บทที่ 5 : การคลอดปกติ
1. อาการที่แสดงการคลอดบุตร
ก่อนถึงกำหนดคลอด 2-3 วัน เต้านมจะแข็งคัด ปากช่องคลอดบวม ท้องลดต่ำลง ท้องกลมแข็ง เหตุการณ์เหล่านี้คือ มดลูกขยายตัวให้ทารกรู้จักทางออก ทารกจะกลับตัวเอาหัวลงมาจ่อตรงปากมดลูก ตอนนี้จะเป็นเหน็บชาที่เท้า บางทีทำให้อาการบวมตามขา เลือดลมคั่ง เพราะมดลูกมากดทับเส้นโลหิตใหญ่ ถ้ามารดาที่ใจเสาะมักจะขอร้องให้ผดุงครรภ์ช่วยฝืนท้องให้
- ถ้าผดุงครรภ์รู้เท่าไม่ถึงการณ์และช่วยฝืนผลักดันเป็นการใหญ่ ทำให้เป็นการติดขัดต่อไปได้ เพราะการฝืนท้องนี้เท่ากับฝืนธรรมชาติ ( ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ( ฉบับที่ 3 ) และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หมวดที่ 3 ข้อ 20 มีข้อความว่า มิให้ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณทั่วไป สาขาการผดุงครรภ์ กระทำกาารข่มท้อง หรือตรวจภายในช่องคลอด จึงมิควรปฎิบัติเพราะจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายในการประกอบโรคศิลปะ )
- ตามปกติมดลูกจะทำหน้าที่ของตัวเองคือ ขยับขยายบีบรัด ให้ศรีษะของทารกมาอยู่ที่ปากช่องคลอด เพื่อให้ดันปากมดลูกขยายตัวในวันคลอด หรือก่อนหน้าสัก 1 วัน เมื่อปากมดลูกแย้มออกมาบ้างแล้ว ศรีษะทารกก็จะดันให้ปากมดลูกเปิด ตอนนี้ถ้ามารดาใจเสาะมักจะขอร้องให้ผดุงครรภ์ฝืนท้องให้ผดุงครรภ์ฝืนท้อง และคัดมดลูกให้หมดที่ไม่เข้าใจ ก็จะฝืนคัดเป็นกาารใหญ่เลยทำให้เกิดการติดขัด จึงไม่ควรทำ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมดลูกเองจะดีกว่า ในขณะที่กำลังปวดมาก แม้จะข่มสักเท่าใด เมื่อปากมดลูกยังไม่เปิดก็จะออกมาไม่ได้เป็นอันขาด ( ตอนนี้จงจำไว้ให้ดี )
- เมื่อมีการข่มท้องก่อนเวลา ศรีษะทารกมักจะกดทับขื่อ ( กระดูกเชิงกราน ) จนเป็นรอยบุ๋ม พอได้เวลามดลูกบีบรัดตัวเร่งให้ทารกเปิดปากมดลูก ทารกมักจะเลื่อนลงไปที่รอยบุ๋มตามเดิมเพราะหัวทารกกดไว้จนเป็นรอยบุ๋มเสียแล้ว ทารกจะขยับออกจากทางออกเป็นการยาก จึงมีการติดขัดเช่นนี้ เป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผดุงครรภ์ จึงไม่ควรทำและมักมีหญิงคลอดบุตร บางรายถึงแก่ความตาย
กาารตรวจปากมดลูก
ต้องตัดเล็บสั้นชิดเนื้อ ล้างมือฟอกสบู่ด้วยแปรงหรือฟองน้ำ ล้างตามซอกนิ้วมือและซอกจมูกเล็บ ล้างจนถึงข้อศอก เสร็จแล้วยกมือชูไว้จนแห้งแล้วใช้วาสลินทาตามนิ้วมือ ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางเหยียดตรง ส่วนนิ้วนางกับนิ้วก้อยและนิ้วหัวแม่มือให้พับงอเข้าไว้ในอุ้งกลางใจมือแล้วค่อยๆ สอดสองนิ้วเข้าทางช่องคลอด จะทำให้รู้เวลาคลอดดังนี้
- ปากมดลูกเปิดเท่าเหรียญสลึง จะต้องรอต่อไปอีก 2 ชม. แล้วทำการตรวจใหม่ระยะนี้ยังไม่คลอด
- ปากมดลูกเปิดเท่าเหรียญบาท ต่อไปตรวจทุกๆ ชั่วโมง
- ปากมดลูกเปิดกว้างถึง 3 นิ้ว แสดงว่าจะคลอดในชั่วโมงนี้ แต่จะเอาแน่นอนนักยังไม่ได้ เพราะถ้าเป็นท้องสาวจะต้องรอไปอีก 2 ชม. เมื่อปากมดลูกเปิดกว้าง 3 นิ้ว น้ำทูนหัวจะไหลออกหมด มดลูกจะบีบรัดตัวเด็กทารกด้านข้างขึ้น ทำให้เป็นการช่วยเร่งทารกคลอดออกเร็ว แต่มารดาจะรู้สึกเจ็บปวดมาก มีลมเบ่ง ตอนนี้พอเห็นว่าปากมดลูกเปิดกว้างเต็มที่แล้ว ต้องช่วยตรวจช่องทางทารกว่าอยู่ในท่าที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกท่าจะออกได้แล้ว ผดุงครรภ์ช่วยบอกจังหวะให้มารดาออกแรงเบ่งให้ถูกต้อง ตามธรรมดาถ้าทารกมีการติดขัดภายในช่องทางคลอด ปล่อยไว้เฉยๆ มดลูกก็จะทำหน้าที่ขยับให้ทารกถูกท่าจนออกได้

2. อุปกรณ์การทำคลอด
- ผ้ากันเปื้อน 1 ผืน
- ผ้าพลาสติกปูรองคลอด 1 ผืน
- ผ้าเช็ดมือ 2 ผืน
- หมวกคลุมผม 1 ใบ
- กรรไกรปลายป้านสำหรับตัดสายสะดือ 1 อัน
- ลูกโป่งยางสำหรับสวนอุจจาระ 1 อัน
- ลูกโป่งยางสำหรับดูดเลือด 1 อัน
- ชามกลม 2 ใบ
- ชามรูปไต 1 ใบ
- เชือกผูกสะดือ ผ้าห่อสะดือ 1 ห่อ
- แปรงล้างมือ 1 อัน
- คีมคีบเครื่องมือต้ม 1 อัน
- สบู่ และกล่องสบู่ 1 ชุด
- แอลกอฮอล์ 1 ขวด
- ทิงเจอร์ไอโอดีน 50 cc 1 ขวด
- ยาหยอดตา หรือ ขี้ผึ้งปฎิชีวนะป้ายตาเด็ก 1 ขวด หรือ หลอด
- แอมโมเนีย
- มีดโกนหนวด หรือ มีดโกน 1 เล่ม
- ด่างทับทิม 1 ตลับ
- สำลี
- ผ้าอนามัย

3. วิธีการคลอดปกติและการดูแลขณะคลอด
การที่เด็กอยู่ในท่าศรีษะตรงปากมดลูก จะเป็นคว่ำหรือหงายก็ได้ การคลอดจะดำเนินไปได้เองโดยไม่มีการติดขัด จริงอยู่การคลอดอาจมีเหตุผิดปกติในระยะต่อมา สาเหตุที่ทำให้ศรีษะทารกไม่สามารถจะผ่านออกมาได้ อาจเพราะติดกระเพาะปัสสาวะและอุจจาระ ซึ่งปิดขวางทางช่องคลอด หรือดันปากมดลูกหมุนเปลี่ยนท่าไป ทำให้ศรีษะไม่หมุนไม่เลื่อนต่ำลงมา มดลูกหดรัดตัวนานจนเหนื่อยอ่อนกำลังลง และหมดแรงหดรัดตัวอาจทำให้การคลอดปกติก็มีความลำบากอยู่บ้าง เกิดขึ้นได้ในกรณีต่อไปนี้เช่น ในระยะครรภ์แรก ( ท้องสาว ) ก็ย่อมต้องใช้เวลาคลอดนานกว่ารายที่เคยคลอดมาแล้ว อายุของผู้คลอด ก็ทำให้การคลอดติดขัดได้เหมือนกัน ทำให้การคลอดผิดปกติ และเวลาคลอดจะช้าหรือเร็วก็ได้ เช่น ผู้คลอดอายุ 30 ปีขึ้นไปและเป็นครรภ์แรกมักจะประสบกับการคลอดลำบากเป็นส่วนมาก
3.1 การดูแลด้านจิตใจแก่หญิงตั้งครรภ์ขณะรอคลอด
สภาพจิตใจของหญิงขณะรอคลอด ให้พิจารณาอารมณ์ของหญิงขณะคลอด มีผลต่อปฎิกิริยาของกระบวนการในการคลอดเพราะความรู้สึกไม่สบาาย เป็นสาเหตุให้สภาพร่างกายและจิตใจนั้นอ่อนเพลียทำให้ระยะเวลาคลอดนั้นยาวนานขึ้น
การกลัวการคลอด เมื่อการคลอดเริ่มขึ้น จะมีอารมณ์เกิดขึ้นหลากหลายแตกต่างกันไป ในรายที่เป็นครรภ์แรก มารดาอาจดีใจที่การคลอดกำลังจะเกิดขึ้นหลังจากรอคอยมานาน แต่ขณะเดียวกันจะมีอารมณ์ตรงข้าม คือ กลัวการคลอด และผลที่จะเกิดขึ้นซึ่งไม่แน่นอน เช่น กลัวเครื่องมือ กลัวเจ้าหน้าที่หรือกลัวอนาคต เช่น รายที่จะต้องคลอดบุตรที่ไม่มีบิดาหรือเมื่อสภาพครอบครัวยังไม่พร้อมจะมีบุตรเป็นต้น
การตอบสนองด้านอารมณ์ ความกลัวและการเจ็บครรภ์ มีผลต่อความเชื่อมั่นของมารดา เราควรให้มารดารู้สึกปลอดภัย และให้คลอดโดยไม่มีการทำร้ายทางด้านอารมณ์ เราควรจะชี้แจงและอยู่เป็นเพื่อน จะช่วยให้มารดาสนองตอบความต้องกาารด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ที่จะเกิดความเชื่อมั่น และมีความกลัวลดลง
ความต้องการเพื่อน ควาามรู้สึกโดดเดี่ยวทำให้เกิดการกลัว การอยู่เป็นเพื่อน ให้ความสะดวกสบาย รับฟัง อธิบาย พูดคุย ให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจ หรือเงียบในบางครั้ง เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งสำหรับมารดาในช่วงนี้ หญิงช่วงก่อนคลอดนี้ต้องการการเอาใจ ต้องการรับฟังคำพูดที่ไพเราะ การนวดตามร่างกายเบาๆ เป็นการทำให้ผู้คลอดเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจได้ดียิ่งขึ้น
3.2 วิธีการคลอดบุตร
- พวกที่ 1 เด็กอยู่ในครรภ์เมื่อครบกำหนดก็คลอดเองได้ตามปกติ
- พวกที่ 2 คลอดเมื่อครรภ์แก่เกินกำหนด 1-2 เดือนหรือทารกตัวโตมาก ทำให้ไม่สามารถคลอดเองได้ตามปกติได้ หรืออาจเรียกได้ว่า คลอดผิดธรรมดา
- พวกที่ 3 คลอดโดยใช้เครื่องมือช่วย หรือมีวิธีช่วยให้คลอดได้ เช่น การใช้เครื่องสูญญากาศดูด หรือการใช้คีมคีบ เป็นต้น ซึ่งวิธีการเหล่านี้ผู้ที่กระทำได้คือแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น ผดุงครรภ์แผนโบราณ จะใช้เครื่องมือช่วยทำคลอดนี้ไม่ได้ ถ้ามีการติดขัดของการคลอดต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
3.3 การเจ็บท้อง
การเจ็บท้อง คือ การที่กล้ามเนื้อของมดลูกหดรัดตัวเล็กลง การหดรัดตัวนี้เกิดขึ้นเป็นระยะครั้งหนึ่งๆ ประมาณ 0.5 นาที – 1.5 นาที แล้วมีการพัก ในระยะนี้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว แล้วมดลูกจะหดรัดตัวอีกในขณะที่มดลูกหดรัดตัวนี้ สิ่งที่อยู่ในโพรงมดลูก คือ ทารกจะถูกผลักดันให้ออกไปตามทางที่เปิดอยู่ คือ ปากมดลูก ดังนั้น ทารกขึงถูกดันให้ออกมาพ้นโพรงมดลูกได้ การเจ็บท้องมีอยู่หลายชนิดดังต่อไปนี้
- การเจ็บท้องเตือน เกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดใกล้จะคลอด เกิดขึ้นเนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูกบ่อยครั้ง แต่การหดรัดตัวของมดลูกไม่มีกำหนดระยะแน่นอน แต่เป็นประโยชน์คือทำให้ศรีษะทารกหมุนเลื่อนต่ำลงมา และลำตัวของทารกอยู่ในลักษณะตามยาว เพื่อหัวของทารกจะได้เข้าไปในช่องเชิงกรานได้โดยตลอด การเจ็บท้องเช่นนี้ ตามธรรมดาไม่รู้สึกเจ็บปวดมาก เป็นแต่เพียงรู้สึกท้องแข็งบ่อยกว่าปกติและมักมีอาการเมื่อยหลัง หรือที่กระเบนเหน็บ เพราะตัวทารกลดต่ำลงมา ทำให้กระดูกสันหลังบริเวณช่วงเอวมีการโค้งไปด้านหน้ามากขึ้น การเจ็บท้องเตือนมักจะเกิดขึ้น 2-3 วันก่อนคลอด ในบางรายอาจเกิดขึ้นหนึ่งสัปดาห์ก่อนคลอด หรือบางทีเจ็บท้องเตือนแล้วเจ็บท้องคลอดเลยก็มี การเจ็บท้องเตือนมีประโยชน์คือ ทำให้ผู้คลอดได้ทราบว่า จวนจะถึงกำหนดคลอดแล้ว จะได้มีเวลาเตรียมตัว ไม่เดินทางไกล เพื่อจะได้มีการระมัดระวังมากขึ้น
- การเจ็บท้องคลอด คือ การเจ็บท้องโดยที่มดลูกหดรัดตัวแรงกว่าเดิม และมีเป็นระยะ เป็นกำหนดแน่นอน ขั้นแรก เจ็บประมาณ 1 นาที และมีระยะพักหายใจประมาณครึ่งชั่วโมงเป็นเช่นนี้สัก 5-6 ครั้ง ระยะพัก คือ ระยะที่มดลูกคลายตัวจะค่อยๆสั้นๆ ลงๆ ตามลำดับ ขณะที่เจ็บท้อง ผู้คลอดจะรู้สึกว่าท้องแข็ง ปวดบริเวณท้องน้อย บริเวณกระเบนเหน็บ หลัง และโคนขา การเจ็บท้องคลอดแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะมดลูกเบ่งและเปิด ระยะทารกออกจากช่องคลอดพ้นออกมาจากตัวมารดา ( ตกฟาก ) และระยะคลอดรก
- การเจ็บท้องหลังคลอด คือ การหดรัดตัวของมดลูกระยะหลังคลอด ในระยะนี้ไม่มีอะไรเหลือค้างในมดลูก มดลูกเลยรัดตัวอยู่ตลอดเวลา บางทีก็มีอาการคลายตัวบ้างนานๆ ครั้ง และหดรัดตัวขึ้นอีก ดังนั้นจึงมีความรู้สึกท้องแข็ง และปวดเป็นครั้งคราว แต่ไม่บ่อยนัก และมักจะรู้สึกมากขึ้นขณะบุตรดูดนม เพราะการดูดนมของทารกจะเป็นการกระตุ้นให้มดลูกของมารดาหดรัดตัวแรงขึ้นเพราะมีเส้นประสาทติดต่อกัน
3.4 กาารเบ่ง
การที่ผู้คลอดรู้สึกอยากเบ่ง เป็นการใช้กำลังกล้ามเนื้อหลังและกระบังลม ซึ่งจะหดรัดตัวอย่างแรงทำให้กล้ามเนื้อภายในช่องท้องเล็กลง ความกดดันภายในช่องท้องมากขึ้น กำลังความกดดันนี้ มีพลังต่อมดลูกโดยตรง ช่วยให้มดลูกมีกำลังหดตัวรัดตัวแรงเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ความรู้สึกอยากเบ่งนี้ เป็นความรู้สึกที่รุนแรงและอดกลั้นไม่ได้ การเบ่งชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อปากมดลูกเปิดแล้ว ถ้าไม่มีอะไรกีดขวางช่องทางคลอดอีก ทารกก็จะผ่านออกมาได้สะดวก
3.5 ช่องทางคลอด
อวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งประกอบด้วยกระดูกเชิงกรานและเนื้อเยื่ออ่อนที่บุเชิงกรานอยู่ เป็นทางซึ่งเมื่อเด็กถูกผลักดันออกมาจากโพรงมดลูก จะผ่านลงมาตามช่องทางนี้จนพ้นปากช่องคลอด
- ทางคลอดเริ่มต้นตั้งแต่รูปากมดลูก จนกระทั่งถึงปากช่องคลอด ส่วนที่เป็นกระดูกของทางช่องคลอดนั้นเมื่อไม่มีครรภ์จะทรงตัวอยู่มั่นคง แต่เมื่อมีการตั้งครรภ์อาจจะขยายออกได้บ้างเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ทารกคลอด ทั้งนี้ผิดกับเยื่อและเนื้ออ่อนซึ่งมีการยืดหยุ่นได้มากและขยายตัวออกเป็นช่วงกว้างเพื่อให้เด็กผ่านออกมาได้ แต่ก็มีเขตจำกัดเพียงแค่ความกว้างของกระดูกที่ล้อมอยู่ภายนอก การคลอดที่จะผ่านทางนี้ ซึ่งแม้จะมีความยืดหยุ่นได้ ก็มีความต้านทานมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยกำลังคลอดทำการช่วยผลักดันทารก มิใช่ทารกจะเคลื่อนออกมาได้เองตามลำพัง
3.6 กำลังการคลอด
กำลังผลักดัน ที่จะทำให้ทารกออกจากโพรงและเคลื่อนลงมาตามช่องคลอด เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้เกิดการผลักดันต่อทารกโดยตรง ผลที่ได้จากการผลักดันทางอ้อมจากการที่มารดาออกกำลังเบ่ง โดยบังคับการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อหลัง และกระบังลม ทำให้เนื้อในช่องท้องน้อยเล็กลง เกิดความดันภายในช่องท้องมากขึ้น การคลอดต้องอาศัยกำลังของการเจ็บท้องคลอดและการเบ่ง
3.7 ร่างของทารก
ในการคลอดทารกไม่มีการช่วยเหลือตัวเองในการคลอด เป็นการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ขณะที่อยู่ในครรภ์ เด็กมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนเป็นท่าทางต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ในระยะคลอดความกดดันของการหดรัดตัวของมดลูกบังคับให้อยู่ในทางทรงคว่ำ แต่ในตอนหลังของการเกิด ศรีษะกลับถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงเป็นทรงหงาย
ร่างกายของทารกและมารดาต้องมีขนาดเหมาะสม เช่น ไม่ใหญ่จนเกินไป และอยู่ในลักษณะเหมาะสมคือ ทารกต้องงอศรีษะอยู่เบื้องล่างและทรงคว่ำ แขน ขา งอพับกับทรวงอก นอกนั้นการผ่านของทารกมาตามช่องคลอดนั้น จะติดขัดหรือสะดวกก็ต้องแล้วแต่กาารเปลี่ยนทรง และการหมุนศรีษะ หมุนไหล่ เป็นไปตามความเหมาะสมของช่องคลอด
3.8 อาการของมาารดาเมื่อทารกจะคลอด
- มดลูกจะบีบหดรัดตัวทารกเพื่อให้ทารกเคลื่อนออกมา ศรีษะทารกก็จะหันกลับลงทุกทีประมาณ 3-4 วัน ศรีษะทารกนั้นจะเคลื่อนมาอยู่ที่ปากมดลูก เวลานี้มารดาจะรู้สึกว่าท้องลด ( ทารกกลับตัวแล้วศรีษะมาอยู่ที่อุ้งเชิงกราน )
- เมื่อศรีษะทารกมาถึงปากมดลูกแล้ว ก็จะดันปากมดลูกให้แย้มออก เมือกหรือเสมหะที่จุกอยู่ในปากมดลูกก็จะหลุดออกมาตามช่องคลอด โดยมีโลหิตเจือปนออกมาด้วย แสดงว่าปากมดลูกขยายเปิดตัว ถ้าเป็นครรภ์ปกติภายใน 24 ชม. ทารกจะคลอดออกมาเอง ในช่วงนี้มารดาจะรู้สึกเจ็บท้องและปวดตามกระเบนเหน็บ หน้าขาและหัวเหน่า บางทีเท้าเริ่มบวม
- ถ้ามีการเจ็บครรภ์ถี่ขึ้นเป็นพักๆ แสดงว่า มดลูกเริ่มทำงานแล้ว และยิ่งเจ็บทวีมากขึ้นและถี่เข้าๆ เริ่มมีลมเบ่ง ครรภ์ยิ่งกลมเข้า เวลาเจ็บขึ้นมาท้องจะแข็งและเจ็บครรภ์ร้าวไปทั้งตัว กับมีอาการปวดอยากอุจจาระ ปัสสาวะด้วย
- เมื่อมดลูกขยายตัวเปิดออกมาบ้างแล้ว น้ำคร่ำก็จะดันถุงน้ำคร่ำตุงออกมาถ่างปากมดลูกให้ขยายตัวออก มดลูกก็จะยิ่งบีบรัดตัวมากขึ้น และน้ำคร่ำก็จะยิ่งดันมดลูกออกมา ปากมดลูกจะถูกขยายโตขึ้นทุกทีจนกว่าทารกจะสามารถคลอดออกมาได้ โดยผ่านมดลูกและกระดูกเชิงกราน ทารกจะคลอดออกมาทันทีนี่เป็นอาการธรรมดาของการออกลูกหรือคลอดบุตร
- ลมเบ่งเกิดขึ้นจากการที่มดลูกหดตัว บีบรัดให้ทารกออก เมื่อเบ่งหนักๆ เข้า ถุงน้ำคร่ำก็ไหลออกมาเมื่อน้ำคร่ำออกมาแล้ว มดลูกก็จะเหี่ยวเล็กลง ยิ่งเหี่ยวเล็กเท่าใด ก็ยิ่งบีบทารกหนักเข้า ทารกที่มีร่างกายธรรมดาก็คลอดออกมาได้สะดวก
- ส่วนน้ำคร่ำมีประโยชน์ทำให้เกิดการหล่อลื่น ทารกก็คลอดผ่านออกมาได้ตามปกติ ธรรมชาติของการคลอดทั่วๆ ไประยะนี้ผดุงครรภ์ต้องช่วยประคับประคองตรวจอาการของมารดาหรือรับทารกออกมาทารกที่ออกมานั้นมิได้ออกมาแรงๆ แต่ได้หมุนตัวออกมาตามรูป หรือ ช่องทางของอุ้งเชิงกรานจนกว่าจะตกฟาก เพราะฉะนั้นแพทย์หรือผดุงครรภ์จะต้องช่วยในตอนนี้ เมื่อมีลมเบ่ง ต้องประคองศรีษะและช่วยรับตัวทารก หรือหมุนศรีษะทารกให้พอดีกับช่องเชิงกราน
3.9 กระบวนการของการคลอด
การคลอดจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยต้องอาศัยความเหมาะสมของ ช่องคลอด กำลังการคลอด และร่างกายของเด็ก เช่น ร่างของทารกโตกว่าขนาดของช่องคลอด ก็จะเกิดติดขัด หรือร่างกายของทารกมีขนาดพอดีแต่ช่องคลอดของมารดาเล็กมากกว่าธรรมดา หรือบิด เบี้ยว ไม่เหมาะสม การคลอดก็จะติดขัด หรือร่างกายของทารกกับช่องคลอดพอดีเหมาะสม แต่กำลังการคลอดไม่พอดี หรือมดลูกไม่มีกำลังหดรัดตัว หรือผู้คลอดไม่มีกำลังเบ่ง การคลอดต้องเสียเวลานาน หรือติดขัดได้ เวลาที่ใช้คลอดจะช้าหรือเร็ว ต้องอาศัยควาามเหมาะสมทั้ง 3 ประการ การคลอดแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้
- ระยะที่ 1 ระยะปากมดลูกเปิด ตั้งแต่มารดาเจ็บครรภ์จนปากมดลูกเปิดพอดีกับศรีษะทารก ทารกก็จะออกมาได้โดยสะดวก ( ออกจากปากมดลูก ) เป็นระยะปากมดลูกเปิด หรือส่วนล่างของมดลูกหรือคอมดลูกขยาย ถ่างออกเต็มที่ ส่วนคอมดลูกซึ่งเมื่อแรกยังเป็นขอบอยู่นั้นจะค่อยๆ ถูกดึงขึ้น ขอบจึงบางและในที่สุดขอบจะไม่เหลือเลยปากมดลูกจึงเปิดหมด เป็นช่องทางคลอดออกมาได้ ในขณะที่คอมดลูกเปิดนี้ หากใช้นิ้วคลำดูจะพบว่าที่ปากมดลูกมีรูใช้นิ้วสอดเข้าไปได้ และรอบรูจะเป็นสันแข็ง รูปที่ปากมดลูกนี้จะมีถุงยางจุกอยู่ เมื่อเอามือกดถุงนี้ จะรู้สึกว่าหยุ่นๆ และมีน้ำในถุง เรียกว่า ” ถุงน้ำทูนหัวหรือถุงน้ำคร่ำ “
- ระยะที่ 2 ระยะเบ่ง ตั้งแต่ทารกออกจากปากมดลูกมา จนกระทั่งตกฟาก หรือพ้นร่างกายของมารดา ( พ้นช่องคลอด ) ระยะนี้เป็นระยะเบ่ง เริ่มต้นเมื่อปากมดลูกเปิดหมดและกลไกการคลอดของทารกจะเริ่มต้นขึ้นจนกระทั่งเด็กออกมาจากมดลูกมาอยู่ที่ช่องคลอด ซึ่งขณะเดียวกันมดลูกก็เริ่มยืดขยายตัวออก เพื่อให้ศรีษะเด็กผ่านลงมา การผลักดันให้เด็กเคลื่อนลงมานั้น กระทำโดยมดลูกและอาศัยกำลังของกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งบังคับใช้งานโดยผู้คลอดเอง จะสังเกตเห็นเหตุการณ์ที่ปรากฎของการเบ่งดังนี้คือ ผู้คลอดเริ่มต้นด้วยการหายในอย่างเต็มที่ก่อน แล้วจึงกลั้นใจออกกำลังเบ่งอย่างสุดแรง กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อหลัง และจากส่วนของร่างกายช่วยการออกกำลังในการเบ่งนี้จนผู้คลอดหน้าแดง และมีเหงื่อออกโทรมตัว บางครั้งอาจจะต้องครวญครางในขณะเบ่งด้วย
- ระยะที่ 3 ระยะรกคลอด หลังจากทารกคลอดออกมาแล้วจนกระทั่งรกออก ( เป็นระยะรกคลอด ) แต่ระยะรกนี้เป็นระยะอันตราย ถ้ารกไม่ออกหรือฉีกขาด เศษรกติดอยู่ภายในจะทำให้เกิดผลเสียตามมา ระยะนี้เกิดภายหลังเด็กคลอดออกมาแล้วจะมีรกและสายสะดือ ถุงน้ำหล่อตัวเด็กออกมา เมื่อเด็กเกิดออกมาแล้ว มดลูกจะหดตัวเล็กลง ก้นมดลูกอยู่สูงเพียงระดับสะดือ และตัวมดลูกจะมีขนาดเล็กลงมีขนาดเท่ากับศรีษะเด็ก ลักษณะของมดลูกในขณะนี้ ปรากฎว่า บางครั้งก็แข็งบางครั้งเป็นก่อนกลม บางครั้งก็อ่อนนิ่มลง จนคล่ำดูรูปร่างได้ไม่แน่นอน ดังนี้ สลับกันไป 15-20 นาที จนกระทั่งรกหลุดออกมาจากผนังมดลูก ถูกมดลูกผลักดัน จนมาอยู่ในช่องคลอด มดลูกถึงหดตัวเต็มที่เป็นก้อนกลมแข็งลอยขึ้นสูงกว่าเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้มักมีเลือดออกมาบ้าง พร้อมกับสายสะดือเลื่อนตามออกมา แต่รกที่ออกมาคั่งค้างอยู่ที่ช่องคลอดนั้น มักจะไม่เลื่อนออกมาเอง นอกจากต้องใช้วิธีช่วยกดผลักดันออกมากดผลักหน้าท้องเบาๆ รกก็จะออกมาได้ ถ้ารกไม่ออกหรือฉีกขาดตกอยู่ในมดลูก หรือมดลูกปลิ้นถลก เศษรกเน่าเป็นพิษได้
3.10 ลักษณะท่าทางที่ทารกจะคลอด
- ท่าคว่ำหน้าออก ทารกอยู่ในมดลูก คว่ำอยู่ คือหันหน้าเข้าหาหลังของมารดา ในท่านี้ทารกจะคลอดออกมาได้หรือตกฟากได้ต้องหมุนตัวครึ่งรอบ เพื่อไหล่จะได้หลุดออกช่องเชิงกราน จนคลอดออกมาตกฟาก
- ท่าทารกหงายหน้าออก ทารกอยู่ในมดลูกนอนหงาย หัวหน้าออกหน้าท้องของมารดา เมื่อศรีษะเคลื่อนพ้นจากมดลูกแล้ว ศรีษะตะแคงได้ ลอดอุ้งเชิงกราน ตัวเด็กคว่ำ บ่าจะได้หลุดลอดพ้นจาากช่องเชิงกรานออกมาจากช่องคลอดและตกฟากได้
- ทารกเอาก้น ขา หรือเท้าออก ตรวจดูจะพบว่านิ้วเท้าเสมอกัน ถ้านิ้วมือจะไม่เสมอกัน กิริยาที่เอาเท้าคลอดนี้มีข้อสำคัญ ฉะนั้นเมื่อตรวจพบว่า เด็กอาาจจะคลอดในท่านี้ ควรจะนำส่งโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของมารดาและเด็ก
- ทารกเอามือและแขนออก ผดุงครรภ์ไม่สามารถทำคลอดท่านี้ได้และมีความรู้ไม่พอจะช่วย จะเป็นอันตรายแก่ทารกและมารดา การที่ทารกเอามือและแขนออกมาเช่นนี้โดยมาก เกิดจากการฝืนท้องมากเกินไป คือ ทีแรกทารกจะเอาหัวออกหมอตำแยไม่เข้าใจ ผลักไสหรือกล่อมท้อง ทำให้ศรีษะทารกนั้นพลาดจากทางช่องทางคลอด แขนจึงเลื่อนมาที่ช่องคลอด และคลอดออกมา นอกจากจะช่วยให้แขนเข้าไปตามเดิมเพราะทารกจะกลับเองไม่ได้ เมื่อมือออกมาก็จะทราบได้ว่ามือซ้ายหรือมือขวาโดยจับคลำนิ้วมือทารก ถ้ามือทารกคว่ำ ตัวทารกคว่ำ ถ้ามือทารกหงายตัวทารกหงาย ถ้าข้อเข่าพับ เท้าของทารกจะมาอยู่ที่ก้นของทารก ทารกจะคลอดออกมาไม่ได้ คล้ายกับทารกขวางตัว ติดตัว และติดหัวคอ แพทย์ต้องช่วยให้คลอดแบบอื่นๆ ต้องรีบช่วยนำส่งโรงพยาบาลทันที
3.11 กลไกการคลอดในท่าต่างๆ ของทารก
- ทารกคว่ำหน้าออก
- งอตัวก้มหน้าคอพับ คางติดกับหน้าอก
- เลื่อนลงมาจนศรีษะจรดปากมดลูก
- พลิกหรือหมุนตัวให้เหมาะกับช่องเชิงกราน เพื่อศรีษะจะได้คลอดออกมาได้
- ศรีษะลอดช่องเชิงกรานและคลอดได้
- หมุนตัวภายในมดลูกให้พอดี
- ตัวก็จะคลอดออกมาพ้นตัวมารดา
- ทารกหงายหน้าออก
- หงายหน้าขึ้นจนท้ายทอยจรดหลัง
- เลื่อนลงมาจนศรีษะจรดปากมดลูก
- พลิกหรือหมุนศรีษะให้พอเหมาะกับที่จะลอดช่องเชิงกราน เพื่อให้ศรีษะทารกลอดออกมาได้
- ศรีษะลอดช่องเชิงกราน และคลอดออกมาได้
- พลิกหรือหมุนตัวภายในมดลูกให้พอดีกับช่องเชิงกราน
- ตัวทารกก็จะคลอดออกมาพ้นตัวมารดา
3.12 การปฎิบัติของผดุงครรภ์ในระยะของการคลอด
- ความสะอาดของการผดุงครรภ์ เมื่อจะทำการคลอดบุตร ผดุงครรภ์ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเสียก่อน และควรเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ซักฟอกใหม่ ที่สะอาด เพราะเชื้อโรคอาจติดต่ออยู่ตามเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ได้ไปรักษารายอื่นๆ มาก่อน แล้วยังมิได้ชำระล้างและฟอกสบู่ อาจมีโรคติดต่อกันได้ เช่น โรคฝีดาษ หัด สุกใส หรือโรคต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นติดต่อถึงมารดาและทารก
- สถานที่คลอดต้องโปร่ง จัดไว้สำรหับคลอดบุตร ล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคให้ทั่วบริเวณ หรือล้างแล้วรมด้วยกำมะถันอบ หรือฟอร์มาลินก็ได้ อย่าให้มีกลิ่นโสโครก ทำความสะอาดห้องจนถึงวันคลอด ห้องนี้ต้องจัดให้เป็นพิเศษ อย่าให้คนเข้าไปพลุกพล่านเป็นอันขาด
- การปฎิบัติและช่วยเหลือในระยะคอมดลูกเปิด
- ในระยะคอมดลูกเปิด การเจ็บไม่รุนแรง และเมื่อถุงน้ำทูนหัวยังไม่แตก ศรีษะทารกกำลังเข้ามาติดแน่นในช่องเชิงกรานนั้น ไม่ควรให้ผู้คลอดนอนอย่างเดียว ควรชวนและแนะนำให้ลุกเดินบ้าง เช่น ช่วยในการจัดเตรียมของสำหรับเด็ก เป็นต้น ทำให้ผู้คลอดเพลิดเพลินและลืมความเจ็บปวดได้บ้าง การเคลื่อนไหวจะช่วยให้ศรีษะทารกลดต่ำลงเร็วขึ้น แต่ไม่ควรให้ออกแรงหรือเข้าห้องส้วม เพราะอาจเกิดอาการคลอดฉับพลัน เป็นอันตรายแก่ทารกได้
- เมื่อการคลอดก้าวหน้าไปจนถึงตอนปลายของระยะคอมดลูกเปิด ซึ่งสังเกตได้จากการเจ็บท้องถี่ขึ้น และการเจ็บรุนแรงขึ้น ให้ตรวจหน้าท้องอีกครั้งหนึ่งเพื่อดูว่า การคลอดยังเป็นปกติดีอยู่หรือไม่ ศรีษะเด็กลดต่ำกว่าเดิมหรือไม่ เมื่อใกล้ระยะที่ 2 ของการคลอด อาการเจ็บท้องจะถี่ขึ้น และมีการปวดที่กระเบนเหน็บมากขึ้น ผดุงครรภ์อาจจะแนะนำให้กดและบีบที่กระเบนเหน็บไว้บ้างจะเป็นการช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดลง
- ในระยะนี้ถุงน้ำทูนหัวอาจจะแตกขณะใดก็ได้ จึงควรป้องกันการไหลเลอะเทอะ เช่น จัดให้ผู้คลอดนอนลงบนหม้อนอน ผดุงครรภ์ควรเตรียมตัวสำหรับทำการช่วยคลอดได้แล้ว โดยตรวจดูเครื่องใช้ในการคลอดของทารก และยาที่จำเป็นอีกครั้งหนึ่งแล้วคอยเฝ้าดูน้ำทูนหัวอาจโป่งยื่นออกมา ถ้าเป็นเช่นนั้นและถุงยังไม่แตกออกก็ควรใช้กรรไกรเจาะถุงที่ยื่นโป่งออกมาควรใช้นิ้วแนบปลายกรรไกรสอดเข้าไปในถุงด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ปลายกรรไกรไปถูกร่างกายทารก ขณะถุงน้ำทูนหัวแตกต้องสังเกตุสีและปริมาณของน้ำทูนหัวและจำเวลาที่ถุงแตกไว้ด้วย หากผิดปกติเป็นสีเขียวแสดงว่ามีขี้เทาของทารกปนอยู่ด้วย หมายความว่าทารกอยู่ในเขตอันตราย ถ้าประเมินดูอาการว่าทารกจะคลอดลำบากหรือใช้เวลาคลอดนานหรือคลอดเองไม่ได้ ควรรีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
- จิตใจของผู้คลอดในระยะนี้ มักมีอาการหงุดหงิดถึงหวาดกลัว ควรต้องช่วยปลอบใจ และช่วยอธิบายให้ผู้คลอดเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ และก้าวหน้าเป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้คลอดหมดความวิตกกังวลและทุกข์ร้อนใจ
- เมื่อแรกเจ็บครรภ์ควรแนะนำให้คนท้องหมั่นลุกนั่ง ลุกยืน เดินบ้าง นั่งบ้าง จะดีกว่านอนอย่างเดียวเพราะมีประโยชน์ช่วยให้ทารกหมุนศรีษะลงมา และน้ำหนักทารกถ่ายลงมาด้วย ศรีษะทารกดันขยายช่องทางที่จะคลอด ทำให้ทารกคลอดสะดวกสบายขึ้นอีกด้วย และหาเรื่องต่างๆ พูดคุยเล่นเพื่อให้เพลิดเพลินไปพลางๆ ก่อน
- ถ้าเห็นว่าเจ็บครรภ์มากขึ้นทุกที ก็ควรจะสวนอุจจาระ ปัสสาวะออกให้หมด จะได้ไม่เป็นการขัดขวางทางคลอด และควรให้ชำระล้างช่องคลอดด้วย ( น้ำยาแอนตี้เซพติค หรือ ไลโซล หรือด่างทับทิม หรือคาร์บอร์ลิค 3% ) ขนบริเวณอวัยวะเพศควรโกนออกด้วย เพื่อป้องกันความสกปรก ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการคลอดบุตร ถ้าสกปรกจะเป็นอันตรายมาก
- อาหาร เมื่อหญิงมีครรภ์ต้องการจะกินก็ให้กินได้ เช่น น้ำชา น้ำนม หรือ น้ำมะพร้าวอ่อน หรือน้ำซุปชูกำลังบางคนชอบเหล้าองุ่น หรือแชมเปญ หรือบรั่นดีก็ให้กินสักเล็กน้อยได้ เพื่อเป็นการชูกำลังไม่แสลง ไม่มีอันตราย
- การปฎิบัติและช่วยเหลือมารดาในระยะเบ่ง
- เมื่อถุงน้ำทูนหัวแตกแล้ว การเบ่งก็เริ่มต้น เมื่อคอมดลูกเปิดหมดแล้ว และเบ่งในขณะมดลูกหดรัดตัว การเบ่งทุกครั้งผู้คลอดจะออกแรงเหน็ดเหนื่อย จึงควรพยายามให้การเบ่งนั้นมีผลอย่างมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ บางครั้งต้องช่วยสอนผู้คลอดให้ทำการเบ่งให้ถูกวิธี คือ เมื่อรู้สึกท้องแข็ง เจ็บท้องก็ให้ผู้คลอดตั้งขาทั้งสองข้างขึ้นแล้วหุบปากอึดใจอยู่ได้ แล้วรีบถอนใจเต็มที่ครั้งหนึ่ง หรือหุบปากแล้วพยายามบังคับให้ลมภายในช่องท้องลงไปที่ส่วนช่องคลอดอย่าให้มีลมออกมาทางปาก โดยต้องหุบปากไว้เบ่งอีกเมื่อมีการหดรัดตัวของมดลูก เมื่อมดลูกคลายตัว ช่วยให้ผู้คลอดได้พักผ่อนให้เหยียดขาทั้งสองให้สบายช่วยบีบนวดและเช็ดเหงื่อให้ชวนพูดคุย หรือถ้ารู้สึกเหนื่อย ให้สูดลมหายใจออกยาวๆ ลึกๆ แล้วกลั้นไว้สักครู่จึงผ่อนลมหายใจออก ต้องอธิบายให้ผู้คลอดเข้าในถึงวิธีเบ่งและคอยตักเตือน อย่าให้ร้องครวญครางในขณะเบ่ง เพราะทำให้ขาดการออกกำลังช่วยมดลูก
- ในบางรายผู้คลอดรู้สึกเมื่อยหลับในขณะที่นอนหงายนานๆ ก็ควรให้นอนตะแคงได้บ้างเป็นการพักผ่อนได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ในรายที่ศรีษะทารกผลุบโผล่ต้องให้ผู้คลอดนอนหงายต่อไป เพื่อการทำคลอด
- ในระยะพักควรฟังหัวใจทารก และตรวจหน้าท้องเป็นครั้งคราว เพื่อให้แน่ใจว่าการคลอดดำเนินไปเป็นปกติ ในการตรวจต้องระวัง ไม่รบกวนมดลูกจนเกินไป
- ในระยะเบ่ง ต้องคอยสังเกตที่บริเวณฝีเย็บและที่ปากช่องคลอดจะมีการโป่งนูนออกมาเมื่อมีการเบ่งและจะหายไปในเวลาพัก ตอนแรกศรีษะทารกโผล่ให้เห็นในเวลาเบ่งและผลุบหายเข้าไปในเวลาพัก และในเวลาพักควรทำความสะอาดช่องคลอด และทายาฆ่าเชื้อโรคไว้ให้เรียบร้อย เมื่อเวลาศรีษะทารกโผล่ออกมา แต่ไม่ผลุบเข้าไปอีกนั้นเป็นระยะที่ฝีเย็บถูกดันตึงเต็มที่และอาจฉีกขาดได้ ฉะนั้นต้องเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้พร้อมที่จะใช้ ก่อนจะถึงระยะเวลาที่ศรีษะทารกโผล่แต่ไม่ผลุบนี้ ทำการล้างมือและใช้ยาทาฆ่าเชื้อโรคชโลมมือให้ทั่วทุกครั้งจัดให้ผู้คลอดนอนให้ถูกต้อง ในช่วงของการคลอดศรีษะทารกนี้ ข้อสำคัญคือต้องคอยเฝ้าดูที่ปากช่องคลอดตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องงดไว้ก่อน เพราะศรีษะทารกอาจเกิดมาได้กะทันหัน และเป็นเหตุให้ฝีเย็บขาดอย่างรุนแรงได้ การเบ่งอย่างรุนแรง ศรีษะของทารกอาจเกิดในทันที จำเป็นต้องป้องกันการฉีกขาดของฝีเย็บทันที แม้ว่าสิ่งอื่นๆ ยังไม่เรียบร้อย ก็ไม่ต้องทำ ต้องทำการช่วยป้องกันฝีเย็บก่อน โดยใช้มือจับผ้าที่ฆ่าเชื้อแล้วไปจับผิวหนังบริเวณฝีเย็บไว้ เพื่อประคองผิวหนังในส่วนนั้นไม่ให้ปริหรือฉีกขาดออกเวลาที่มารดาออกแรงเบ่ง แต่ต้องระวังไม่ให้ออกแรงกดหรือดันศรีษะทารกเพราะจะมีผลต่อการคลอด
- ในระยะที่ปากมดลูกเปิดหรือขยายตัวยังไม่เต็มที่ ก็อย่าไปเร่งรัดด้วยวิธีใดๆ ให้รอไปจนกว่าจะครบกำหนดอันสมควรตามธรรมชาติ และจึงจะตรวจดูอีก ถ้าเห็นว่าเกินเวลาอันสมควรแล้วมดลูกยังไม่ขยายตัวตามสมควรจึงให้ป้ายยา ( น้ำมันเบลลาดอนนา ) ที่ปากมดลูก เมื่อมีอาการปวดมากขึ้นผดุงครรภ์ต้องตรวจปากมดลูกอีก ถ้าปากมดลูกเปิดโตแล้วสมควรจะคลอดได้ แต่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตกก็ช่วยฉีกขาดได้เลย แล้วให้ผู้คลอดนอนนิ่งๆ พับเข่าตั้งขาชันไว้ แม้จะไม่มีลมเบ่ง ในที่คลอดควรมีเชือกผูกเสา หรือสิ่งใดไว้เพื่อไว้ให้มารดาเหนี่ยวรั้ง หรือให้มีที่สำหรับยันเท้าด้วยยิ่งดี จะได้เบ่งแรงขึ้น เมื่อมีลมเบ่งมากขึ้น ปากมดลูกเปิดมาก ทารกก็จะเคลื่อนออกมาได้ ถ้าไม่มีการติดขัดใดๆ ควรตรวจดูให้รู้แน่ว่า ศรีษะทารกคว่ำหรือหงาย หรือทารกจะเอาส่วนใดออก เช่น ก้น ขา แขน หรือมือ หรือมีการติดขัดหรือเปล่า เมื่อเห็นศรีษะโผล่พ้นช่องคลอดออกมา มือขวาคอยรับทารกหรือช่วยหมุนศรีษะทารกครึ่งรอบ เพื่อให้เหมาะกับเชิงกราน ก็จะออกได้โดยสะดวกตามธรรมชาติ
- การปฎิบัติและการช่วยเหลือทารกในระยะคลอด
- เมื่อทารกเคลื่อนออกจากปากมดลูกแล้ว ลงมาดันที่ฝีเย็บจนตึง เวลานี้ผู้คลอดจะเจ็บปวดมากที่สุด เจ็บปวดกว่าเวลาอื่นๆ ของการคลอด ถ้ามารดาอ่อนกำลังลง การเจ็บปวดมากเกินควร ควรให้ยาหอม ยาดมมารดามักบอกว่ามีอาการเจ็บปวดเมื่อยชา บางทีจะเป็นตะคริวที่หน้าท้องหน้าขา ควรให้ผู้ช่วยทำความสะอาดที่ช่องคลอดบ้าง เช่น ใช้สำลีชุบน้ำยาเช็ดช่องคลอด และช่วยอย่าให้ฝีเย็บขาด ช่วยโดยการเอานิ้วมือขวาสอดเข้าทวารหนักช่วยยกปากมดลูกขึ้นอย่าให้ศรีษะทารกต่ำลงมา มือซ้ายประคองศรีษะทารกขึ้นหรือจะใช้มือขวาแบออกประคองฝีเย็บ และประคองหัวทารกไว้จนกว่าฝีเย็บจะยืดออกพอที่ทารกคลอดออกมาได้ บาดแผลฝ่ายมารดาานั้นจะมีน้อยที่สุด บางทีไม่มีเลย กาารช่วยดังกล่าว จะต้องช่วยในเวลาที่มีลมเบ่งและฝีเย็บตึง การช่วยโดยกาารสอดนิ้วมือเข้าทางทวารหนักนั้น ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าทำ จะทำให้ทวารหนักช้ำและเป็นโทษภายหลัง ทำให้อุจจาระออกไม่สะดวก มีอาการปวดทวาร กลายเป็นบิดก็มี เมื่อมีลมเบ่งศรีษะทารกออกจากช่องคลอดแล้ว ให้เอามือขวาจับช่วยหมุนศรีษะทารกครึ่งรอบให้ไหล่ทารกหลุดและรับหัวทารกไว้ มือซ้ายกุมท้องมารดาไว้เสมอ รอให้ศรีษะทารกนั้นออกมาเองโดยมารดามีลมเบ่ง
- เมื่อศรีษะและบ่าทารกออกมาแล้ว จึงประคองสองมือรับตัวทารก ค่อยๆ พยุงออกมาจนคลอดพ้นออกมาทั้งตัว เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ต้องให้ศรีษะทารกอยู่ข้างขาซ้ายของมารดา โดยตะแคงตัวด้านขวาลง หันหน้าทารกเข้าหามารดา เพื่อให้โลหิตในห้องหัวใจทารกเดินได้สะดวก และไม่ให้สายสะดือตึง และรีบปลุกทารกให้ฟื้นโดยเร็ว โดยวิธีควักเมือกออกจากปากและจมูกทารก แล้วให้เอาน้ำอุ่นๆ หรือน้ำเย็นประพรมที่ตัวทารกแรงๆ ตามหน้าอกและเขย่า ทำวิธีผายปอดจนกว่าทารกจะฟื้น และร้องขึ้น จึงผูกสายสะดือเป็นสองตอนและตัดระหว่างกลางที่ผูกนั้น แล้วเอาน้ำมันมะกอกเช็ดถูตามตัวทารกเพื่อให้ไขมันออก แล้วส่งทารกให้ผู้ช่วยอาบน้ำด้วยน้ำอุ่นๆ เสร็จแล้วหยอดตาทารกด้วยกรดเงิน 0.1%

4. การทำคลอดรก การตรวจรกและสายสะดือ
รกมีลักษณะกลมหรือรีน้อยๆ คล้ายเนื้อปอดกว้าง 7-8 นิ้ว ศูนย์กลางหนาประมาณ 1 นิ้ว รกมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งเกาะติดกับมดลูก มีเส้นโลหิตละเอียดประสานกับของมารดาภายในมดลูก อีกด้านหนึ่งติดอยู่กับสายรกและสายสะดือของทารก
- รกรับโลหิตที่สะอาดจากมารดา และรับโลหิตโสโครกจากทารกแล่นไปตามสายสะดือถ่ายสิ่งเสียให้กับมารดา และดูดออกซิเจนจากโลหิตของมารดามาบำรุงเลี้ยงทารกให้เจริญ รกมีหน้าที่เปลี่ยนอากาศธาตุในโลหิตระหว่างทารกและมารดา
- รกนี้บางทีมีแฝดถึงสองสามก้อนติดกัน รวมเป็นสายสะดือเดียวกันก็มี ธรรมดารกจะเกาะอยู่กับพื้นของมดลูก ถ้าติดที่ปากมดลูกเวลาทารกคลอดจะมีโลหิตออกมามาก เมื่อปากมดลูกขยายมารดามักเป็นอันตราย ถ้าแก้ไขไม่ดี เพราะเลือดออกมาก่อนและออกมามากผิดธรรมดาเรียกว่า ตกเลือด ถ้าพบควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ตามธรรมดาเมื่อทารกคลอดจะมีแต่น้ำคร่ำปนกับทารกออกมา ต่อเมื่อรกหลุดออกจากผนังมดลูก เลือดจะไหลตามรกออกมาด้วย
- ถ้าทารกคลอดออกมาครั้งแรก แล้วมีเลือดตามตัวทารกออกมา แสดงว่ารกติดที่ปากมดลูก เพราะเวลาคลอดทารกจะเอาหัวดันมดลูก รกจึงหลุดออกมาพร้อมกับตัวทารก หรือมิฉะนั้นปากมดลูกฉีกขาด ในเวลาที่ทารกออกมาจึงมีเลือดไหลออกมาพร้อมกับทารก นับว่าผิดธรรมดา หรือเป็นอันตราย ถ้าพบอาการเช่นนี้ควรรีบส่งโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของมารดา
4.1 ระยะรกคลอด
กระบวนการคลอดระยะนี้ คือ การลอกตัวของรกหลุดจากผนังมดลูก ถูกผลักดันออกจากโพรงมดลูกลงไปอยู่ในช่องคลอด จนกระทั่งเดินพ้นออกจากช่องคลอด ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที อาจเร็วหรือช้ากว่านี้บ้าง แต่ปกติไม่เกิน 1 ชม.
- เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว มดลูกจะเล็กลง ก้นมดลูกอยู่ระดับสะดือ ลักษณะค่อนข้างกลม เมื่อใช้นิ้วคลำท้องจะรู้สึกว่ามดลูกบีบรัดตัวเป็นครั้งคราว และคลายตัวอ่อนลงเป็นครั้งคราว ในขณะที่มดลูกรัดตัว มักจะเจ็บท้องแต่ไม่รุนแรงเหมือนระยะเบ่ง การหดรัดตัวของมดลูก ทำให้มดลูกเล็กลง ฉะนั้นรกที่เกาะอยู่ที่ผนังมดลูกจะถลกออกมา รวมกับเลือดที่คั่งอยู่หลังรกเป็นก้อนเรียกว่า เลือดหลังรก
- เมื่อรกหลุดออกจากผนังมดลูกแล้ว มดลูกก็จะหดเล็กลงไปอีก รกจึงถูกดันจากโพรงมดลูกออกมา สายสะดือที่ติดอยู่กับรกก็จะเลื่อนต่ำลงมาด้วย มดลูกเมื่อไม่มีอะไรเหลืออยู่ในโพรงมดลูกอีกแล้ว ก็หดตัวลงในลักษณะของมดลูกธรรมดาคือ หนา แบน รี ลอยขึ้นสูงกว่าระดับสะดือและมักเอนไปทางด้านขวาของช่องท้อง
- ลักษณะที่สันนิษฐานได้ว่า รกลอยตัวออกจากผนังมดลูกแล้ว คือ สายสะดือเลื่อนต่ำลงมามากกว่าเดิม, มีเลือดไหลตามออกมาด้วย, มดลูกเล็กลงลักษณะค่อนข้างแบน, มดลูกลอยสูงขึ้นกว่าระดับเดิม และสูงกว่าระดับสะดือ
- รกที่ถูกผลักออกจากโพรงมดลูกลงมาอยู่ในช่องคลอด ต่อมาไม่ช้าผู้คลอดจะเกิดความรู้สึกอยากเบ่งอีกครั้ง เมื่อทำการเบ่งรกก็จะถูกดันออกมาจากช่องคลอดตามสายสะดือออกมา แต่ในบางรายอาจไม่รู้สึกอยากเบ่ง หรือมีการเบ่งแต่ไม่ออก จะต้องอาศัยผู้ทำคลอดช่วยเหลือ รกเกิดพ้นออกจากปากช่องคลอดผ่านปากถุง ตรงรอบฝีเย็บที่แตก จึงเป็นการปลิ้นออกมาจากภายในถุง ส่วนเยื่อซึ่งเป็นการบุอยู่ทางด้านทารกและเลยผ่านไปบุผนังมดลูก จนกระทั่งตึง จึงลอกออกมาจากผนังมดลูกตามออกมาภายหลัง
- เมื่อเวลาทารกคลอดออกมาแล้วตามธรรมดารกยังไม่หลุดออกมาจากที่เกาะ ( ก้นมดลูก ) ในเวลานั้นมดลูกหดรัดตัวเหี่ยวลงทุกที ( แต่รกยังไม่หดตัวเล็กลง ) เพราะฉะนั้นเยื่อและเส้นโลหิตของรกที่ติดอยู่กับมดลูกจึงได้ขาดจากมดลูก รกก็จะหลุดออกจากที่เกาะ แผลที่รกเกาะหลุดออกมานั้นเป็นแผลใหญ่จึงมีเส้นโลหิตไหลเยิ้มออกมาจากแผลมาก แต่เมื่อรกออกมาพ้นมดลูกแล้ว มดลูกก็จะหดตัวเล็กลง เส้นโลหิตก็จะตีบลง โลหิตก็หยุด หรือเยิ้มออกมาบ้างเล็กน้อย ต่อไปจะออกเป็นน้ำคาวปลา
4.2 วิธีป้องกันรกบิน
ถ้าการคลอดล่าช้า รกติดอยู่นาน วิธีการให้ผูกสายสะดือ 2 เปลาะ ห่างกัน 1 คืบ แล้วตัดตรงกลาง ทารกส่งให้ผู้ช่วยเอาไปอาบน้ำ หุ้มห่อให้ความอบอุ่นร่างกาย วิธีป้องกันรกบิน ให้ผูกซ้ำที่สายสะดือแล้วใช้ไม้ตับคาบที่สายสะดือแล้วผูกโยงกับขาผู้คลอดจนกว่าจะคลอดรก
4.3 โรคของรก
เนื้อรกมีลักษณะเป็นเนื้อยุ่ยๆ ฟ่ามๆ มีสีแดงคล้ำ มีเส้นโลหิตทอดฝังคั่งค้างอยู่มาก มีลักษณะกลมแบนดังใบบัวหลวง มีสายคล้ายก้านบัวทอดลงมาติดทับหน้าท้องทารก เรียกว่า สายสะดือ รกบางอันไม่กลม มีลักษณะยาวรีก็มี บางอันสายสะดือไปเกาะติดอยู่ที่ชายรก สายสะดือไปเกาะติดที่ส่วนใด ส่วนนั้นก็จะหนากว่าส่วนอื่นๆ รกธรรมดากว้าง 6-12 นิ้ว ตรงกลางหนา 1 นิ้ว ด้านนอกเกาะที่ผิวเยื่อบุโพรงมดลูก สายรกและสายสะดือติดต่อกัน ทำการแลกเปลี่ยนอาหารในร่างกายทารกกับมารดา
- รกขวางทาง คือ การที่รกเกาะผิดตำแหน่ง เกาะอยู่ที่ผนังส่วนของมดลูก หรือต่ำลงปากมดลูก
- รกเกาะต่ำ อยู่ที่ส่วนล่างของมดลูก ขอบของมดลูกเมื่อคลำดู จะพบรกอยู่ข้างๆ ด้านในที่คอมดลูก
- รกเกาะอยู่ที่ส่วนล่างของมดลูกและที่มดลูกด้วย คลำดูจะพบว่าส่วนหนึ่งของปากมดลูกมีขอบรกปิดขวางอยู่ แต่ไม่ได้ปิดปากมดลูกจนมิด
- การที่รกปิดปากมดลูกจนมิดหมด เมื่อคลำดูจะพบว่า ที่ปากมดลูกมีแต่รกปกคลุมอยู่จนมิด สอดนิ้วมือเข้าไปในโพรงมดลูกไม่ได้ นอกจากจะใช้นิ้วทะลุเข้าไป
- อาการรกขวาง อาการขั้นแรกไม่รุนแรง ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างไร นอกจากเจ็บท้องธรรมดา
- ในระยะแรกเลือดออกมาเล็กน้อย ซึ่งอาจจะออกๆ หยุดๆ หรือออกตลอดเวลาก็ได้
- อาการแสดงของการตกเลือดสมดุลย์กับจำนวนเลือดที่ออก ( ประมาณ 400-500 ซีซี )
- ถุงน้ำทูนหัวแตกแล้ว เลือดไม่หยุด
- เลือดออกมาขณะมดลูกหดรัดตัว
- ท้องไม่ตึงแข็งผิดปกติ และไม่มีอาการเจ็บปวดเวลาตรวจหน้าท้อง
- มดลูกไม่แข็งเสมอ คลำส่วนของทารกพบได้อย่างธรรมดา
- ส่วนนำเข้าเชิงกรานไม่ได้
- ไม่มีอาการของโรคพิษแห่งครรภ์
- สาเหตุที่รกขวาง เนื่องจากการเกาะของไข่ที่ผสมพันธุ์แล้ว เกาะที่ผนังมดลูกอยู่ต่ำมาก และเอนลงมาเกาะอยู่บริเวณคอมดลูกด้านใน บางรายถ้าพบว่ารกใหญ่และกว้างกว่าธรรมดามาก ซึ่งจะแผ่คลุมลงมาถึงคอมดลูกด้านใน หรือปิดปากมดลูกไว้ ถ้าพบอาการแสดงว่าเป็นการตกเลือดในขั้นแรก คืออยู่ดีๆ ก็มีการตกเลือด ในระยะหลังของการตั้งครรภ์ หรือระยะแรกของการคลอด โดยไม่ปรากฎมีอาการอย่างอื่น โดยมากมักจะเป็นในเวลาตั้งครรภ์แล้ว 22 สัปดาห์ขึ้นไป แต่มีบ้างน้อยรายที่มีอาการตกเลือดก่อนเวลานี้ ผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงให้ทราบล่วงหน้า อยู่ดีๆ ก็มีเลือดออกไม่มีอาการเจ็บปวด หรือเบ่งห่างในครั้งแรกๆ มีเลือดน้อย แต่ต่อมาจะมีเลือดออกมากขึ้นทุกที แต่ในบางรายอาจมีเลือดจุกอยู่ที่ปากมดลูก แต่มีน้ำเหลืองไหลซึมออกมาเท่านั้น แต่ที่จริงอาจมีเลือดออกมาคั่งค้างอยู่ภายในมากก็ได้ ถ้าพบต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที
- ในระยะแรกของการคลอด คอมดลูกขยายถ่างออก และหดสั้นขึ้นไปทุกที รกที่จะหลุดออกจากผนังมดลูกมากขึ้นทุกทีและมีเลือดออกมาพร้อมกันด้วย เลือดที่ออกมานั้น สีค่อนข้างแดงสดเพราะไม่ค่อยติดค้างอยู่มาก และมักออกเป็นพักๆ พร้อมกับการหดรัดตัวของมดลูก
- หน้าที่ของรก มีความสำคัญ 2 อย่าง คือ ทำการหายใจแทนปอดของทารก และทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอาหารกับมารดา เมื่อทารกออกมาแล้ว รกและเส้นโลหิตก็หมดหน้าที่
- ถ้าทารกแท้ง รกออกยาก เพราะยังไม่หมดหน้าที่ ยังไม่ครบกำหนด 9 เดือน ทารกโดยมากแท้งใน 3 เดือน ถ้ารกไม่ออก ก็จะต้องควักเอาออก ถ้ารกไม่ออกจะเป็นอันตรายต่อมารดาอย่างมาก บางรายเวลาแท้งรกออกพร้อมกันก็มี รายที่แท้งแล้วรกไม่ออกต้องส่งโรงพยาบาลด่วน
- รกลอกตัวก่อนเวลา
อาจพบได้ในรายที่มารดามีประวัติได้รับการกระทบกระเทือนมาก่อน ซึ่งมีอันตรายต่อมารดาาและทารกเป็นอย่างมาก เนื่องจากมารดาอาจจะตกเลือด หรือเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทารกอาจจะขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตได้เช่นกัน ฉะนั้น ผดุงครรภ์ควรจะสังเกตอาการรกลอกตัวก่อนเวลาให้ดี เพื่อช่วยนำส่งโรงพยาบาาลได้อย่างทันท่วงที
- อาการของรกลอกตัวก่อนเวลา แสดงอาการขั้นรุนแรง คือ มีอาการปวดอย่างมากบริเวณข้างมดลูกที่รกเกาะ
- เลือดอาจตกค้างภายใน ไม่ไหลออกมา หรือเลือดออกมาก หรือออกกระปิดกระปอย
- อาจแสดงอาการตกเลือดอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่จำนวนเลือดออกไม่มากนัก
- เลือดหยุดเป็นพักๆ ขณะที่คอมดลูกหดรัดตัว และเลือดอาจหยุด หลังจากน้ำทูนหัวแตกแล้ว
- ท้องตึงแข็ง และเจ็บมากเวลาถูก
- คลำส่วนของทารกไม่พบ เพราะท้องแข็งตึงอยู่เสมอ
- ส่วนนำเข้าช่องเชิงกรานได้
- มักมีอาการของโรคพิษแห้งครรภ์
4.4 วิธีตรวจเมื่อรกออกแล้ว
- การตรวจดูว่ามดลูกปกติหรือไม่ เช่น มดลูกถลกปลิ้นกลับ หรือเคลื่อนลงมามากเกินควรหรือมีบาดแผลอย่างไร ต้องช่วยดันกลับคืนอย่าให้ยานออกมาหรือถลกปลิ้นเป็นอันขาด การตรวจดูว่าออกมาหมดหรือยังโดยใช้อ่างใหญ่ๆ ใส่น้ำ แล้วเอารกลอยในน้ำดูว่ามีรอยแหว่งบ้างหรือไม่ เมื่อเห็นว่ารกออกมาหมดแล้วก็จัดการไปตามวิธีของเจ้าของคนไข้
- ถ้าตรวจแล้วเห็นว่ารกมีรอยแหว่งอยู่บ้าง เศษยังติดขาดอยู่ข้างในมดลูกบ้าง ให้ตัดเล็บมือผู้ทำคลอดให้สั้นและล้างให้สะอาดสอดล้วงเข้าไปตรวจดู เพื่อตรวจดูว่ารกติดอยู่ที่ใด ให้ใช้ปลายนิ้วมือค่อยๆ แซะหลุดออกได้ แล้วล้างด้วยน้ำยาให้สะอาด น้ำยา น้ำต้มสุก หรือน้ำยาแชฟลอนเจือจาง ให้ตรวจดูที่ปากช่องคลอดว่ามีแผลหรือไม่ถ้ามีแผลเล็กน้อยไม่ต้องเย็บ ถ้าเป็นแผลยาวถึงทวารหนักควรนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
4.5 สายสะดือ
- สายสะดือข้างหนึ่งติดกับรก อีกข้างหนึ่งติดกับสายสะดือทารก ตัวรกติดอยู่กับมดลูกมีเยื่อหุ้มสายสะดือโดยรอบ มีเส้นโลหิตแดง 2 เส้น ตั้งแต่รกถึงสายสะดือ
- สายสะดือจะเกิดขึ้นหลังจากปฎิสนธิประมาณ 1 เดือนเศษ พออายุทารกในครรภ์ได้ 4 เดือน สายสะดือยาว 4-6 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาาง 0.5 นิ้ว เมื่อครบ 9 เดือน ยาว 17-20 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณนิ้วหัวแม่มือ มีขนาดต่างๆกัน บางทีสั้นกว่าหรือยาวกว่านี้ นับว่าผิดธรรมดา
- สายสะดือมีลักษษณะเป็นเนื้อขาวๆ คล้ายลำไส้เหนียวเหมือนไขมันแต่ไม่มีเส้นประสาทหรือน้ำเหลือง ( เวลาตัดไม่รู้สึกเจ็บ )
- สายสะดือเมื่อแรกเกิดเป็นเส้นตรง เมื่อทารกดิ้นไปมา จึงเกิดเป็นเกลียว บางทีเป็นปมเป็นขอด ทำให้ทารกในครรภ์ผอม เพราะส่งโลหิตมาเลี้ยงทารกไม่สะดวก สายสะดือบางคนเหนียว บางคนเปื่อยยุ่ย ฉะนั้นเมื่อทารกคลอดแล้ว อย่าดึงสายสะดือเพราะอาจจะขาดได้ หรือมีเศษรกติดอยู่ข้างในมดลูกอาจเกิดเป็นพิษได้ การดึงสายสะดืออาจจะทำให้มดลูกปลิ้นออกมาเป็นอันตรายแก่มารดา ควรช่วยเอารกออกตามวิธีที่ถูกต้อง ห้ามดึงแรงเป็นอันขาด
4.6 การตัดสายสะดือ
- ก่อนตัดสายสะดือต้องทำความสะอาดมือให้สะอาด
- จึงลงมือตัดสายสะดือโดยใช้ด้ายหรือไหมชนิดเหนียวๆ ต้มหรือแช่แอลกอฮอล์เสียก่อน
- ถ้าด้ายเส้นเล็ก เช่น ด้ายหลอดให้ทบกันหลายๆ เส้น เส้นไหมก็ทำเช่นเดียวกัน ทบสัก 3-4 เส้นรวมกัน ไขว้ให้ด้ายหรือเส้นไหมนั้นรวมเป็นเส้นเดียว
- การตัดสายสะดือต้องใช้เครื่องมือที่ต้มหรือนึ่งแล้ว ก่อนตัดต้องรูดสายสะดือไปทางรก 2-3 ครั้ง แล้วกดบีบดูจนไม้มีเส้นเลือดเต้น จึงทำการผูกสาายสะดือเปลาะหนึ่งห่างจากท้องทารกประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วจับสายรกให้อยู่คงที่ แล้วรีดออกทางรกอีก ห่างออกไปอีก 2 นิ้ว แล้วผูกอีกเปลาะหนึ่ง การรีดสายรกนี้ต้องจับสายสะดือไว้ให้แน่น ระวังเวลารีดอย่าดึงสายสะดือที่หน้าท้องของทารก จะทำให้สายสะดือของทารกอักเสบ เลือดออก สะดือโปนปูดออกมา จงระวังให้หนัก
- วิธีการตัดสายสะดือ ให้เอามือซ้ายใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางและนิ้วหัวแม่มือ จับสายสะดือให้ชิดกับหน้าท้องทารก ตัดด้วยกรรไกรหรือเครื่องมือที่เตรียมไว้ ตัดสายสะดือตรงกึ่งกลางเปลาะที่ผูกไว้ โดยให้เหลือความยาวของสายสะดือในส่วนที่ติดตัวทารกยาว 2 นิ้ว แล้วใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือแอลกอฮอล์เช็ดรอบแผลที่ตัด
- การตัดสายสะดือนี้สำคัญมาก ถ้าตัดไม่ดีหรือรักษาความสะอาดไม่ดีพอ จะเกิดกการติดเชื้อ ซึ่งเป็นอันตรายแก่ทารกขึ้นในวันต่อมา อาจเสียชีวิตได้
- หลังจากตัดสายสะดือแล้วเอาผ้าหุ้มห่อตัวทารกไว้ก่อนหรือถ้ามีผู้ช่วยก็ให้จัดการกับทารกต่อไป ผดุงครรภ์จึงหันมาตรวจดูว่ามีรกฉีกขาดหรือมีเยื่อหุ้มน้ำคร่ำติดขาดอยู่ข้างในมดลูกหรือไม่ เพราะถ้ามีเศษเยื่อหรือรกติดอยู่ข้างในมดลูก อาจจะเป็นพิษได้ จึงต้องระวัง ( ข้อนี้สำคัญมาก ) จะลืมไม่ได้เป็นอันขาด ถ้ามีติดอยู่ต้องรีบแก้ไขนำมารดาส่งโรงพยาบาลทันที
- ควรตรวจดูอาการของมารดาว่าผิดปกติหรือไม่ ทำความสะอาดร่างกายมารดา ผลัดผ้านุ่งใหม่ ( ต้องนอนผลัด ) ห้ามมิให้ลุกนั่งเหรือยืนเป็นอันขาด อาจจะเป็นลมหน้ามืดไปได้ ตรวจช่องคลอดและฝีเย็บว่ามีการฉีกขาดหรือไม่ ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงหันมาห่อสายสะดือทารกต่อไป
- ผดุงครรภ์ต้องคลึงมดลูกให้เล็กลงเสียก่อน แล้วใช้ผ้าสำลีหรือผ้าอนามัยที่สะอาดซับน้ำคาวปลาไว้ให้เปลี่ยนผ้าซับวันละ 2-3 ครั้ง ระหว่างนี้อย่าให้มารดาลุกขึ้นนั่งเป็นอันขาด แล้วให้รับประทานยาขับน้ำคาวปลาหรือยาควินินและแอสไพรินอย่างละ 1 เม็ด ถ้ามีอาการไข้หรือมีอาการปวดมาก ให้รับประทานยาขับน้ำคาวปลารักษามดลูกเพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็วด้วย เมื่อครบกำหนด 5 วันแล้วจะลุกขึ้นนั่งบ้างก็ได้
4.7 วิธีห่อสายสะดือ
- เมื่อจะห่อสายสะดือทารก ให้ใช้ผ้าสำลีตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว และตัดช่องตรงกลางกะพอให้สายสะดือลอดออกมาได้ ใช้แอลกอฮอล์ 70% เช็ดให้ถึงโคนสะดือ ทำสายสะดือเป็นวงกลมขดและพับผ้าสี่เหลี่ยมทบเข้าหากันห่อสายสะดือไว้ แล้วเอาสำลีซ้อนกันสองผืน ผืนในใช้พันรอบท้องทารก ผืนนอกใช้ชายผ้าฉีกเป็นริ้วๆ 3-4 ริ้ว ห่อพันทับอีกทีหนึ่ง ใช้ชายผ้าที่ฉีกเป็นริ้วนั้นผูกกันไว้เป็นคู่ๆ ให้แน่นพอสมควร แล้วจึงห่อตัวทารกวางไว้บนเบาะตามธรรมดาให้อยู่ในกระโจมเพื่อป้องกันอากาาศเย็น ควรแก้ผ้าหรือที่ห่อสายสะดือไว้ ชำระล้างสายสะดือให้สะอาดทุกวัน ล้างด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาบอริค หรือคาร์บอริค 3% หรือ 1% แล้วเปลี่ยนผ้าใส่ยาใหม่ทุกวัน
- สะดือนี้สำคัญมาก ต้องระวังอย่าให้เป็นหนองเป็นอันขาด ธรรมดาต้องให้หลุดเอง เมื่อหลุดแล้วรักษาแผลที่สะดือตามธรรมดาต่อไป
4.8 การปฎิบัติเมื่อทารกคลอดแล้ว
เมื่อทารกคลอดแล้ว ผดุงครรภ์ต้องล้างมือให้สะอาด ใช้ผ้าสำลีหรือผ้านิ่มๆ พันนิ้วมือเช็ดในปากและจมูกทารก และหยอดตาเด็กด้วยกรดเงิน 0.1% เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื่อโรคจากมารดาา ( โรคโกโนเรีย ) แล้วเอาน้ำมันมะกอกทาให้ทั่วตัวทารก แล้วเช็ดด้วยสำลีหรือผ้าอ่อนๆ ให้ตัวทารกแห้งแล้วฟอกด้วยสบู่ให้ทั่วตัวและเช็ดตัวทารกด้วยน้ำอุ่นๆ จนหมดไขมันเอาเช็ดตัวให้แห้ง หุ้มห่อทารกด้วยผ้าขนหนูไว้เพื่อให้ทารกอบอุ่นพอสมควร ข้อสำคัญต้องอาบด้วยน้ำอุ่นเสมอ ถ้าความอบอุ่นมีไม่เพียงพอกับร่างกายของทารกจะทำให้ทารกไม่สบาย มีอาการหน้าาตา มือ เท้า ซีดเซียวและเย็น ต้องรีบให้ความอบอุ่นให้เพียงพอทันที โดยใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือขวดใส่น้ำร้อนวางไว้ข้างตัวทารกคลุมผ้าไว้ให้อุ่นพอดีกับร่างกายของทารกจึงจะสบายดี แต่ต้องระวังไม่ให้ความร้อนเกินไปจะทำให้เกิดแผลพุพองได้
4.9 การรักษาตัวของมารดาหลังคลอด
ผู้คลอดใหม่ควรนอนพักให้มากๆ หลีกเลี่ยงอาาหารบางจำพวกชั่วคราว ( บาางภาคจะเรียกว่าอยู่กรรม ) กำหนดระหว่างอยู่เรือนไฟ ท้องสาวหรือลูกคนแรก 40 วัน คนต่อไปก็อยู่ไฟ 30 วัน อาหารส่วนใหญ่จะให้หมูและปลา เช่น ปลาช่อนต้ม ผัด หรือแกง อย่างใดอย่างหนึ่ง
- ห้ามถูกน้ำฝน ถูกลม ห้ามเดินมากๆ และห้ามยกของหนัก บางทีเจ้าตัวลืม เพราะการคลอดบุตรจริงๆ แล้วถ้าผู้คลอดอายุน้อย หลังคลอด 2-3 วัน ก็จะรู้สึกว่าสบายดี อยากจะทำโน่นนี่ แต่ความเป็นจริงแล้วสุขภาพยังไม่เข้าที่ และต้องการพักผ่อน ตอนเวลาที่อวัยวะจะปรับตัวเข้าสู่สภาพปกติและต้องการยาเข้าไปขับล้างภายในมดลูก บำรุงและซ่อมแซมความบอบช้ำและใช้กำลังในการอุ้มท้องทารกมา 9 เดือน ให้ได้รับการพักผ่อนให้อวัยวะต่างๆ ได้เข้าสู่สภาพปกติ การหดรัดตัวของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะมดลูกได้ขยายตัวมากในระหว่างที่ลูกอยู่ในครรภ์
- ตัวอย่าง
- เมื่อข้าพเจ้าสอนเวชปฎิบัติอยู่ที่อายุรเวทวิทยาลัย ( วัดบวรนิเวศฯ ) พ.ศ. 2527-2534 ได้พบหญิงที่มีปัญหาหลังคลอดหลายคน
- คนที่ 1 อายุ 28 ปี อาชีพ รับราชการ
- ประวัติ คลอดลูกแล้ว 12 วัน ท้องไม่ยุบ ตกเลือด จึงไปขูดมดลูก หลังจากตกเลือด 49 วัน จึงมีอาการเจ็บท้องตั้งแต่ลิ้นปี่ถึงหัวเหน่า เดินขึ้นบันไดหรือกระเทือนนิดหน่อยก็เจ็บ รับประทาานอาหารแล้วท้องจะอืดเสมอ จึงมารักษาที่อายุรเวทด้วยยาสมุนไพร
- การรักษา หลังจากให้คนไข้กินยารักษามดลูกแก้บวม ขับเลือด แก้อักเสบ และแนะนำให้รัดหน้าท้อง อาการต่างๆ ก็ทุเลาขึ้น
- ตัวอย่างที่ยกมานี้ เพื่อที่จะให้ผู้ที่คลอดพึงสังวรว่า ถ้าเรารักษาตัวหลังคลอดใช้เวลาเพียง 1 เดือน ปัญหาต่างๆ จะไม่เกิด ( ปัญหาหลังคลอด ) จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องปฎิบัติและรักษาตัวหลังคลอดการที่รัดท้องนั้น ก็เพื่อช่วยให้มดลูกเข้าที่ได้เร็วขึ้นการรับประทานยาขับน้ำคาวปลา ก็เพื่อขับถ่ายเลือดที่คั่งค้างและขับลมที่มีพิษให้ออก
- พระคัมภีร์มหาาโชตรัต ท่านว่าไว้ การคลอดบุตร โลหิตออกไม่สิ้นเชิง คนทั้งหลายย่อมว่าเป็นบ้าพุทธยักษ์ บางคนก็ว่าผีพรายเข้าอยู่ บางคนก็ว่าเป็นไข้สันนิบาตเพราะว่าโลหิตนั้นตีขึ้น ( โลหิตทำพิษ ) อาการให้ขบฟัน จักษุเหลือก แลบชิวหา ให้มือเท้าเย็น
- ถ้าหญิงใดคลอดบุตรได้ 1, 2, 3 วัน จนถึง 1 เดือนก็ดี กำหนดโลหิตร้ายนั้นยังอยู่ ถ้าถึงสองเดือนแล้วจึงจะพ้นกำหนดโลหิตเน่าร้าย
- ถ้าว่ากำลังโลหิตกล้านัก ให้ดีขึ้นไปไม่สมปฤดี ให้สลบ ให้ชัก มือกำ เท้ากำ อ้าปากมิออก ลิ้นกระด้าง คางแข็ง ทำให้คนกลัว อันนี้ชื่อว่าโลหิตเน่า เป็นใหญ่กว่าลมทั้งหลาย
- โลหิตเน่าร้าย ระดูขัดแลคลอดบุตรโลหิตดีขึ้นก็ดี แลโลหิตแห้งเข้าเป็นก้อน เป็นเถาจะกลายเป็นฝีในมดลูกจะให้เป็นมารโลหิต มารกระษัย บางทีกลายเป็นฝีหัวคว่ำ เป็นมารโลหิต บางทีเป็นฝีภายในทั้ง 5 ประการฯ

5. อาการผิดปกติที่ควรส่งต่อโรงพยาบาล
5.1 มดลูกฉีกขาด ( มดลูกแตก )
มดลูกฉีกขาด มีอาการเจ็บปวดเหมือนถุกมีดเฉือน การหดรัดตัวของมดลูกจะหยุดชะงักไม่มีอีกต่อไป พร้อมกับการเจ็บทุรนทุราายกลับหายไป แต่ผู้คลอดจะมีอากาารช็อคมาทันที หน้าซีดเผือด ตัวเย็น มีเหงื่อเม็ดโตๆ ออก ชีพจรเต้นเบามาก ม่านตาเปิดกว้าง ทารกออกมาจากโพรงมดลูกเข้าไปอยู่ในช่องท้องข้างมดลูก คลำพบมดลูกอยู่ข้างหนึ่ง แต่ทารกอยู่อีกข้างหนึ่ง ซึ่งจะคลำพบได้ง่ายด้วยเพราะอยู่ใต้ผิวหนังหน้าท้องเท่านั้นไม่ได้อยู่ในโพรงมดลูก
- สรุปอาการแสดงที่สำคัญของมดลูกกำลังจะแตกหรือฉ๊กขาดดังนี้
- การคลอดชักช้าเสียเวลาเกินควรและในขณะเดียวกัน การเจ็บท้องยิ่งรุนแรงมากขึ้นอย่างผิดธรรมดา หรือการเจ็บท้องคลอดหยุดชะงักไปชั่วขณะหนึ่ง และพอเจ็บท้องใหม่ก็มีอาการเจ็บอย่างรุนแรง ทุรนทุรายผิดจากปกติ
- ชีพจรขึ้นมากกว่า 130 ครั้ง / นาที และมักเต้นเร็วถึง 150-160 ครั้ง / นาที ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย
- หน้าท้องเจ็บมาก เมื่อถูกส่วนหน้าท้องตึงและบางมาก
- เส้นเอ็นของมดลูกดึงนูนให้เห็นได้ชัดที่หน้าท้อง
- ผู้คลอดสีหน้าาซีดมีอาการอิดโรยและทุรนทุราย
- หัวใจทารกในครรภ์เต้นเร็วมากขึ้นเป็นลำดับ ถ้าตรวจพบอาการดังกล่าวมาแล้วต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีช้าไม่ได้
- เลือดตกภายในและภายนอก อาจมีเลือดออกมาให้เห็นภายนอกบ้างเล็กน้อย ส่วนนำซึ่งตอนแรกตรวจพบภายในตอนนี้กลับหายไป เพราะหลุดไปจากโพรงมดลูกเข้าไปอยู่ในช่องท้อง
- การปฎิบัติ เมื่อมดลูกฉีกขาดเป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้คลอด ซึ่งอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว การปฎิบัติเพื่อช่วยชีวิตของผู้คลอด ต้องอยู่ที่วิธีป้องกันมิให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น โดยการตรวจผู้คลอดด้วยความละเอียดถี่ถ้วนในขั้นต้น ระมัดระวังในระยะคลอดเป็นอย่างดี
- เมื่อเห็นว่ามีเหตุการณ์ที่จะทำให้การคลอดติดขัดไม่ควรปล่อยให้มดลูกฉีกขาด เมื่อตรวจพบอาการผิดปกติต้องรีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด
5.2 มดลูกปลิ้น
มกลูกมีลักษณะเป็นถุง ปากถุงอยู่ด้านล่าง และก้นถุงอยู่ด้านบน กการที่มดลูกปลิ้นผ่านปากมดลูกออกมากลับเอาด้านในของมดลูกออกมาเป็นด้านนอกและก้นมดลูกห้อยต่ำลงมา ต่ำกว่าปากมดลูก และอาาจปลิ้นกลับเอาข้างในออกมาเป้นข้างนอกทั้งหมด และห้อยย้อยโผล่ออกมาที่ปากช่องคลอด ( มดลูกปลิ้น ) ชนิดของมดลูกปลิ้นมี 4 ชนิด คือ
- มดลูกปลิ้นอย่างรุนแรง เกิดขึ้นระยะแรกหลังคลอด เช่น เกิดขึ้นทันทีเมื่อทารกเกิดแล้วหายภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด
- มดลูกปลิ้นเรื้อรัง ชนิดนี้เกิดขึ้นในระยะหลังคลอดแล้วตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป และมักจะค่อยๆ เป็นทีละน้อยๆ จึงตรวจไม่ค่อยพบจนเป็นมากแล้ว
- มดลูกปลิ้นเนื่องจากเนื้องอกในมดลูก เกิดจากเนื้องอกในมดลูกดึงถ่วงภายในมดลูกทำให้ผนังมดลูก ซึ่งอยู่ติดกับเนื้องอกติดห้อยลงมาด้วย จนมดลูกปลิ้นกลับ
- มดลูกปลิ้นเองโดยลำพัง ไม่ใช่เกิดจากกาารคลอด หรือเนื้องอก
- สาเหตุมดลูกปลิ้น
- บีบมดลูกเพื่อให้รกออก เมื่อกระทำโดยขาดความระมัดระวัง พร้อมทั้งการดึงที่สายสะดือในเมื่อรกยังไม่ลอกตัวออกจากผนังมดลูก
- การลอดรกด้วยการใช้มือล้วงและดึงในขณะที่รกยังไม่หลุดออกจากผนังมดลูก
- การคลอดฉับพลัน การที่ทารกเกิดโดยกะทันหัน สายสะดือติดอยู่กับตัวทารกถูกกระชากโดยแรง รกยังไม่ทันหลุด มดลูกจึงปลิ้นออกมา
- การคลอดในท่าที่ผู้คลอดนั่ง หรืออาการจามอย่างรุนแรงในระยะเบ่ง
- ผนังมดลูกขาดการหดรัดตัวที่ดี เนื่องจากใช้เวลาาคลอดนานเกินควร เมื่อตรวจพบก็ให้ผดุงครรภ์โบราณช่วยปฐมพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาลทันที
5.3 การตกเลือดหลังคลอด
การมีเลือดออกมากผิดปกติ เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อทารกคลอดออกมา แล้วจนกระทั่งพ้นระยะเรือนไฟ ผู้คลอดมีสุขภาพและอนามัยในระยะหลังคลอดมีเลือดออก 500-600 ซีซี ไม่มีอาการอย่างไร ให้ถือว่ามีเลือดมากกว่าปกติ คือ มีการตกเลือดแล้ว การวิเคราาะห์พิจารณาอาการ
- อยู่ดีๆ มีเลือดออกในระยะหลังของการตั้งครรภ์ หรือระยะแรกของกาารคลอด
- ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างไร
- ส่วนนำลอยอยู่หรือไหลไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากรกปิดขวางที่ส่วนล่างของมดลูก
- ตรวจภายในไม่พบถุงน้ำทูนหัว
- ไม่พบส่วนนำของทารก แต่พบรกและขอบรกที่ปากมดลูกหรือที่มดลูก
- การปฎิบัติของผดุงครรภ์แผนโบราณ
- ป้องกันการช็อคเนื่องจากเสียโลหิตมาก
- หมั่นฟังหัวใจทารกและตรวจอาการทั่วๆ ไปของผู้คลอด
- ควรให้รับประทานยาบำรุงหัวใจก่อนนำส่งโรงพยาบาล
5.4 การตกเลือดภายนอก
มักเกิดจากการตกเลือดภายในก่อนแล้วไหลผ่านคอมดลูก ออกมาให้เห็นภายนอก
- อาการแสดง ในระยะมีครรภ์มีเลือดออกเล็กๆ น้อยๆ โดยปราศจากอาากาารผิดปกติใดๆ นั้นอาจเป็นอาการแสดงขั้นแรกที่รกลอกตัวก่อนเวลา ทั้งนี้อาจเป็นการลอกตัวเล็กๆ น้อยๆ ก่อน แต่ถ้าผู้ป่วยมีการถูกกระทบกระเทือนหรือกระแทกอย่างแรง หรือปรากฎอาาการแสดงของโรคทาางไตอยู่ด้วย จำเป็นต้องเฝ้าระวังให้ดี นำส่งโรงพยาาบาลทันทีที่พบ
- บางรายมีเลือดออกเล็กน้อยในครั้งแรก ต่อมาอาจมีการตกเลือดอย่างร้ายแรงได้ อันตรายของอาการนี้เกิดจากการเสียเลือดมาก
- อาการ มีอาการเจ็บปวดที่บริเวณหน้าท้องอย่างแรง และปวดอย่างปัจจุบันทันด่วน ต่อมามีอาการระบมและตึงหน้าท้อง และตกเลือดภายใน ก็ไม่มีเลือดออกมาให้เห็น
- อาการเสียเลือดมาก มีอากาารแสดงคือ หน้าซีด ริมฝีปากและเปลือกตาซีดขาวและชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก เหนื่อย คอแห้ง กระหาายน้ำ หาว กระสับกระส่าาย เป็นตะคริว ในขั้นสุดท้ายหมดสติถึงแก่ความตาย
- ในบางรายเลือดตกภายใน อาจมีเลือดออกมาให้เห็นสีแดงเข้ม โดยมากทารกมักจะตายในท้องเพราะไม่มีเลือดเลี้ยงร่างกายทารกเพียงพอ กระบวนการคลอดอาจดำเนินไปตลอดได้หากมดลูกทำงานดีและผู้คลอดยังไม่เสียเลือดมากเกินไป มดลูกหมดกกำลังอาจเกิดขึ้นได้ ก่อนที่ทารกเกิดและหลังจากทารกเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นอันตรายของผู้คลอดจึงมีมากขึ้น แม้ว่าทารกเกิดแล้วหรือรกออกมาแล้วก็ตาม ยังไม่พ้นอันตราย
การพิจาารณาอาการตกเลือด
- อยู่ดีๆ มีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงทางด้านหนึ่งด้านใดของมดลูก
- มดลูกโตและแข็ง เจ็บเวลาสัมผัสถูก
- หน้าท้องตึงและเจ็บมาก
- เลือดออกมาก
- มีอาการของการตกเลือด
- ฟังหัวใจของทารกไม่ได้ยิน ทารกไม่ดิ้น
- ถ้าตรวจพบอาการเหล่านี้ควรนำส่งโรงพยาาบาลทันที ป้องกันการช็อคให้ยาบำรุงหัวใจ
สาเหตุของการตกเลือดหลังคลอด
- การฉีกขาด เช่น ที่คอมดลูก ที่ช่องคลอด ที่ฝีเย็บเป็นต้น
- มดลูกหดรัดตัวน้อย หรือไม่หดรัดตัว จึงมีเลือดออกในบริเวณนั้นมาก
- เป็นโรคเกี่ยวกับเลือด ( เลือดเสีย เลือดจาง ) หรือเนื่องจากการแตกของเส้นโลหิต
อาการของผู้ตกเลือด
- ตาพร่า หน้ามืด เป็นลม วิงเวียน
- เหนื่อยหอบ หาายใจลึก ชีพจรเต้นเบาและเร็ว
- หาวบ่อยๆ
- ปากแห้ง คอแห้ง คลื่นไส้ กระหาายน้ำ
- กระสับกระส่าย หงุดหงิด ใจสั่นกลัว
- อาเจียน ซึม ชักกระตุก เป็นตะคริว
- อุจจาระเหลว หมดสติถึงตาย
การปฎิบัติแก้ไข
- ตรวจให้ถี่ถ้วนว่าตกเลือดเนื่องจากอะไร ถ้าเนื่องจากการฉีกขาดของช่องคลอด ให้ใช้ผ้าก๊อซอุดไว้ให้แน่นก่อน เมื่อรกออกมาาแล้วจึงนำส่งโรงพยาบาล
- ถ้าเนื่องจากการติดค้าง ควรช่วยเหลือมดลูกจนมดลูกหดรัดตัวดีแล้วหรือบีบมดลูกเพื่อให้รกหลุดจากผนังมดลูก
- รกติดค้างแน่นไม่หลุด หรือเศษรกติดค้างจึงต้องทำกาารล้วง ควรนำส่งแพทย์โดยเร็วที่สุด
แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 1-3
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 4 การปฎิสนธิ และการตั้งครรภ์
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 5 การคลอดปกติ
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 6 การดูแลมารดาและทารกในระยะหลังคลอด
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ บทที่ 7 การเจริญเติบโตและการดูแลทารก
- แพทย์แผนไทย ผดุงครรภ์ ภาคผนวก ยาสำหรับสตรีและทารก