บทที่ 4 : การปฎิสนธิ และการตั้งครรภ์
1. การปฎิสนธิ ( ครรภ์วาระกำเนิด )
- ไข่แตกออกจากรัง 14 วัน หลังจากมีระดู แผลตรงที่ไข่ทะลุออกมาจะเป็นเนื้อที่เล็กๆ เป็นก้อนสีแดง แล้วกลายเป็นสีเหลือง เจริญขึ้นตามลำดับ
- ถ้าไข่ยังไม่ตายและมีการผสมพันธุ์เกิดขึ้น ก้อนสีเหลืองที่รังไข่นี้จะเจริญเติบโตมากขึ้น และมีผลทำให้ไข่อื่นในรังไข่ไม่สามารถสุกได้อีก เจริญเติบโตมากที่สุดในเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ เริ่มละลายตัวเมื่อตั้งครรภ์ได้ 5-6 เดือน และจะหมดไปเมื่อท้องครบ
- หากไข่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ ไข่จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 4-5 วัน และก้อนสีเหลืองที่ติดอยู่ที่รังไข่ก็จะละลายไปพร้อมกับเยื่อบุพื้นภายในมดลูก ( โพรงมดลูก ) ซึ่งจะละลายกลายเป็นระดูไหลออกมา
- เมื่อไข่ได้รับการผสมพันธุ์ ส่วนมากเกิดขึ้นภายในปีกมดลูก ไข่จะไหลผ่านปีกมดลูก 3-4 วัน
- ไข่จะไหลเข้าไปอยู่ในโพรงมดลูก อีก 6-7 วัน
- รวมระยะเวลาจากรังไข่ถึงโพรงมดลูก 10 วัน ไข่ได้อาหารจากไข่แดงและน้ำเลี้ยงจากต่อมภายในมดลูกซึมเข้าสู่ไข่ ในระหว่างเดินทางไข่จะแบ่งตัวไปเรื่อยๆ ขนาดของไข่ประมาณ 2 มม.
- ไข่ฝังตัวลงในเยื่อบุโพรงมดลูก ส่วนมากเป็นตอนบนบริเวณหน้า หรือด้านหลังโพรงมดลูก
- การส่งอาหารจากผู้ตั้งครรภ์ ให้แก่ไข่ผ่านเส้นโลหิต บริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกจะหนากว่าธรรมดามาก

- เมื่อโลหิตตั้งขึ้นแล้วภายใน 7 วัน บังเกิดเป็น ปฐมกะละละ เรียกว่า ชัยเภท มีระดูล้างหน้า 1 ครั้ง หรือ มารดาฝันเห็นวิปริต ก็รู้ว่าตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ครบ 7 วัน ข้นเข้าดังน้ำล้างเนื้อ
- อีก 7 วัน = 14 วัน เป็นชิ้นเนื้อ
- อีก 7 วัน = 21 วัน สัณฐานดังไข่งู
- อีก 7 วัน = 28 วัน ปัญจสาขา 5 ( ศรีษะ 1 มือ 2 เท้า 2 )
- อีก 7 วัน = 35 วัน เกิดเกศา โลมา นขา ทันตา
- อีก 7 วัน = 42 วัน ( 1 เดือน 12 วัน ) โลหิตเวียนเข้าเป็นตานกยูง
- ทารกในครรภ์ เป็นหญิงโลหิตจะเวียนซ้าย ชายจะเวียนขวา
- ครบไตรมาส ( 3 เดือน ) โลหิตแตกออกไปตามปัญจสาขา
- ครบ 4 เดือน ครบ 32 ประการ เกิดตา และหน้าผากก่อน
- ครบ 5 เดือน มีจิตและเบญจขันธ์รู้จักร้อน และเย็น เมื่อมารดารับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนเข้าไปก็จะดิ้นทุรนทุราย
- ขณะอยู่ในครรภ์ ทารกจะยั่งยองๆ กอดเข่า กำมือไว้ใต้คาง หันหน้าเข้าสู่กระดูกสันหลังของมารดา หันหลังออกข้างนาภี ( สะดือ )

1.1 อวัยวะหุ้มห่อและเลี้ยงทารก
-
รก
- รก เยื่อบุโพรงมดลูกเมื่อมีเส้นโลหิตมาเลี้ยงไข่มากขึ้น รวมกันเป็นบริเวณหนาฝังติดกับพื้นมดลูกต่อไปส่วนนี้เริ่มกลายเป็นรก เมื่อทารกอายุได้ 2 เดือน และจะเป็นรกครบถ้วนเมื่อทารกอายุ 4 เดือน ด้านหนึ่งยึดแน่นมีเส้นโลหิตติดต่อกับพื้นมดลูก
- รกมีหน้าที่ นำอาหารและออกซิเจนจากมารดาสู่ทารกทางสายสะดือ นำของเสียจากทารกกลับสู่ตัวมารดาเพื่อถ่ายเท ป้องกันโลหิตจากมารดาไหลย้อนกลับไปสู่ทารก เพราะความดันโลหิตของมารดาสูงกว่าทารก ถ้าติดต่อกันโดยตรงอวัยวะของทารกจะทนไม่ได้ และเชื้อโรคที่อยู่ในกระแสโลหิตของมารดามีโอกาสเข้าถึงเด็กได้ เช่น มารดาเป็นไข้รากสาด หรือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ( เช่น ซิฟิลิส เอดส์ เป็นต้น ) เด็กก็มีโอกาสได้รับเชื้อด้วย
- ลักษณะของรกเมื่อครบคลอด มีลักษณะคล้ายน้ำตาลปึก ขนาด 7-8 นิ้ว หนักประมาณครึ่ง กก.
- ด้านที่หุ้มเข้าหาตัวทารก คือ ทางที่สายสะดือเกาะมีลักษณะลื่นเรียบ เพราะมีเยื่อถุงบุหุ้มทารกอีกชั้นหนึ่ง
-
สายสะดือ
- สายสะดือ เป็นสายที่ติดต่อระหว่างเด็กกับรก มีเส้นโลหิตแดง 2 เส้น นำโลหิตจากมารดามาสู่ตัวทารก และเส้นโลหิตดำ 1 เส้น นำโลหิตจากทารกสู่มารดา
- ลักษณะของสายสะดือ มีเยื่อเหนียวอย่างเดียวกันกับเยื่อของถุงหุ้มตัวทารก ยาว 20-22 นิ้ว
- เมื่อครบกำหนดคลอด มักจะบิดเป็นเกลียวประมาณ 10 รอบ ถ้าเด็กดิ้นมากจนสายสะดือบิดเป็นเกลียวมากๆ ทำให้โลหิตมารดาไปสู่เด็กไม่ได้ เด็กอาจจะเสียชีวิตได้
- ส่วนที่เกาะติดกับรก มักจะเป็นบริเวณกึ่งกลางของรก ที่ออกไปอยู่ด้านข้าง ริมๆ รกเลยก็มี
- ตำแหน่งการเกาะของสายสะดือที่อันตราย เกาะอยู่ที่เยื่อหุ้มเด็กข้างๆ รก เวลาคลอดอันตรายมาก

1.2 การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆ ของมารดาเนื่องจากการตั้งครรภ์
- การเปลี่ยนแปลงเฉพาะที่
- การเปลี่ยนแปลงโดยทั่วไปของร่างกาย
- การเปลี่ยนแปลงของการเผาผลาญของร่างกาย
- การเปลี่ยนแปลงของต่อมไม่มีท่อภายในร่างกาย
การเปลี่ยนแปลงเฉพาะที่
-
มดลูก
- ก่อนตั้งครรภ์ มดลูกหนัก 50 กรัม ในโพรงมดลูกมีน้ำบรรจุอยู่ 2 ซีซี.
- เวลาครรภ์ครบกำหนดคลอด มีน้ำหนักราว 1,000 กรัม จุได้ราว 4,000-5,000 ซีซี. หรือมากกว่านั้น นอกจากนั้นมดลูกยังขยายทั้งขนาดและจำนวนของกล้ามเนื้อ เส้นโลหิตต่างๆ ที่เยื่อบุมดลูกก็โตตามไปด้วย ทำให้โลหิตมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น
- ปลายเดือนแรก มดลูกโตเพียงเล็กน้อย ปลายเดือนที่ 2 โตเท่าไข่เป็ด ปลายเดือนที่ 3 โตเท่าหัวทารก
- สัปดาห์ที่ 18 จะคลำพบมดลูกอยู่เหนือหัวเหน่า ( ระดับยอดมดลูกอยู่ราวกึ่งกลางระหว่างหัวเหน่ากับสะดือ )
- ปลายเดือนที่ 6 ยอดมดลูกอยู่ที่สะดือพอดี
- สัปดาห์ที่ 38 ยอดมดลูกจะสูงสุด ต่อไปจะลดต่ำลงมาซึ่งเรียกว่า ท้องลด เกิดจากหัวเด็กลงไปอยู่ในช่องเชิงกรานส่วนล่าง ซึ่งมักจะพบในสัปดาห์ที่ 40
- มดลูกของหญิงตั้งครรภ์ มักจะเอียงไปข้างขวามากกว่าข้างซ้าย มีลักษณะอ่อนนิ่ม จะตั้งต้นนิ่มที่มดลูกส่วนล่างก่อน จะพบว่าปากมดลูกนิ่มมาก ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์
- มดลูกมีการบีบตัวอยู่ตลอดเวลา และมีมากขึ้นเมื่อท้องใกล้ครบกำหนด ซึ่งการบีบตัวของมดลูกนี้ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด นอกจากสตรีมีโรคประสาทอ่อน แม้เด็กดิ้นก็รู้สึกปวดได้ การบีบตัวของมดลูกนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้รู้ได้ว่ามดลูกนั้นตั้งครรภ์รึเปล่า
- การบีบตัวของมดลูก 2-3 เดือนแรก บีบตัวครั้งละ 2-3 วินาที และเกิดขึ้นประมาณ 20 นาทีต่อครั้ง
- มดลูกจะบีบตัวมาก แรงกว่าธรรมดา เมื่อมีระดูของหญิงตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดการแท้งมักเกิดตรงกับระยะมีระดู จึงควรระวังมากสำหรับคนท้องในเมื่อถึงระยะเวลามีระดู
- ปากมดลูก เมื่อยังไม่ได้ตั้งครรภ์คลำดูจะเหมือนเอามือกดที่ปลายจมูก ส่วนกล้ามเนื้อที่หุ้มห่อลูกเมื่อตั้งครรภ์ก็จะขยายกว้างออกไปอีก
- เอ็นที่ยึดมดลูก ก็จะยืดออกมามากกว่าเดิม
- เมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน มารดาจะรู้สึกว่าทารกดิ้นในท้อง
- การตั้งครรภ์สำหรับท้องแรก ( ท้องสาว ) จะดิ้นช้ากว่า เพราะหนังท้องยังตึงอยู่รัดทารกแน่นกว่าท้องต่อไป
- คนที่ท้องครั้งที่ 2 หรือท้องต่อไป บางตำราก็ว่า 4 เดือน กว่าจะรู้สึกว่าทารกในท้องดิ้นพอเป็นเครื่องกำหนดการตั้งครรภ์
- วันครบกำหนดคลอด 280 วัน หรือ 40 สัปดาห์ ( ปกติจะอยู่ที่ 37-41 สัปดาห์ ) หรือ 9 เดือน
-
ช่องคลอด
- มีโลหิตมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น จึงมีสีม่วงช้ำตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จะยืดได้มากขึ้นเพราะมีโลหิตมาหล่อเลี้ยงมากขึ้น
- น้ำหล่อเลี้ยงช่องคลอด ในระยะนี้จะมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น
- แคมปากช่องคลอด ก็เปลี่ยนเป็นสีม่วงช้ำเช่นกัน
-
กล้ามเนื้อ
- เอ็น ข้อกระดูกในบริเวณช่องเชิงกราน เหล่านี้นุ่มยืดและเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ตั้งแต่อายุครรภ์ราว 5 เดือนเพื่อช่วยให้คลอดง่ายขึ้น
-
หน้าท้อง
- พบการเปลี่ยนแปลงได้ชัด ในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ระยะแรกๆ มดลูกจะอยู่ในเชิงกราน เมื่อมดลูกค่อยๆ ยืด หน้าท้องจะค่อยๆ ยืดบางออกไปจนผิวหนังหน้าท้องส่วนล่างแตกเป็นเส้นๆ ถ้าคนท้องแรก จะเป็นสีชมพูอ่อนๆ ครรภ์หลังๆ มีสีซีดๆ
- รอยแตกของหน้าท้อง จะปรากฎราว 8 เดือนขึ้นไป
- เส้นสีดำ ปรากฎขึ้นเส้นหนึ่งตรงกลางท้องจากหัวเหน่าไปถึงสะดือ เส้นนี้เห็นชัดในตอนหลังของการตั้งครรภ์ และจะค่อยๆ จางหายไปหลังจากคลอดแล้ว
-
นม
- เต้านม เมื่อท้องได้ 1 เดือนขึ้นไปจะคัดเพราะมีไขมันมาเพิ่มใต้ผิวหนัง ทำให้มารดารู้สึกปวดตึงบ้างเล็กน้อย ปลายเดือนที่ 2 ต่อมน้ำนมโตมากขึ้น คลำพบต่อมเป็นก้อนภายในเต้านม ในระยะต่อๆ ไปบริเวณเต้านมมีเส้นโลหิตดำปรากฎอยู่ใต้ผิวหนังเป็นเส้นเขียวๆ เวลาบีบเต้านมจะพบว่ามีน้ำใสๆ ออกมาเล็กน้อย ในระยะครรภ์ครบกำหนดคลอด น้ำนี้จะเปลี่ยนเป็นน้ำเมือกขุ่นขาว
- หัวนม จะใหญ่ขึ้น สีดำจัดขึ้น มีเม็ดดำๆ เล็กๆ ล้อมรอบหัวนมคล้ายกับหนามพองโตขึ้นราว 10-20 เม็ด และเมื่อครรภ์แก่เข้าจะมีจุดดำๆ รอบหัวนมกว้างขึ้นทุกที แต่สีเข้มน้อยกว่า
-
ผิวหนัง
- ผิวหนังบริเวณหน้า ปรากฎเป็นจุดดำๆ ทั้งสองข้างของโหนกแก้มและดั้งจมูก มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ โดยสมมติเอาดั้งจมูกเป็นตัวผีเสื้อ หลังคลอดแล้วจุดดำๆ จะค่อยๆ หายไป
- บางคนมีครรภ์บ่อยๆ และมีจุดดำๆ ขึ้นซ้ำๆ กันในเวลาตั้งครรภ์ หลังคลอดแล้วจุดดำๆ นี้จะมีอยู่ตลอดชีวิต
การเปลี่ยนแปลงโดยทั่วไปของร่างกาย
-
ระบบทางเดินของอาหาร
- มีคลื่นไส้อาเจียน ในเวลาเช้าๆ หลังจากลุกขึ้นจากที่นอน หรือหลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว มีราว 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ตั้งครรภ์ทั้งหมด มักเป็นคนที่มีครรภ์ครั้งแรก และคนเป็นโรคประสาทอ่อน มักตั้งต้นแต่อาทิตย์ที่ 8 ถึงอาทิตย์ที่ 12 มีอาการเหมือนคนเมาคลื่น ถ้าเป็นมากอาจอาเจียนเอาน้ำดีออกมา บางคนแพ้มากอาเจียนตลอดวัน แม้แต่ดื่มน้ำก็อาเจียนทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย
- ฟันของคนท้อง ฟันผุได้ง่าย เพราะหินปูนมารดารับประทานเข้าไปทารกเอาไปใช้ในการสร้างกระดูก
- อยากกินอาหารผิดๆ แปลกๆ เช่น อยากรับประทานของเปรี้ยว ขม ดินเผา เกลือ หรือพิสดารอื่นๆ
- ในสามเดือนแรก มีท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ท้องผูก และเบื่ออาหารเสมอ
- ในสามเดือนหลังก่อนคลอด รับประทานอาหารได้ ทำให้อ้วนใหญ่แข็งแรง แต่ท้องผูกเสมอ เพราะมดลูกกดบนลำไส้ใหญ่
-
ระบบทางเดินของโลหิต
- จำนวนโลหิตเพิ่มขึ้นราว 15% ของจำนวนโลหิตทั้งหมดในระยะตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นคนท้องแก่จึงมีหน้าตาสดใสแข็งแรง และรู้สึกว่าร่างกายสมบูรณ์ที่สุด เพราะว่าอวัยวะต่างๆ ของร่างกายหลายอย่างเจริญเติบโตขึ้น ต้องการโลหิตมาเลี้ยงมาก
- น้ำหล่อเลี้ยงโลหิตมากกว่าเม็ดโลหิต เมื่อนับเม็ดโลหิตจะเห็นได้ว่าเม็ดโลหิตน้อยไปเล็กน้อย คนไข้จึงบวมได้ง่าย
- เม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับพิษที่เกิดจากการตั้งครรภ์ ( ขณะตั้งครรภ์โลหิต 1 คิวบิคมิลลิมิเตอร์ มีเม็ดโลหิตขาวประมาณ 15,000 เม็ด ซึ่งตามธรรมดามีเพียง 8,000 เม็ด )
- ส่วนผสมที่ทำให้โลหิตแข็งเร็ว ก็มีมากขึ้น เพื่อมิให้มารดาเสียโลหิตมากเกินไปในเวลาคลอด
- หัวใจ ต้องทำงานเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อของหัวใจโตขึ้น เพราะจำนวนโลหิตมีมากขึ้นและหัวใจถูกดันขึ้นไปเนื่องจากมดลูกโตขึ้น ฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคหัวใจพิการอยู่แล้ว ในเวลาครรภ์แก่หัวใจมักทำงานไม่ไหว จึงไม่ควรมีบุตร
- ความดันโลหิต ครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใด ครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ความดันจะต่ำเล็กน้อย และสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อใกล้คลอด เมื่อคลอดแล้วจะลดลงทันที และจะต่ำอยู่ราว 5 วันหลังคลอด แล้วจะขึ้นมาสู่ระดับปกติ
-
ระบบทางเดินหายใจ
- ปอดต้องทำงานมากขึ้น ระยะหลังๆ ของการตั้งครรภ์ มดลูกจะดันปอดขึ้นไปในที่จำกัด ทำให้หายใจลำบากมาก ทำให้รู้สึกว่าเหนื่อยง่าย แต่อาการเหล่านี้จะหายไปหลังจากคลอดแล้วประมาณ 10 วัน
- ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค จึงมักมีอาการกำเริบมากขึ้น เพราะปอดจะทำงานมากในระยะนี้
-
ระบบทางเดินปัสสาวะ
- ไต ระยะหลังของการตั้งครรภ์ จะทำงานมากขึ้น เพื่อขับของเสียของมารดาและทารกออกมา
- โรคไตพิการ จะพิการมากขึ้น และยังทำให้เกิดการตั้งครรภ์มีพิษได้ง่ายด้วย
- ปัสสาวะไม่ควรมีไข่ขาว ปัสสาวะที่มีไข่ขาวแสดงว่าเริ่มเกิดการตั้งครรภ์พิษแล้ว ถ้าจะตรวจเพื่อให้แน่นอนต้องสวนปัสสาวะออกมาตรวจ
- ปริมาณน้ำปัสสาวะ จะเพิ่มจำนวนจากเดิมประมาณ 1 ใน 4 ส่วน รวมทั้งกระเพาะปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ถูกมดลูกกดไว้ ทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้ง
-
ระบบประสาท
ทำให้คลื่นไส้อาเจียน อาจมีนิสัยใจคอตรงกันข้ามกับเมื่อยังไม่ได้ตั้งครรภ์ พูดอะไรไม่แน่นอน ทำอะไรไม่ไคร่คิด
การเปลี่ยนแปลงของการเผาผลาญของร่างกาย
การเผาผลาญส่วนต่างๆ ของร่างกายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทารกและมารดามีการเผาผลาญอวัยวะต่างๆ ขึ้นพร้อมกันในเวลาเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงของต่อมไม่มีท่อภายในร่างกาย
เช่น ไทรอยด์ ตับอ่อน ต่อมแอดรีนอล เป็นต้น จะเจริญเติบโตขึ้นทุกๆ ต่อม และต้องทำหน้าที่มากกว่าธรรมดา

น้ำทูนหัวหรือน้ำคร่ำ
- ตั้งครรภ์แรกๆ เป็นน้ำใสๆ สีเหลืองอ่อนๆ รสเค็มกร่อย มีปริมาณเล็กน้อย ต่อไปจะมีมากจนท่วมตัวทารก
- ครรภ์อายุ 6 เดือน น้ำคร่ำจะข้นเข้ามีกลิ่นแรงสาบๆ มีสีเปลี่ยนแปลงไป เช่น เขียว เหลือง
- น้ำคร่ำวิปริต จะเป็นสีแดงอันตราย ซึ่งควรแก้ไข
- น้ำคร่ำมีธาตุต่างๆ เช่น ยูริน น้ำตาล ยูเรีย และซัลเฟต ฯลฯ
- ประโยชน์ของน้ำคร่ำ เพื่อหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ไม่ให้ทารกถูกกระทบกระเทือนจากของแข็ง และเป็นเครื่องถ่างให้มดลูกพองตัวอยู่เสมอ ทารกอยู่ในของเหลวจะหมุนตัวได้สะดวก น้ำคร่ำจะดันถุงน้ำคร่ำให้ตุงออกมาที่ปากมดลูก ทำให้มดลูกขยายตัวกว้างออกทุกที จนกว่าทารกจะออกได้ และช่วยหล่อลื่นให้ทารกคลอดสะดวก
- น้ำคร่ำมากเกินไป เกิน 2 ชวดเบียร์ บางราย 7-8 ชวดเบียร์ ท้องจะไม่ยาวรี แต่จะกลมใหญ่ คลำดูทารกไม่พบ ฟังเสียงหัวใจทารกไม่ได้ยิน หน้าท้องแบนราบมาก ทำให้ตาทารกผิดปกติ ทารกถูกบังคับจากการหดรัดตัวของมดลูก ส่วนน้ำจึงไม่เข้าช่องเชิงกราน เมื่อถุงน้ำคร่ำแตกจะมีน้ำคร่ำไหลออกมา

1.3 การให้การดูแลแก่หญิงตั้งครรภ์
การซักประวัติ
- ข้อมูลผู้ตั้งครรภ์ อายุ ที่อยู่ อาชีพ ระยะเวลาการแต่งงาน
- ประวัติครอบครัว การเจ็บป่วยของสามีและบุคคลในครอบครัว ทั้ง 2 ฝ่าย อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ประวัติโรคเลือด หรือโรคทางพันธุ์กรรมอื่นๆ
- ประวัติการเจ็บป่วย ในอดีต ที่เกิดขึ้นก่อนระยะตั้งครรภ์ โรคบางประเภท อาจมีผลต่อสุขภาพของมารดาและทารก เช่น อาการขาดอาหาร, โรคปอด ไอ หอบ, โรคหัวใจ ( มีอาการบวม หอบ เหนื่อย หรือ อาการเหนื่อยง่าย ), โรคไต ( ประวัติการถ่ายปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ และการบวม )
- ประวัติการคลอด จำนวนครั้งของการแท้ง และการตั้งครรภ์ อาการผิดปกติช่วงก่อนคลอด วิธีการคลอด อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคลอด ก่อนๆ อาการผิดปกติช่วงหลังคลอด จำนวนบุตรที่มีชีวิตในปัจจุบัน
- ประวัติการมีระดู อายุของการมีระดูครั้งแรก อาการก่อนมีระดู การมีระดูครั้งสุดท้าย นำไปใช้คาดคะเนกำหนดการคลอดของครรภ์นี้ได้
- อาการผิดปกติที่ต้องพบแพทย์ ประวัติการมีเลือดออกทางช่องคลอด อาการบวมบริเวณหน้า นิ้วมือ เท้า อาการปวดศรีษะมาก และปวดติดต่อกันเป็นเวลานานอาการไข้หนาวสั่น ประวัติการมีน้ำใสๆ ไหลออกมาทางช่องคลอด เด็กไม่ดิ้น
- การนัดตรวจครรภ์ แพทย์จะนัดให้มาาตรวจบ่อยขึ้นเมื่อครรภ์ใกล้ครบกำหนด เริ่มตั้งแต่ครรภ์อายุ
– 28 สัปดาห์ นัดตรวจทุกเดือน
– 28-36 สัปดาห์ นัดตรวจทุก 2 สัปดาห์
– 36 สัปดาห์ นัดตรวจทุกสัปดาห์
- การตรวจครรภ์ เพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น และหาทางป้องกันให้การคลอดปลอดภัยทั้งมารดาและบุตร โดยแนะนำให้มารดาไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์
- การตรวจเลือด ถ้ามารดาไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล จะต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อโรคกามโรคหรือตรวจหาอาการผิดปกติหรือโรคอื่นๆ ตามที่แพทย์สงสัย
- กาารตรวจปัสสาวะ เพื่อหาน้ำตาลและไข่ขาวในปัสสาวะทุกครั้งที่ไปตรวจครรภ์ตามนัด
การให้คำแนะนำผู้ตั้งครรภ์
- การตั้งครรภ์ไม่ใช่โรคหรือความเจ็บป่วย แนะนำให้ผู้ตั้งครรภ์เข้าใจ เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายช่วงเวลาหนึ่ง อาการต่างๆที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขให้บรรเทาน้อยลงได้ ถ้าปฎิบัติตามคำแนะนำ ทำให้มารดาเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน
- อาการคลื่นเหียน อาเจียนในตอนเช้า ( แพ้ท้อง ) เมื่ออายุครรภ์ได้ 1-2 เดือน เพราะเส้นประสาทมดลูกติดต่อถึงกระเพาะอาหาร แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกัน เช่น เบื่ออาหาร อยากทานอาหารรสแปลกๆ อารมณ์หงุดหงิด โมโหร้าย วิตกอ่อนเพลีย ผดุงครรภ์ควรให้รับประทานยาหอม หรือใช้มะกรูด มะนาว สูดดมได้ บางรายสามีก็มีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อถึงกำหนดตามธรรมชาติ
- อาหารที่มีคุณค่าต่อทารกในครรภ์ ได้แก่ ไข่ นม เนื้อ ปลา และถั่ว ผักต่างๆ ฟักเขียว ฟักทอง ฯลฯ ผลไม้ มะละกอ กล้วยน้ำว้า ส้ม น้ำมะพร้าวอ่อน ฯลฯ ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้การขับถ่ายสะดวก ไม่มีอาการท้องผูก
- เครื่องนุ่งห่มต้องสะอาด ควรใส่สีสันสดใส หลวมๆ ใส่สบายๆ มีไว้เพียงพอผลัดเปลี่ยน เพื่อสุขภาพจิต
- การปฎิบัติต่อร่างกาย ดูแลความสะอาดร่างกาย ดูแลครรภ์ รักษาผิวพรรณและสุขภาพร่างกาย สังเกตุอาการผิดปกติต่างๆ อาการแบบไหนต้องรีบไปพบแพทย์
- หัวนมจมหรือคุด ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบแล้วดึงหัวนม ควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- คันตามหน้าท้อง และร่างกาย แนะนำไม่ให้เกา ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นจัดบิดให้แห้งประคบหน้าท้องและตามตัวที่คัน โรยด้วยแป้งเด็ก
- คันที่ช่องคลอด ช่วงตั้งครรภ์ร่างกายจะผลิตสารขับหลั่งต่างๆ แตกต่างจากช่วงปกติ ใช้อ่างดินหรือภาชนะชนิดตื้น ใส่น้ำอุ่นๆ นั่งแช่ 5-10 นาที แล้วซับให้แห้งจะรู้สึกสบาย ห้ามหญิงตั้งครรภ์อาบน้ำในคลอง
- ไม่ให้ทำงานหนัก พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการยก หิ้ว แบก หามของหนัก อาจทำให้เกิดการแท้ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อมารดาและทารก
- การมีเพศสัมพันธ์ หลังจากตั้งท้องถึง 6 เดือนห้ามการมีเพศสัมพันธ์เด็ดขาด

2. การบำรุงรักษาครรภ์และการปฎิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์ ( ครรภ์รักษา )
เอ็นผ่านหน้าอกเขียว หัวนมคล้ำดำ ตั้งเป็นเม็ดรอบหัวนม
ครรภ์ 1 เดือน
ไข้สันนิบาต ทำให้ราก จุดในอุทร ละเมอเพ้อพกดังผีเข้า
- ทำบัตร 5 มุม เอาแป้งคลึงท้องด้วยมนต์ โอมธิชูภูภะสวาหะ 7 ที แล้วเอาแป้งที่คลึงท้องมาปั้นรูปผู้หญิง1 ภูเขา1 ไก่ 1 ตัว ม้า 1 ตัว ลูกไม้ 7 สิ่ง แล้วเอาข้าวสารโปรยกลางลูกไม้บูชา แล้วเอาไปส่งที่ทิศอาคเนย์ ทำ 3 วันหาย
- ถ้าไม่หาย ให้เอาจันทน์หอม ดอกบัวเผื่อน รากบัวหลวง ข้าวเหนียวกัญญา สิริยา 4 สิ่งนี้บดละลายน้ำนมโคกินหาย
- ถ้าไม่หาย เนื้อโคย่าง ข้าวตอกข้าวเหนียวกัญญา บดละลายน้ำผึ้งให้กินหาย
- ถ้าให้ยาร้อน ใบไทรย้อย ใบหญ้าแพรก ใบพรมมิ ใบตำลึง และดินประสิวขาว 5 สิ่งนี้บดละลายน้ำซาวข้าวชโลมหาย กินก็ได้
ครรภ์ 2 เดือน
เป็นไข้จับ ทุกวันหรือวันเว้นวัน
- ทำบัตรกลม1 อัน เอาแป้งคลึงท้องด้วยมนต์นี้ โอมอมรหิชิวัรติเยสวาหะ 7 ที แล้วจึงเอาแป้งที่คลึงนั้นมาปั้นเป็นรูปแมว 1 ตัว เอาผัก 3 สิ่ง ลูกไม้ 3 สิ่ง ดอกไม้ 3 สิ่ง แล้วจงเอาข้าวสุกทรายตีนตอง เอาแป้งหอม น้ำหอม พรมบัตรเอาไปส่งทิผสบูรพาหาย
- ถ้าไม่หายให้แต่งยา เกสรบัวหลวง ดอกจงกลนี หัวแห้วหมู เทียนดำ กระจับบก บดละลายน้ำซาวข้าวกินหาย
ครรภ์ 3 เดือน
ไข้ลง ราก จุกเสียด แทงหน้า แทงหลัง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
- ทำบัตร 3 มุม เอาแป้งเอาถั่วเขียวคลุกให้เข้ากัน คลึงท้องด้วยมนต์นี้ โอม สิทธิ สามกาเรติ เทพิน วา อหัง อิชา กานัง มาเรหิ เอหิๆ อาคจฉนติ กาเมหิเน 7 ที แล้วเออาแป้งที่คลึงมาปั้นเป็นรูปหญิง 1 คน กระต่าย 1 ตัว เอาข้าวสุกกองเป็นจอมปลวก เอาเหล้า ข้าววางลงในกระบาล น้ำนมโค ผัก 3 สิ่ง ดอกไม้ 3 สิ่ง แป้งกระแจะ น้ำมันหอม ประพรมบัตรแล้ว เอาไปส่งทิศประจิมทำ 3 วันหาย
- ถ้าไม่หายให้แต่งยา ยางไข่เน่า ยางมะม่วงกะล่อน บดน้ำร้อนกินหาย
- ถ้าไม่หายเอา ข้าวตอก ข้าวเหนียวกัญญา บดละลายน้ำนมโค
ครรภ์ 4 เดือน
สันนิบาต เป็นไข้เสมหะ เป็นลม เหงื่อตก และตกโลหิต
- ทำบัตร 4 มุม เอาแป้งคลึงท้องด้วยมนต์นี้ โอม เห เห โหติฐ โหติฐ เหยะนะ เหยะนะ โอปกฺสํสาภตาว ปสยนฺน สนา ริเห 7 ที แล้วเอาแป้งมาปั้นแร้ง 1 ตัว งูเขียว 1 ตัว คน 2 คนลูกไม้ 2 สิ่ง ดอกไม้ 2 สิ่ง ผัก 2 สิ่ง เอาใบมะม่วงรองบัตร เอาไปส่งทิศพายัพ 3 วันหาย
- ถ้าไม่หายแต่งยา โกฐเขมา เกสรบัวหลวง รากขัดมอน ดอกจลกลนี บดด้วยน้ำนมโค
ครรภ์ 5 เดือน
ครรภ์รักษา เป็นไข้ให้ราก จุกหน้า จุกหลัง
- ทำบัตร 5 มุม เอาแป้งคลึงท้องด้วยมนต์นี้ สนติปกขา อปตฺตนา สนติปาทา อวญจนาา มาตา ปิตา จ นิกฺขนตา ชาตเวท ปติกฺกม ปติกฺกม ปติกฺกม ปติกฺกมนฺตุ ภูตานิ โสหํ นโม ภควโต นโม สตฺตนนำ สมฺมาสมฺพุทธาา นนฺติ 7 ที แล้วจึงเอาแป้งที่คลึงท้องนั้นมาปั้นเป็น หญิง 1 คน ดอกไม้ 5 ดอกผักพล่า ปลายำ เหล้าและข้าว เนื้อแห้ง บูชาแล้วเอาไปส่งทิศหรดีที่ต้นไม้ใหญ่ 3 วันหาย
- ถ้าไม่หายให้แต่งยา ดอกบัวเผื่อน ดอกบุนนาค ยางมะม่วง บดละลายน้ำนมโค กินแก้ลงท้องและลงโลหิต แก้จุกเสียดหาย
ครรภ์ 6 เดือน
เป็นไข้ เจ็บแข้ง เจ็บขา เจ็บหน้าตะโพก และคันทวารอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นลมจับเนืองๆ ถึงจะเสียกกระบาลก็ไม่หาย
- ทำบัตร 4 มุม 2 ชั้น เอาแป้งคลึงท้องด้วยคาถานี้ อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺมินฺติ ภวติโลกิติ โลกสฺส สนฺนิกพฺภทฺม หิริ คพฺภปมุญฺจนฺติ 7 ที แล้วเอาแป้งคลึงท้องมาปั้นเป็นรูปวัว 1 ตัว ม้า 1 ตัว ไก่ 1 ตัว น้ำมะนาว1 น้ำมันงา1 ผัก 7 สิ่ง ลูกไม้ 7 สิ่ง ดอกไม้ 7 สิ่ง ขนม 7 สิ่ง เอาข้าวคั่วรายตีนตอง แล้วจึงเอาสุรา แป้งมันที่ดีประพรมบูชาา เอาไปส่งทิศหรดี 3 วันหาย
- ถ้าไม่หายให้แต่งยา เม็ดในส้มซ่า เปลือกสะแกจันทน์แดง จันทน์ขาว ดอกจงกลนี เอาเท่ากัน บดละลายน้ำนมโคหาย
- ถ้าาไม่หายให้ประกอบยาสุขุมขึ้นไป เพราะกุมารนั้นแก่กล้าอยู่แล้ว
ครรภ์ 7 เดือน
เป็นไข้ ให้รากโลหิต ร้อนภายใน
- ทำบัตร 4 มุม 2 ชั้น เอาแป้งคลึงท้องด้วยมนต์นี้ โอม นมสฺสสามิ นโม จ สุคโต ปจฺจุปฺปนฺนา ปญฺจพุทฺธา ปน โอม สิมหาสิ ครั้นกูแบ่งกูกดขี่กู จะบูชาแก่เทวดาอันประสิทธิ์ในสงสาร โอมสิทธิกาลมหาสิทธิกาลสวาหะ 7 ที แล้วจึงเอาแป้งที่คลึงท้องมาปั้นเป็นรูปเสือ 1 ตัว แร้ง 1 ตัว เอาข้าวสารขาวรายตีนตอง จันทน์แดง จันทน์ขาว ผัก 3สิ่ง ข้าวตอกดอกไม้บูชาส่งทิศประจิม 3 วันหาย
ครรภ์ 8 เดือน
เป็นไข้ ไม่เป็นไรนัก เพราะกุลมารนั้นแก่กล้าจวนจะคลอดอยู่แล้ว
- ทำบัตรกลม 1 ใบเอาแป้งคลึงท้องว่าด้วยคาถานี้ สพฺพเทวา ปิสาเจว อาฬกาทโยปิจ ขคฺคํ ตาลปตฺตํ ทิสฺวา สพฺเพ ยกฺขา ปลายนฺติ 7 ที แล้วเอาแป้งที่คลึงท้องมาปั้นเป็นรูปม้า 1 ตัว เอาข้าวสารรายตีนตอง ผัก 2 สิ่ง ดอกไม้ 2 สิ่ง เอาใบมะม่วงออกร่อง แป้งหอม ประพรมบูชา แล้วเอาไปส่งทิศอีสานที่ต้นไม้ใหญ่ 3 วันหาย
- ถ้าไม่หายให้แต่งยา เม็ดผักกาด รากบัวหลวง ข้าวเหนียวกัญญา บดด้วยน้ำซาวข้าว น้ำท่าก็ได้
ครรภ์ 9 เดือน
ถ้าเป็นไข้ก็แต่ภายนอก เว้นไว้แต่เป็นไข้อหิวาตกโรค ถ้าเป็นฝีเอกและฝีเอกตัดนั้น กุมารจะอัตรธานก่อนมารดา ถ้ามิดังนั้นมารดาต้องกฤติยาคมคุณไสย และกุมารจะตายก่อนมารดา ถึงจะตายก่อนก็จะพามารดาไปด้วย
- ทำบัตรกลม 1 ใบเก้าชั้นดุจบัตรพระเกตุ เอาแป้งคลึงท้องด้วยคาถานี้ เถโร ปาปิม เต องฺคปจฺจงฺคานิ อหํ ปสฺสามิ กึมงฺคํ ปนสกลสรีรํ นิกขม สหุปาปิม เสกตามกำลังวัน แล้วจึงเสกน้ำรดด้วยคาถานี้ 8 คาบ สนฺติ ปกฺขา อปตฺตนา สนฺติ ปาทา อวญฺจนา มาตาปิตา จ นิกฺขนฺตา ชาต เวท ปฎิกฺกม สห สจฺเจ กเต มยฺหํ มหาปปชฺชสีโต สิขีวชุเชสิ โส ฬส กริสานิ อุทกํ ปตฺวา ยถา สิขี สจฺเจน เมสโม นตฺถิ เอสา เม สจฺจ ปารมีติ แล้วจึงเอาแป้งคลึงท้องมาปั้นเป็นรูป สิงห์ 1 ตัว อีแร้ง 1 ตัว ครุฑ 1 ตัว เอาผักยำ 7 สิ่ง ดอกไม้ 7 สิ่ง เอาใบมะม่วงกะล่อนรองบัตร เอาแป้ง เอากระแจะ และน้ำมันหอมประพรมบัตรบูชา แล้วเอาไปส่งทิศอาคเนย์ 3 วันหาย
- ถ้าไม่หายแต่งยา รากละหุ่งแดง ยางงิ้ว ขิงสด บดละลายน้ำแรมคืน
ครรภ์ 10 เดือน
สตรีผู้นั้นเป็นคนโบราณ มีชาติอันสูง เทพยดาจุติลงมาปฎิสนธิในครรภ์ ถ้าเป็นไข้ในอุทร
- ทำบัตรกลม 3 ชั้น เอาแป้งคลึงท้องเสกด้วยคาถา ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โซโรเปตาเตน สจฺเจน โสตฺถิ เตโหตุโสตถิ คพภสฺสชาติยา ชาโต นาภิยํ สมฺผสฺสานํ ปฎิฆาตาย อพฺยาปชฺฌปรมตายาติ แล้วจึงเอาแป้งคลึงท้องนั้นมาปั้นเป็นรูป สิงห์ 1 ตัว ครุฑ 1 ตัว แร้ง 1 ตัว ผัก 7 สิ่ง กับเครื่องมัจฉะ มังสะ แล้วเอาแป้งหอม น้ำหอมประพรม เอาธุปเทีนยจุดบูชา
- เมื่อจะบูชาให้ว่าคาถาตามกำลังวัน ปูร ตฺถิมสฺมี ทิสาภาาเค สนฺติเทวามหิทฺธิกา เตปิตุมฺห อนฺรกฺขนฺตุ ออาาโคฺยน สุเขนจ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ รกฺขนฺตุ สพฺพเทวดา สพฺพ พุทธานุภาเวน สทา โสตถี พวนฺตุ เต ปูร ตฺถิมสฺมึทิสาภาเค สนฺเทวา มหิทฺธิกา เตปิตุเมฺห อนฺรกฺขนฺตุ อาโรคฺยน สุเขน จ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ รกฺขนฺตุสพฺพเทวดา สพฺพพุทธานุภาเวน สทา โสตถี ภวนฺตุ เต สงฺฆานุภาเวน สทา โสตภี ภวนฺตุ เต บูชาแล้วเอาไปส่งทิศบูรพา 3 วันหาย

3. การแท้ง ( ครรภ์วิปลาส )
ส่วนมากจะแท้งเมื่อครรภ์อายุครบ 3 เดือน แท้งด้วยกรรมพันธุ์มารดา และเคยแท้งแล้วก็อาจทำให้แท้งได้อีก หรือมารดากินยาร้อนๆ หรือถูกบีบรัด ก็ทำให้แท้งได้ การแท้งบุตรอันตรายมาก ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที
สาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้ง
1. ต้นเหตุเกี่ยวกับไข่
- ครรภ์ไข่ปลาอุก ไข่ทารกสูญเสียไปแล้ว แท้งออกมาเป็นเม็ดๆ อย่างเม็ดสาคู ถ้าเป็นเม็ดๆ ทั้งหมดแสดงว่า ตัวเด็กถูกทำลายไปหมดแล้ว
- โรคของรก รกที่มีการติดเชื้อกามโรค และในรายที่รกเกาะต่ำ
- โรคของสายสะดือ สายสะดือยาวเกินไป จนขดกันเป็นเกลียวทำให้โลหิตเดินไปสู่เด็กไม่ได้ ทำให้เด็กตาย
- โรคของเยื่อถุงน้ำหุ้มเด็ก น้ำหล่อเลี้ยงเด็กมากเกินไป หรือน้อยเกินไป
- โรคของตัวเด็กเอง เด็กเกิดมาไม่สมประกอบ เช่น แขนด้วน เด็กไม่มีสมอง โรคพวกนี้ทำให้เด็กตายได้
2. ต้นเหตุเกี่ยวกับมารดา
- เกี่ยวกับอวัยวะภายในช่องเชิงกราน
- เยื่อบุพื้นมดลูกอักเสบเรื้องรัง
- มดลูกมีรูปร่าางผิดไปจากปกติ เช่น ในรายที่ยอดมดลูกเป็นสองแฉก
- มดลูกมีขนาดเล็ก
- ยอดมดลูกพลิกกลับตัวไปอยู่ด้านหลัง
- ปากมดลูกฉีกขาดมาก เกิดจากการคลอดที่แล้วมา เมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไปปากมดลูกปิดไม่สนิท ทำให้เกิดแท้งได้ง่าย
- เนื้องอกไปรบกวนมดลูก ทำให้เกิดการหดรัดตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของการแท้งได้
- เกี่ยวกับการผิดปกติมารดา แล้วเป็นผลทำให้เด็กตายบ่อย
- โรคที่ทำให้มารดามีไข้สูง เช่น ฝีดาษ ไข้รากสาด บิด ปอดบวม เป็นต้น อาการไข้สูงทำให้เด็กตาย
- ยาสลบ แม่ต้องทำการผ่าตัดและดมยาสลบนานๆ ทำให้เด็กตายได้
- กระทบกระเทือนจากภายนอก เช่น มารดาโดนรถชน ถูกตี ตกจากที่สูง มีการร่วมเพศที่รุนแรงทำให้ทารกตาย
- มีความเครียดและความวิตกกังวล หรือมีอารมณ์แปรปรวน เช่น เสียใจมากๆ เกิดแท้งได้ เพราะมดลูกบีบตัวมาก
- เกี่ยวกับต่อมภายในผิดปกติ เช่น ต่อมไทรอยด์โต ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
3. ต้นเหตุเกี่ยวกับพ่อ
ตัวสเปิร์ม ของผู้เป็นพ่ออ่อนเกินไป อาจเนื่องจากพ่อเป็นกามโรค ( ซิฟิลิส ) หรือถูกแสงเอกซเรย์มากเกินไป หรือดื่มสุราจัดเสมอๆ เป็นต้น
ชนิดของการแท้ง
การแท้ง คือการที่มีโลหิตออกทางช่องคลอดในระยะที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 28 สัปดาห์ เมื่อไข่ตายแล้วทำให้ก้อนสีเหลืองที่ติดอยู่ที่รังไข่ ซึ่งมีคุณภาพทำให้การตั้งครรภ์เจริญเติบโตได้ มีการเปลี่ยนแปลงและสูญเสียไปและทำให้มดลูกเกิดบีบตัวขึ้น เมื่อมดลูกบีบตัว เยื่อถุงน้ำหุ้มตัวเด็กติดกับพื้น มดลูกก็แยกจากกัน เกิดมีโลหิตออกทางช่องคลอดเล็กน้อย โลหิตที่ไหลออกมา ทำให้มดลูกบีบตัวตลอดเวลา แผลที่แตกก็โตมากขึ้น
อาการโลหิตออกทางช่องคลอดนี้อาจเกิดจากโรคอื่นได้เหมือนกัน เช่น ท้องนอกมดลูก มะเร็งปากมดลูก ปากมดลูกเป็นแผล เป็นต้น จะมีอาการปวดท้องเล็กน้อย และก็หายไป ปากมดลูกปิดตามเดิม แสดงว่าไม่มีอาการแท้ง
การแท้งแยกออกได้เป็น 3 ระยะ
- ระยะแรก แท้งภายใน 2 เดือนแรก ระยะนี้แท้งง่ายมาก และเมื่อแท้งแล้วมักไม่มีอะไรเหลือค้างในมดลูกเลย การแท้งระยะนี้ไม่มีอันตราย
- ระยะที่สอง แท้งภายในเดือนที่ 3-4 ระยะนี้เกิดรกแล้ว การแท้งระยะนี้มักมีเศษรกเหลือค้างอยู่ในมดลูกไม่มากก็น้อยเสมอ ทำให้เกิดโลหิตออกจากมดลูกเสมอๆ เพราะเมื่อเศษษรกเหลือตกค้างในมดลูก ทำให้มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี แผลที่รกหลุดปิดไม่สนิท จึงมีโลหิตออกเรื้อรังหรืออาจเกิดกาารตกเลือด และการติดเชื้อตามมาได้
- ระยะสาม แท้งในเดือนที่ 5-7 ระยะนี้เกือบคล้ายการคลอดแบบธรรมดาแล้วเพราะเด็กใหญ่มาก มีกระบวนการ 3 ระยะ คล้ายการคลอด แต่ระยะจะสั้นกว่าและเด็กออกง่ายกว่า
การดูแลรักษาหญิงที่มีการแท้ง
ให้คนไข้นอนพักนิ่งๆ ให้อาหารแต่พอควร งดเหล้า และห้ามใช้ยาถ่ายหรือยาระบายอย่างแรง นอกจากยาระบายอ่อนๆ เช่นน้ำมันละหุ่ง หรือสวนอุจจาระเมื่อท้องผูก ต้องให้คนไข้นอนพักบนเตียง 1 สัปดาห์ ถ้าอาการไม่น่าไว้วางใจ ควรส่งต่อให้แพทย์เป็นผู้ดูแลรักษา เพื่อมิให้เกิดอันตรายแก่มารดา
การดูแลรักษาหญิงที่มีทารกตายในครรภ์
การที่ทารกตายในครรภ์เพราะส่งเลือดมาเลี้ยงตามสายสะดือไม่เพียงพอ หรือขาดใจตายการคลอดก็คลอดออกได้ ถ้ามดลูกทำงานได้ดีและผู้คลอดก็ไม่เสียเลือดมากเกินไป มดลูกอาจหมดกำลังก่อนทารกเกิด หรือหลังจากทารกเกิดแล้วฉะนั้นอันตรายของผู้คลอดมีมาก ถึงแม้ว่ารกและทารกเกิดออกมาแล้วก็ยังหาพ้นอันตรายไม่
ทารกตายในครรภ์มีอาการดังนี้ อยู่ดีๆ เจ็บท้องรุนแรง ด้านหนึ่งด้านใดของมดลูก มดลูกมีการหดรัดตัว และเจ็บเมื่อเวลาถูกต้อง หน้าท้องตึง และเลือดออกทางช่องคลอดหรือมีอาการตกเลือดฟังเสียงหัวใจทารกหากไม่ได้ยิน และทารกไม่ดิ้น
การปฎิบัติ ต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที ช่วยป้องกันการช็อค หรือให้ยาบำรุงหัวใจ
กาารดูแลหญิงแท้งบุตรรกติด
เมื่อมีการหดรัดตัวของมดลูก รกก็จะหลุดออกจากที่เกาะในมดลูก แต่ถ้ามดลูกหมดกำลังหดตัวอ่อนลง ซึ่งเกิดจากมดลูกได้บีบทารกให้คลอดแรงมากเกินไป ทำให้ไม่มีกำลังบีบรกให้หลุดออก รกนั้นก็ไม่หลุด ส่วนที่จะช่วยให้เอารกออกนั้น ควรเป็นหน้าที่ของแพทย์ปัจจุบัน
แต่ถ้าทารกนั้นแท้งรกไม่หลุดเพราะว่ารกนั้นไม่แก่พอที่จะหลุดออกมาจากมดลูกเหมือนผลไม้ที่ยังอ่อนและดิบอยู่ จึงไม่ยอมหลุดออกจากมดลูกได้ง่าย จึงเป็นเหตุให้สตรีที่แท้งลูกมีรกติดโดยมาก และยังเกิดจากปากมดลูกยังเปิดไม่พอ ให้คนไข้นอนพักนิ่งๆ ให้อาหารแต่ควร

4. การเจริญของครรภ์ ( ครรภ์ปริมณฑล )
สตรีผู้ใดมีครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปถึง 10 เดือน และเป็นไข้ ให้แก้ด้วยยา โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐก้านมะพร้าว เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ ดอกสัตตบุษย์ ดอกบัวเผื่อน ดอกบัวชม ดอกสินจง ดอกจงกลนี กฤษณา กระลำพัก ชะลูด ขอนดอก จันทน์แดง จันทน์ขาว สน กรักขี เทพทาโร สมุลแว้ง อบเชยเทศ รากสามสิบ ยา 27 สิ่งนี้ ส่วนเท่ากัน ต้ม 3 เอา 1 กิน แล้วรักษาไข้ในครรภ์ตลอดไปแต่ต้นจนปลายดีนัก
อีกวิธีหนึ่งเอา แก่นขี้เหล็ก แก่นสะเดา แก่นสน จันทน์แดง จันทน์ขาว รากหญ้านาง ผลมะขามป้อม ผลกระดอม บอระเพ็ด ผลมะตูมอ่อน หัวแห้วหมู ฝักราชพฤกษ์ ก้านสะเดา 33 ก้าน ยา 13 สิ่งนี้ เอาส่วนเท่ากัน ต้ม 3 เอา 1 กินแก้ครรภ์รักษาและแก้ไข้เป็นต่างๆ ให้จับ ให้ลง ให้รากเป็นโลหิต และพิษโลหิตทำต่างๆ ถึงคลอด แท้งลูก โลหิตทำให้ร้อนและหนาว ให้ระส่ำระสายก็ดี ให้กินยานี้ และมียารักษาครรภ์อยู่ในคัมภีร์ปฐมจินดา
การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- สัปดาห์ที่ 1 อสุจิของผู้ชายเข้าผสมกับไข่สุกของผู้หญิงแล้ว
- สัปดาห์ที่ 2 เกิดเป็นกระดูกอ่อน แล้วเกิดเนื้อสมองและประสาท แล้วเกิดเป็นปลอดขึ้นภายในติดต่อเรื่อยมา หลอดภายในนี้ต่อไปจะเป็นหัวใจ
- สัปดาห์ที่ 3 ทารกจะมีลักษณะเหมือนตัวด้วง
- ย่างเข้าครบ 1 เดือน จะเกิดเป็นช่องต่างๆ ขึ้นภายในคือ ช่องทรวงอก และช่องท้อง ขณะนี้หลอดที่เป็นหัวในก็จะมีอาการเริ่มเต้นสั่นระริกๆ น้อยๆ ตัวทารกจะเริ่มมีปุ่มออกข้างๆ พอสังเกตุได้ต่อไปจะเป็นมือและเท้า
- เข้าสัปดาห์ที่ 5 เนื้อประสาทที่เกิดขึ้นภายในเจริญเห็นได้ชัด ขณะนี้ทารกจะโตขึ้นประมาณ 1 นิ้ว พอเห็นได้ว่าทางใดเป็นหัว ทางใดเป็นเท้า ทางหัวโตกว่าทางเท้า และลำไส้ภายในยาวตลอดตัว มองเห็นเป็นจุดดำๆ นี้คือลูกตา จะเห็นหลอดนี้อยู่ข้างใน หลังหลอดนี้จะไหวตัวได้เสมอ ต่อไปจะเป็นหัวใจ และจะมีหลอดอีกอันหนึ่งจะเป็นลำไส้ต่อไปด้วย
- ย่างเข้าเดือนที่ 2 เกิดเยื่อบางๆ หุ้มจุดดำทั้งภายนอกและภายในโดยรอบตัว และมีสายสะดือยาวประมาณ 3 นิ้ว เท่ากับตัวทารก มองเห็นมีปาก จมูก หู ตา มือ เท้า งอกเจริญขึ้นเป็นจุดดำๆ รวมทั้งกายโตประมาณเท่าไข่ไก่
- ย่างเข้าเดือนที่ 3 นิ้วมือ นิ้วเท้าเริ่มแยกเป็นนิ้วๆ รวมทั้งตัวโตเท่าไข่ห่าน สายสะดือและตัวยาวเท่ากัน 5 นิ้ว ฟังเสียงที่หน้าท้องมารดาจะได้ยินเสียงหัวในทากรกเต้นเท่ากับครบ 3 เดือน
- ย่างเข้าเดือนที่ 4 อวัยวะในตัวทารกเกิดเกือบพร้อมหมด แต่ตาไม่มี เล็บมือ เล็บเท้าเริ่มงอก ทารกในครรภ์เริ่มดิ้นได้แล้ว ถ้าท้องสาวจะไม่รู้สึก ถ้ามารดาท้อง 2-3 แล้วจะสังเกตุได้ดีในเดือนนี้ สายสะดือและตัวทารกจะยาว 6 นิ้วเท่ากัน
- ย่างเข้าเดือนที่ 5 จะได้ยินเสียงทารกในครรภ์ถนัด นับได้ว่าเต้นนาทีละกี่ครั้ง การฟังเสียงหัวใจทารกต้องฟังที่ใกล้สะดือมารดา รอบๆ สะดือ อวัยวะมีครบบริบูรณ์ เช่น ผมสีดำ ลืมตาหลับตาได้บ้างแล้ว สายสะดือและตัวยาว 9 นิ้ว
- ย่างเข้าเดือนที่ 6 เล็บทารกยังงอกไม่เต็มที่ สายสะดือและตัวยาว 12 นิ้ว เท่ากับตัวทารก ถ้าคลอดในเดือนนี้ บางทีเลี้ยงรอดได้ แต่ต้องใช้ความร้อนเลี้ยงร่างกายให้อบอุ่น ให้เพียงพอเท่ากับอยู่ในครรภ์มารดาจึงจะรอดได้ บางทีคลอดได้เพียง 12 วันก็ตาย เหตุที่ทารกตายเพราะกรดแลคติคในกระเพาะอาหารทารกไม่มี ทำให้ไม่เกิดการย่อยของน้ำนม เมื่อทารกกินนมเข้าไปแล้วเกิดอาการท้องเสียไม่มีสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย เลือดเนื้อในร่างกายทารกเสียหมด หากทารกนี้เลี้ยงรอดต่อไปก็ไม่แข็งแรงมักจะขี้โรค ออดแอด และอ่อนแอ
- ย่างเข้าเดือนที่ 7 ถ้าทารกคลอดเดือนนี้ เลี้ยงรอดได้ แต่ห้ามไม่ให้อาบน้ำเย็น ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นๆ เช็ดตัวทารกให้แห้ง ทาด้วยน้ำมันสกัด หรือน้ำมันมะพร้าวตามตัวทารก เอาผ้าสำลีหุ้มห่อตัวทารกไว้เสมอ เพื่อให้ความอบอุ่นเพียงพอ ควรให้อาหารคือเกลือละลายน้ำพอกร่อยๆ หยดให้กินทีละน้อยๆ 2-3 วันแล้วจึงให้น้ำนมต่อไป
- ย่างเข้าเดือนที่ 8 ทารกจะมีอวัยวะครบทุกอย่าง ถ้าทารกคลอดในเดือนนี้เลี้ยงได้ง่าย ปฎิบัติเช่นเดียวกับเด็กที่เกิดในเดือน 7 ทารกและสายสะดือยาว 16 นิ้ว
- ย่างเข้าเดือนที่ 9 เป็นทารกที่ครบกำหนดคลอด อวัยวะครบถ้วนทุกอย่าง สายสะดือและตัวยาว 17 นิ้ว หัวใจเด็กผู้หญิงเต้น ( 130 – 140 ครั้ง / นาที ) เร็วกว่าเด็กผู้ชาย ( 125 – 130 ครั้ง / นาที ) ฟังจากหน้าท้องมารดา รอบๆสะดือห่างประมาณ 3 นิ้วจะได้ยินเสียงชัด ต่อไปจะเริ่มเจ็บท้องเตือน และเจ็บท้องคลอด
กิริยาทารกในครรภ์
ทารกเมื่ออยู่ในครรภ์ งอตัวอยู่ในมดลูก และลอยอยู่ในน้ำคร่ำ มีสายสะดือติดต่ออยู่กับรกและดิ้นพลิกตัวไปมาได้รอบๆ โดยมีน้ำคร่ำหล่ออยู่ เมื่อทารกโตประมาณ 3 เดือนเศษ ใช้กำลังแขนขา มือ เท้าถีบกระทุ้งตามข้างมดลูก ซึ่งมารดาจะรู้สึกได้ว่าทารกดิ้น หัวใจทารกก็เต้นด้วย ทารกในครรภ์ถ่ายอุจจาระและปัสสาาวะได้บ้าง แต่ไม่มากเหมือนทารกนอกครรภ์
ทารกในครรภ์ ได้รับอาหารจากโลหิตของมารดา ซึ่งมาตามสายสะดือ โดยมีการแลกเปลี่ยนอาหารจากโลหิตแดงของมารดา ไหลเวียนกลับมาบำรุงเลี้ยงทารก สายสะดือสำคัญมาก ถ้าเป็นปม ขอด หรือถ้าทารกกดทับหรือพันที่คอ และพันตามขาหนีบมากเกินไป ทำให้การส่งอาหาารไปมาไม่สะดวก ก็จะทำให้ทารกในครรภ์มีร่างกายไม่สมบูรณ์อาจจะเป็นเด็กอ่อนแอหรือเล็กแคระ บางทีเป็นลูกกรอก ชาวบ้านนับถือเป็นส่ิงศักดิ์สิทธิ์
ครรภ์ผิดปกติ หรือ การตั้งครรภ์ผิดปกติ
การตั้งครรภ์ผิดธรรมดา คือ รกเกาะติดอยู่ที่ปากมดลูก เมื่อเป็นดังนี้ถึงเวลาคลอด รกจะต้องออกมาก่อนจึงทำให้เลือดออกมามาก สตรีผู้คลอดมักตาย
การช่วยเหลือ ต้องรีบผ่าท้องคลอดรกออกและช่วยให้ทารกคลอดโดยเร็ว และช่วยระงับโลหิตแล้วส่งแพทย์ด่วน
ไข่สุกที่ผสมแล้วไปติดอยู่ที่หลอดปากแตร มักเป็นแก่หญิงที่เคยมีบุตรแล้ว ส่วนสตรีสาวนั้นมักไม่ค่อยเป็น เมื่อเป็นเช่นนี้ ถุงหุ้มตัวเด็กจะแตกออก มักทำให้สตรีนั้นเป็นอันตราย แม้ว่าจะรู้สึกว่าการตั้งครรภ์นั้นผิดปกติ ทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น มีระดูหยุดเหมือนตั้งครรภ์ธรรมดา แต่ท้องนั้นไม่โต คือไม่นูนออกมากลางท้อง แต่กลับไปนูนข้างๆ ท้องตามที่ทารกติดอยู่ ถ้าพบเช่นนี้ในระหว่างตั้งครรภ์ 2-4 สัปดาห์ สมควรทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้ทารกตาย ( เป็นหน้าที่ของแพทย์แผนปัจจุบัน ) การทำเช่นนี้บางทีช่วยมารดาได้ เมื่อทารกตายแล้วไม่ต้องวิตกกังวล ในระยะต่อมาจะสลายตัวไปเอง ( ควรพบแพทย์โดยเร็วเมื่อพบอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์เช่นนี้ ) โดยร่างกายมารดาทำการดูดซึมคือสายสะดือจะกลืนหายไปเอง การตั้งครรภ์วิปลาสจะไม่พบบ่อย
โรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
- อาเจียนอย่างรุนแรง หลังอายุครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ อาการคลื่นไส้อาเจียนยังไม่หายไป บางรายอาจเป็นจนกระทั่งคลอด รายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซึม ผิวหนังแห้ง ลิ้นแห้ง ลิ้นเป็นฝ้า ริมฝีปากแห้งแตก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะน้อย สีเข้ม เป็นอาการของภาวะขาดน้ำหรือขาดสารอาหาร
การช่วยเหลือ ควรได้รับการรักษา ตั้งแต่แรกจะได้ผลดีกว่าทอดทิ้งไว้นาน
- โรคพิษแห่งครรภ์ หรือโรคครรภ์เป็นพิษ มักพบหลังอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ไปแล้ว มักเกิดขึ้นในมารดาที่มีครรภ์แฝด เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง หรือมีการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
อาการ ความดันโลหิตสูง เมื่อวัดความดันโลหิตขณะตั้งครรภ์จะวัดได้สูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือความดันเพิ่มจากครั้งก่อนมาก มีอาการบวมมากกว่าปกติ คือบวมที่ขา เท้า มือ ท้อง และหน้า จะสังเกตได้จากการชั่งน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ ถ้าเพิ่มมากกว่าสัปดาห์ละ 1/2 กิโลกรัม ควรสังเกตครั้งต่อไป นอกจากนี้ยังมีอาการปวดหัว ตามัว ตาพร่า หรือมีไข่ขาวในปัสสาวะ หรืออาจมีอาการชักเกิดขึ้นได้
การช่วยเหลือ ต้องแนะนำให้มาตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ หรือเมื่อมีสภาพผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ควรมาพบแพทย์โดยด่วน
- โรคหัวใจ ถ้าเกิดในหญิงตั้งครรภ์จะมีอันตราย เพราะขณะหญิงตั้งครรภ์หัวใจต้องทำงานมากกว่าคนปกติอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าคนที่มีอาการโรคหัวใจมากๆ จะตั้งครรภ์ไม่ได้ แพทย์อาจต้องพิจารณาให้ทำแท้งเพื่อช่วยชีวิตของมารดา และในรายที่ตั้งครรภ์ได้แพทย์จะต้องช่วยเหลือในการคลอดด้วยหรือในระยะครรภ์อาจต้องพักผ่อนหรือได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
การช่วยเหลือ เราสามารถถามอาการจากการตรวจครรภ์ว่า เคยมีอาการเหนื่อยบ่อยๆ หรือไม่ ถ้าพบหญิงเป็นโรคหัวใจ ต้องมาให้แพทย์ตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอและทำคลอดเอง
- ท่อทางเดินปัสสาวะอักเสบ มักเกิดในท้องแรก เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 24 สัปดาห์
อาการ ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณบั้นเอว มีไข้สูง หนาวสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ปัสสาวะขุ่นข้น
การช่วยเหลือ ส่งต่อให้แพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจเกิดกาารติดเชื้ออย่างรุนแรง และอาจแท้งได้
แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 1-3
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 4 การปฎิสนธิ และการตั้งครรภ์
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 5 การคลอดปกติ
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 6 การดูแลมารดาและทารกในระยะหลังคลอด
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 7 การเจริญเติบโตและการดูแลทารก
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ ภาคผนวก ยาสำหรับสตรีและทารก