บทที่ 7 : การเจริญเติบโตและการดูแลทารก
1. การเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา
ใน 2-3 วันแรกหลังคลอด น้ำนมมารดาจะเป็นน้ำใสๆ หรือที่เรียกกันว่า นมน้ำเหลือง นมน้ำใสๆ นี้มีโปรตีนอยู่เท่ากับในโลหิตของมารดา ซึ่งนับว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดและมีประโยชน์สำหรับทารกเกิดใหม่ คือ เมื่อทารกรับประทานนมน้ำเหลืองนี้เข้าไปในกระเพาะอาหารแล้ว กระเพาะอาหารทารกไม่ต้องทำงานหนัก จะซึมเข้าโลหิตทันที โดยไม่ต้องย่อย ต่อมา 3-4 วัน น้ำนมน้ำเหลืองใสๆ จะเปลี่ยนเป็นสีขาวขึ้น ซึ่งเป็นระยะพอดีกับเครื่องย่อยอาหารของทารก ( การปรับตัวของธรรมชาติ ) จะเคยชินทำการย่อยอาหารใหม่ได้เลย และน้ำนมเหลืองนี้เป็นยาถ่ายขี้เทาของทารกได้ดีอีกด้วย
ระยะเวลากาารให้นมมารดา
- 2-3 วันแรกหลังจากคลอดแล้ว ควรให้ทารกรับประทานน้ำต้มสุกอุ่นๆ ให้ทุกๆ 2-3 ชม. ไม่จำเป็นต้องใส่ของหวาน ( เช่น น้ำผึ้ง น้ำตาล ) ลงในน้ำนี้ เพราะร่างกายทารกในระยะนี้ยังไม่มีความต้องการ และจะทำให้ทารกปวดท้องได้ด้วย
- ถ้าใน 2-3 วันแรก มารดายังไม่มีน้ำนมมาเลยไม่ควรให้นมผสมแก่ทารก เพราะในสามวันแรกในลำไส้ของทารกยังอัดแน่นไปด้วยขี้เทา ยังไม่ต้องการอาหารใดๆ ทั้งสิ้นนอกจากน้ำเท่านั้น จนน้ำนมมารดามาแล้วจึงให้กิน
- น้ำนมน้ำเหลืองนี้จะกระตุ้นให้ขี้เทาที่อยู่เต็มในลำไส้ของทารกถ่ายออกมา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทารกจะเริ่มหิวโหยในท้องจะมีลมมาก ทารกจะร้องกวนถ้าทารกมีอาการเช่นนี้ในระยะนี้ อย่าทำการสวนลำไส้ทารก
- หลังจากทารกเกิดได้ 2 วันแล้ว ควรให้ทารกดูดนมมารดาข้างละ 3 นาที จะทำให้น้ำนมออกเร็วขึ้น เมื่อเอาทารกออกจากดูดนมแล้ว ควรให้ทารกรับประทานน้ำสุกสัก 1-2 ช้อนชาเสมอๆ
- วันที่ 3 ให้ทารกดูดนมเพิ่มขึ้นเป็นข้างละ 5 นาที
- วันที่ 4 เพิ่มขึ้นเป็นข้างละ 7 นาที
- วันที่ 5 เพิ่มขึ้นเป็นข้างละ 10 นาที
- ควรให้ดูดนมมารดาเวลาเท่ากันทั้งสองข้าง
- การให้นมทารกควรให้เป็นเวลาห่างกัน 3 ชม. / ครั้ง เช่นมื้อแรก 6.00 มื่อต่อไป 9.00, 12.00, 15.00, และมื้อ 18.00
- ก่อนให้ทารกดูดนม ควรใช้สำลีชุบน้ำสุกอุ่นๆ ล้างบริเวณหัวนมทุกครั้ง เมื่อลูกดูดนมแล้วก็ควรล้างอีกครั้งหนึ่งด้วย แล้วให้ทารกรับประทานน้ำสุก 1-2 ช้อนกาแฟ ทุกครั้งหลังจากดูดนมเพื่อเป็นการล้างปากให้สะอาดด้วย
ประโยชน์ของการให้ทารกดูดนม 3 ชม. / ครั้ง
- ภายในท้องทารกมีเวลาว่างมากขึ้น
- ทารกมีเวลาพักผ่อนนอนมาก
- ทารกมีแรงที่จะดูดนม
- จะเป็นการออกกำลังกายทำให้ขากรรไกรแข็งแรง และยังทำให้น้ำนมมารดามากขึ้นด้วยในเวลากลางคืน ไม่ควรให้ทารกดูดนมตั้งแต่แรกเกิด คือ ในระหว่าง 22.00 – 06.00 น. ถ้าร้องควรให้น้ำสุกอุ่นๆ แทน
- ถ้าทารกนอนไม่หลับอีกก็ควรให้ตอนเวลา 22.00 น. ถ้าทารกหลับก็ให้หลับต่อไปจนกว่าจะตื่นจึงให้ดูดนมครั้งต่อไป
ประโยชน์น้ำนมแม่ต่อทารก
- มีคุณค่าด้านอาหารครบถ้วน กลั่นมาจากเลือดในอกของมารดา ถ้าลูกหิวเมื่อใดแม่จะรู้ถึงความอยากอาหารของลูก คือ น้ำนมจะไหลออกมาเอง
- ด้านจิตใจแม่กับลูก จะมีความผูกพันซึ่งกันและกัน ลูกจะมีความสุขเวลาที่ได้ดูดนมแม่ มีความผูกพัน ดูดดื่ม อบอุ่น ลูกจะมีสุขภาพจิตที่ดี
- ด้านสมอง เวลาลูกกินนม แม่สามารถถ่ายทอดความรัก ความนึกคิดให้ลูกซึมซับได้ รับรู้ความคิด ความห่วงใยซึ่งกันและกัน ทารกที่กินนมแม่จะมีความคิดอ่านและมั่นใจในตนเอง
- น้ำนมแม่ สะอาดกว่าอาหารอื่นใด เมื่อลูกหิวก็ไม่ต้องเตรียมเพราะธรรมชาติสร้างมาให้พร้อมแล้ว
- น้ำนมแม่ เป็นอาหารวิเศษที่ธรรมชาติสร้างมา น้ำนมมารดานั้น จะมีความเข้มข้นขึ้นตามความเจริญวัยของทารก
- น้ำนมมารดา มีขอบเขตจำกัด เช่น เมื่อลูกเจริญวัยขึ้น น้ำนมก็จะลดลง เพราะลูกกินอาหารเองได้แล้ว
- ประโยชน์ของการให้นมแม่แก่ลูกนั้น ยังช่วยยืดเวลาการตั้งครรภ์ คือ เป็นการคุมกำเนิดไปด้วย
- ข้อสำคัญของการให้นมลูก ถ้าแม่มีภารกิจเกิน 3-4 ชม. เมื่อจะให้นมลูก ให้บีบน้ำนมทิ้งก่อนแล้วค่อยคลึงเต้านมให้ทั่ว เพื่อให้ลูกกินนม
นำ้นมมารดาให้โทษแก่ทารก
- แม่ไม่สบาย เป็นไข้
- แม่ที่ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย
- แม่ตั้งครรภ์ มีท้องอ่อน ห้ามลูกกินนม
- ในคัมภีร์ปฐมจินดา ท่านกล่าวไว้ว่า น้ำนมพิการมี 3 จำพวก
- สตรีขัดระดู จำพวกหนึ่ง
- สตรีอยู่ไฟมิได้ จำพวกหนึ่ง
- สตรีมีครรภ์อ่อน จำพวกหนึ่ง
- ถ้าสตรีลักษณะนี้ กุมาารกินน้ำนมเข้าไปดุจบริโภคยาพิษ จะบังเกิดโรคาพยาธิได้

2. การเจริญเติบโตด้านร่างกายของทารกในวัยต่างๆ
ทารกครบกำหนดและสมบูรณ์ที่เกิดมาต้องมีลักษณะดังนี้
- น้ำหนักตัวราว 3,000 กรัมขึ้นไป หากจะต่ำกว่าก็ต้องไม่น้อยกว่า 500 กรัม
- เคลื่อนไหวตัวได้แข็งแรง
- ออกมาแล้ว ร้องเสียงดัง
- ผิวหนังตามตัวหนา
- เล็บมือ เล็บเท้าเป็นปกติ
- ขนตามตัวไม่มี
- ใบหน้าอิ่ม ไม่เหี่ยวย่นเหมือนคนแก่
- ดูดนมได้แรงดี
ทารกไม่ครบกำหนด ไม่สมบูรณ์ คลอดออกมาแล้วมีลักษษณะดังนี้
- น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
- เคลื่อนไหวตัวไม่แข็งแรง
- ร้องเสียงแผ่วเบามาก
- ผิวหนังตัวบางและใส ดุจผิวหนังของลูกหนูที่ออกมาใหม่ๆ
- เล็บมือ เล็บเท้ายาวผิดปกติ
- มีขนตามตัว
- ใบหน้าเหี่ยวย่นเหมือนคนแก่
- ดูดนมไม่แข็งแรง
อาการที่ทารกรับประทานนมมากไป
- อุจจาระบ่อยๆ เกินวันละ 3 ครั้ง ครั้งแรกจะมีสีเหลืองเหนียว ต่อไปจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเหลว และเปลี่ยนเป็นสีเขียว และในที่สุดจะเหลวเป็นน้ำ
- จะอาเจียนและลงท้อง เนื่องจากกระเพาะอาหารอ่อนเพลียไม่มีกำลังที่จะย่อย
- เสียดท้องและมีอาการกระสับกระส่าย ไม่หลับ ไม่นอน ร้องไห้โยเย ซึ่งทำให้มารดาเข้าใจว่าทารกมีอาการหิว จึงให้ดูดนมเข้าไปอีก อาการเลยเป็นมากขึ้น
- น้ำหนักตัวตอนแรกจะเพิ่มขึ้น แต่ต่อมาจะลดลงเป็นลำดับ ซึ่งมักจะทำให้มารดาเข้าใจว่าน้ำนมของตนไม่ถูกกับทารก และพยายามให้ทารกหย่านม
- ทารกมักจะร้อง และในขณะที่เอานมออกจากปาก แม้จะนอนนิ่งๆ ก็อาจร้องเช่นเดียวกัน
- สำหรับรายที่ให้ทารกดูดนมไม่เป็นเวลา คือ เมื่อร้องขึ้นเมื่อใดก็เอานมให้ทารกดูด แสดงว่าให้นมทารกมากเกินไป ควรให้ทารกรับประทานเป็นเวลาทุกๆ 3-4 ชม.
- ถ้าจะให้ทารกดูดนมน้อยนั้น ควรให้มารดาประมาณเวลาดูด ถ้าทารกเคยดูด 8-10 นาที ก็ควรลด ให้ดูดสัก 5-7 นาที ทารกบางคนดูดนมเร็ว 5-7 นาทีก็อิ่มแล้ว
- นอกจากนี้ถ้าอุจจาระมีสีเขียว ควรให้รับประทานน้ำมันละหุ่ง 1 ช้อนชา ถ้าเวลานี้ถึงเวลารับประทานนม ก็ควรให้น้ำสุกไปก่อน เมื่อระบายแล้วจึงให้รับประทานนมต่อไปตามเดิม
ทารกดูดนมน้อยไป มีอาการดังนี้
- มักร้องไห้ทั้งก่อนนอนและหลังเมื่อดูดนมแล้ว
- อุจจาระที่ถ่ายออกมาจะเป็นก้อนเล็กๆ ไม่มากนัก และมีสีน้ำตาลแกมเขียว หรือบางทีมีสีเขียว มีเมือกปนคล้ายเสมหะ
- น้ำหนักตัวไม่เพิ่มเท่าที่ควร ถ้าจะให้ทารกดูดนมมากขึ้น ควรปฎิบัติตามวิธีให้นมมากขึ้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว หรือชั่งน้ำหนักตัวทารกตรวจดูด้วย เพื่อดูว่าน้ำหนักตัวทารกขึ้น หรือลง
การให้อาหารทารกในวัยต่างๆ
- นมหวานไม่ควรให้ทารกรับประทาน เพราะมีน้ำตาลมากเกินไป ทำให้ขาดอาหารเลี้ยงร่างกาย และทำให้ท้องเสียบ่อยๆ ควรให้นมผง จะเป็นชนิดใดควรปรึกษาสูตินารีแพทย์
- ทารก 2 เดือน น้ำส้มคั้นหรือน้ำผลไม้เล็กน้อย
- ทารก 3 เดือน กล้วยน้ำว้าบด หรือกล้วยหักมุกเผาบด
- ทารก 4 เดือน ข้าวบดกับน้ำแกงจืด
- ทารก 5 เดือน ไข่แดงสุก
- ทารก 6-7 เดือน ตับบด ปลา เนื้อหมูสับ ทำให้สุกเพิ่มทีละน้อย ทีละอย่าง ครั้งแรกๆ ควรให้วันละครั้ง และต่อไปเพิ่มเป็น 2-3 ครั้ง / วัน
- ทารก 8-10 เดือน ให้ข้าวและกับวันละ 2 มื้อ ให้ขนมปังบ้าง ตัดเป็นชิ้นๆ ให้เด็กถือกินเอง เพื่อต้องการให้เหงือกและฟันแข็งแรง
- ทารก 1 ปี ให้อาหารและผลไม้อย่างผู้ใหญ่ได้ ยกเว้นอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน วันละ 3 มื้อ
การเจริญเติบโตของทารกปกติ เป็นดังนี้
- 1 เดือน จ้องหน้าคนพูดด้วย และทำปากคล้ายจะพูด
- 2 เดือน ยิ้มได้ ออกเสียงอ้อแอ้ มองตามคนผ่าน
- 3 เดือน ชันคอแข็ง หันมองตามเสียง
- 4 เดือน คว่ำเอง หัวเราะดัง คว้าของและถือได้
- 5 เดือน คว่ำและหงายเองได้ ชอบเอามือดึงเท้า และเอาของเข้าปาก
- 6 เดือน เวลาจับยืนจะเต้นขย่ม นั่งเอง แขนยันพื้นได้
- 7 เดือน นั่งเอง รู้จักเสียงเรียกชื่อตัวเอง พูดได้บางคำที่ไม่มีความหมาย พยางค์เดียวได้
- 8 เดือน คืบได้ จับให้ยืนเกาะได้ พูดคำไม่มีควาามหมาย สองพยางค์ได้
- 9 เดือน คลานได้ โหนตัวเกาะขึ้นยืนเอง หยิบของด้วยหัวแม่มือและนิ้วชี้
- 10 เดือน มือเกาะยืนยกขา ยกมือลา หรือไหว้ได้
- 11 เดือน เดินเกาะราว พูดคำที่มีความหมาย คำเดียว สนใจรูปภาพ
- 12 เดือน ยืนเองได้ จูงมือข้างเดียวเดินได้ ชอบโยนของทิ้ง พูดได้สองสามคำ
- 15 เดือน คลานขึ้นบันไดได้ เดินคล่อง ป้อนอาหารเข้าปากเองได้
- 18 เดือน เกาะราวขึ้นบันไดได้ พูดได้หลายคำ เมื่อปวดปัสสาวะ อุจจาระ จะบอกได้
- 21 เดือน เดินถอยหลังตามอย่างได้ ทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ 2-3 อย่าง
- 24 เดือน ขึ้นลงบันไดได้เอง เตะลูกบอลได้ พูดคล่อง มักไม่ปัสสาวะรดที่นอน

3. อาการและการดูแลรักษาทารกในวัยต่างๆ
โรคสะท้าน ( บาดทะยักในเรือนไฟ )
โรคนี้เป็นเมื่อสายสะดือหลุด และมีเชื้อโรคเข้าไปในแผลสายสะดือ แผลหายแล้วประมาณ 7-8 วัน โรคนี้ก็จะแสดงอาการที่แผลจะอักเสบขึ้นอีก และมีอาการทำให้ขากรรไกรแข็งและชักกระตุกเป็นพักๆ เมื่อเป็นขึ้นแล้วรักษาไม่หาย มียารักษาสงบเพียงชั่วคราวเท่านั้น ต้องตายทุกราย
การดูแลรักษา
ต้องรักษาความสะอาดสายสะดือให้ดี อย่าให้เป็นแผล เน่า หรือเป็นหนอง ในขั้นแรกต้องสะอาดทุกอย่างในการตัดสายสะดือ มือ เชือก ผ้าห่อ การตัด ใส่ยา เปลี่ยนผ้า อย่าให้ถูกน้ำเป็นอันขาดจนกว่าสายสะดือจะหลุดใช้เวลาา 5-7 วัน และอย่าดึงสายสะดือเป็นอันขาาด ต้องปล่อยให้หลุดเอง
โรคทวารตัน
ทารกเกิดใหม่ๆ บางคนจะได้พบทวารตัน แต่นานๆ จึงจะได้พบราย คือ ถ่ายอุจจาระไม่ออก มีช่องทวารหนักมีเยื่อบางๆ เหมือนพังผืดปิดช่องทวารลุกเข้าไปประมาณ 1 นิ้ว ควรนำส่งโรงพยาบาล
อาการปัสสาวะไม่ออก
เมื่อทารกคลอดแล้ว อยู่ในระหว่างเรือนไฟ เกิดปัสสาวะไม่ออก จะเห็นได้จากผ้าาปูที่นอนทารกไม่มีเปียกเลย และบางครั้งทารกจะร้องบ่อยๆ
การดูแลรักษา
- ท้องผูก ให้สวนด้วยน้ำอุ่นๆ ล้างท้องเสียก่อน
- ถ้ายังไม่ออกเอาทารกนั่งแช่ในน้ำอุ่น 1 ชั่วโมง
- ถ้ายังไม่ออก ให้ใช้ยา สบิรทเอเทอร์ไนเตรท ทาบริเวณท้องน้อยตรงกระเพาะปัสสาวะ
- ถ้ายังไม่ออกควรส่งโรงพยาบาล
อาการปวดท้องของทารกในเรือนไฟ
สังเกตุได้จากทารกร้องไห้ไม่หยุด และบางทีเหงื่อออกเท้าเย็นนิ้วมือหงิก และร้องมากเป็นพักๆ บางครั้งร้องกรี๊ดก็มี
การดูแลรักษา
- ต้องเคาะดูที่หน้าท้องทารกว่าท้องขึ้นหรือเปล่า
- ถ้าท้องขึ้นให้เอาโซดาไบคาร์บอเนตผสมกับน้ำอุ่น 1-2 หยด ละลายให้กิน ( ผู้เขียนเห็นว่าเราใช้ไพลสด ฝนกับฝาละมี ละลายน้ำอุ่นหยุดให้ทารกกิน ทาท้องและหยดอกทารก ก็จะบรรเทาอาการท้องขึ้น )
- ถ้ายังไม่หายร้อง ให้กินทิงเจอร์ฝิ่น การบูร 2-3 หยด
- ถ้าท้องผูกให้สวนด้วยน้ำอุ่นๆ และใช้ผ้าพันท้องพันไว้ให้อุ่นเช่น ใช้ใบพลูลนไฟนาบท้องให้อุ่นไว้ หรือใช้มหาหิงค์ทาท้องไว้บ้าง ก็อาจจะหายได้ง่าย
- ถ้าทารกกินนมแม่ ให้แม่ระวังอาหารด้วย อาาหารรสจัดๆ จะส่งผลให้ลูกมีอาการ เพราะอาหารแสลงท้อง
โรคหลอดน้ำดีตันของทารก
มีอาการท้องอืด ตาเหลือง เป็นอย่างนี้สัก 5-6 วัน ถุงน้ำดีแตก มีอาการโลหิตออกทางปาก ทางจมูก ทารกจะเป็นอันตราย
การดูแลรักษา
- เมื่อเห็นทารกมีอาการท้องขึ้น ตัวเหลือง อุจจาระและปัสสาวะเหลือง
- ถ้าท้องผูกให้ล้างท้อง แล้วให้กินโซดาไปคาร์บอเนตละลายน้ำจางๆ แล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นปิดตรงชายโครงด้านขวา ต้องให้ผ้านั้นอุ่นอยู่เสมอ จะใช้ใบพลูหรือใบพลับพลึงพออุ่นๆ ก็ได้
- ถ้าทำอย่างนี้แล้วไม่ทุเลา จะทำให้ถุงน้ำดีแตกภายใน 7 วัน ทารกจะต้องตาย
- การรักษาโรคนี้ไม่หาย แต่ต้องรักษาไปตามอาการ หรือพอตรวจรู้อาาการดังกล่าวควรรีบส่งโรงพยาาบาลทันที เพราะเป็นโรคที่รักษายาก
โรคฝีดาษและโรคหัดของเด็กทารก
- ถ้ามีคนเป็นฝีดาษชุกชุมให้นำทารกปลูกฝี
- ถ้าเป็นหัด หรือมีคนรอบข้างเป็นหัด ให้พาทารกหนีไปอยู่ห่างไกลให้พ้น
- ถ้าที่แห่งใดเป็นโรคฝีดาษ หัด สุกใส อย่าไปทำการคลอดในหมู่บ้านนั้น
- ถ้าจำเป็น ต้องทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ( Amtiseptic ) จนทั่วห้อง รมด้วยกำมะถัน 1-2 วัน ห้ามคนที่เป็นโรคเข้ามาใกล้ เมื่อทำการคลอด เป็นหน้าที่ของผดุงครรภ์ต้องพิจารณาก่อน และสถานที่นั้นต้องมีอากาศปรอดโปร่ง ไม่อบอ้าวอากาศถ่ายเทเข้าออกได้
ภาวะสายสะดือรั่ว
โลหิตรั่วตามสายสะดือ ตรงที่ติดกับสายสะดือรั่วซึมออกมา
การดูแลรักษา
- ต้องใช้ยาฝาด ปิดที่แผลรั่ว หรือใช้สารส้มบดให้ละเอียดโรย แล้วใช้ผ้าาสะอาดปิดทับไว้ให้แน่นพอสมควร
- ถ้าเลือดยังไม่หยุด ให้ใช้น้ำมันวาสลินทา
- ถ้ายังไม่หยุด ให้ใช้มือบีบไว้นานๆ อาจหยุดได้
- ถ้าไม่หยุดต้องเย็บตรงที่โลหิตไหลออก ทารกเป็นโรคชนิดนี้รักษาได้ แต่อยู่ไม่นานมักจะเป็นโรคลำไส้และโลหิตจาง
- ถ้าไม่เข้าใจวิธีรักษา ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน
- ผดุงครรภ์แผนโบราณถ้าไม่เข้าใจอย่าทำเป็นอันขาด ควรพยาบาลให้ขั้นต้นเท่านั้น
- ถ้าเห็นว่าทำไม่ได้ ต้องส่งแพทย์ทันที
โรคไส้เลื่อนทางช่องสะดือ
โดยมากเป็นเพราะสายสะดือหลุด เนื่องจากทารกร้องมากเกินไป เบ่งจนทำให้ไส้นั้นเลื่อนออกมาทางช่องต้นขั้วสะดือ
การดูแลรักษา
- ต้องใช้เครื่องกดทับ แล้วใช้ผ้าขาวยาวปิดกดทับไว้เสมอ อย่าให้ไส้ดันออกได้
- ใช้ผ้าทำเป็นหมอนเล็กๆ ขนาดเท่าสะดือ ใช้ผ้าขาวสะอาดทับไว้สัก 2-3 สัปดาห์ ก็หายได้
- โรคนี้ไม่สู้ยากนัก ถ้าพบเข้าใจคงทำได้

4. การป้องกัน บำบัด รักษาตามบทบาทหน้าที่ผดุงครรภ์ไทย
การสำรอก 7 ครั้ง
- เมื่อรู้ชันคอ เพราะเส้นเอ็นนั้นไหว ทารกจะมีอาการตัวร้อน สำรอกน้ำนม ร้องไห้โยเย
- เมื่อรู้คว่ำ กระดูกสันหลังคลอน ทารกอาจจะมีไข้หรือท้องเดิน
- เมื่อรู้นั่ง กระดูกก้นกบขยายตัว ทารกอาจจะถ่ายเป็นมูกหรือตัวอุ่น ท้องอืด
- เมื่อรู้คลาน ตะโพกและเข่าเคลื่อน ทุกครั้งที่ทารกเปลี่ยนอิริยาบถจะมีอาการ
- เมื่อดอกไม้ขึ้น ( ฟันขึ้น )
- เมื่อรู้ยืน เพราะว่ากระดูก 300 ท่อนนั้นสะเทือน และเส้นเอ็นกระจายสิ้น สำรอกกลาง
- เมื่อรู้ยืน รู้ย่าง เพราะว่า ไส้ พุง ตับ ปอด นั้นคลอน สำรอกใหญ่
การดูแลทารกในวัยต่างๆ ยากันสำรอก บดทำแท่งละลายน้ำกิน
- 1 เดือน ใบกระเพรา ใบเสนียด ใบตานหม่อน บอระเพ็ด
- 2 เดือน ใบคนทีสอ ใบสะเดา ใบผักของ ใบขอบชะนางแดง บอระเพ็ด
- 3 เดือน ใบสวาด ใบขอบชะนางขาว ใบกระพังโหม บอระเพ็ด
- 4 เดือน ผักกระเฉด ใบทับทิม ใบตานหม่อน ใบเสนียด บอระเด็ด
- 5 เดือน ใบผักคราด ใบหญ้าใต้ใบ ใบกระทืบยอด ใบกระพังโหม บอระเพ็ด
- 6 เดือน ใบฝ้ายแดง ใบกระทุ่มนา ใบขอบชะนางแดง ใบหนาด บดทำแท่ง
- 7 เดือน ใบนมพิจิตร ใบมะกล่ำเครือ ใบสมอพิเภก ขมิ้นอ้อย บอระเพ็ด
- 8 เดือน ใบมะเดื่อ ใบพิมเสน ไพล ขมิ้นอ้อย
- 9 เดือน มะขวิดอ่อน ใบสะแด ไพล ขมิ้นอ้อย บอระเพ็ด
- 10 เดือน ใบคนทีสอ ใบคนทีเสมา ขมิ้นอ้อย
- 11 เดือน ใบเสนียด ใบผักคราด ใบปีป ใบระงับ ใบขี้กาแดง ใบขี้กาขาว ใบโครกกระออม ใบขี้เหล็ก ใบสะเดา ไพล กะทือ ตรีกฎก
- 12 เดือน เทียนย้อม 1 กำมือ ขมิ้นอ้อย บอระเพ็ด ใบมะคำไก่ ใบหนาด ใบคนทีสอ ตรีกฎก ไพล ขิง การบูร เม็ดผักกาด กระเทียม หอม สารส้ม ดินประสิว
การให้ยาทารกในวัยต่างๆ
- ยากวาดแรกเกิด ทารกตกฟากแล้วเอามูกเมือกออกจากปากหมดแล้ว ให้เอาขี้แมลงสาบคั่วไฟพอควร ใบสะระแหน่ 3 ใบ บดกับน้ำผึ้งป้ายปากทารกที่เกิดใหม่
- ยาประจำท้องทารก แรกคลอดถึง 1 ขวบ ผิวมะกรูด 1 บาท ไพล 1 บาท เจตพังคี 1 บาท ว่าานน้ำ 1 บาท บอระเพ็ด 1 บาท มหาหิงค์ 1 สลึง หั่นให้ละเอียด คั่วไฟให้เกรียม บดเป็นผงละลายน้ำป้ายลิ้นทารก แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ระบายลม รักษาธาตุดี
- ยากวาดทารกแก้สะพั้น ใบลานเผาไฟ ละลายกับน้ำผึ้งป้ายปากทารก แก้สะพั้น เด็กอ่อนภายใน 7 วัน
- ยากวาดล้างขี้เทา พิมเสน 1 เฟื้อง น้ำประสานทองสะตุ 2 สลึง ขี้แมลงสาบคั่ว 2 สลึง หางปลาช่อนแห้งเผา 3 หาง เมล็ดมะกอกสุก 3 เมล็ด หมึกหอมแท่งเล็ก 1 แท่ง ทองคำเปลวแผ่นใหญ่ 8 แผ่น ชะมดปรุงพอสมควร บดด้วยน้ำสุกกวาดทารกเพิ่งคลอด ถ่ายล้างขี้เทาใช้ 1-2 ครั้งก็ได้ เพื่อล้างโทษลามกมิให้กระทำพิษ
- ยาแก้ซางให้หอบ ให้ชัก ไพล ใบผักคราดหัวแหวน ใบพิมเสน สิ่งละ 1 กำมือ น้ำประสานทองสะตุ 1 เฟื้องบดทำยาผงเป็นเม็ด กวาดกับน้ำนมหรือน้ำสุด แทรกขันฑสกรนิดหน่อย
- ถ้าชักน้ำกระสายยาสุรา แก้ทารกร้องไห้ 3. เดือน หัวหอม 1 เปราะหอม 1 ใบให้ละเอียดเท่าๆกัน แทรกพิมเสนทาตัวเวลากลางคืนดีนักแล
ศิลปะการกวาดยา
- พระคัมภีร์ปฐมจินดา ผู้ป่วยที่จะกวาดยาจะกระทำตอนพระอาทิตย์ตกในตอนเย็น แต่ในปัจจุบันกวาดได้ตลอดทั้งวัน
- ต้องเตรียมยา และอุปกรณ์การกวาดยา ครกบดยาเล็ก น้ำกระสายยา เหล้าขาว น้ำสุก เกลือ มะนาว ผ้าขาวสะอาดเช็ดมือ 1 ผืน
- ผู้ที่จะกวาดยาจะใช้นิ้วชี้กวาดยา ให้กวาดไปที่โคนลิ้น กวาดไปทางเดียวไม่กวาดกลับไปมา ถ้ากวาดเด็ดทารกใช้นิ้วก้อยได้ เด็กทารกยังไม่ถึงเดือนจะไม่ใช้น้ำกระสายจำพวกสุรา
- เด็กทารกไม่สบายจะเรียกว่าเป็นซางต่างๆ ส่วนมากที่ไม่สบายกันมาก เช่น ลิ้นเป็นฝ้า เป็นละออง เป็นซางขุม เป็นหละ ท้องขึ้น ท้องเสีย ต่อมโต ( ต่อมทอมซิลอักเสบ ) เป็นแผลร้อนใน ไอ ท้องผูก เป็นต้น
- สามารถใช้ยาสามัญประจำบ้านได้ ถ้ามีควาามชำนาญ ( เภสัชกรรมแผนโบราณทั่วไป และเวชกรรมแผนโบราณทั่วไป )
- เมื่อรักษาคนไข้ไม่ได้ หรือไม่หายภายใน 4-7 วัน ต้องรีบส่งต่อหรือแนะนำให้ไปโรงพยาบาลโดยด่วน ไม่เก็บไว้รักษาเอง
แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 1-3
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 4 การปฎิสนธิ และการตั้งครรภ์
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 5 การคลอดปกติ
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 6 การดูแลมารดาและทารกในระยะหลังคลอด
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 7 การเจริญเติบโตและการดูแลทารก
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ ภาคผนวก ยาสำหรับสตรีและทารก