ็นต์การงอกไป
คลิกเพิ่มเพื่อน! แจ้งเตือนบทความใหม่ก่อนใคร ฟรี!!
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
- สารบัญ