บทที่ 2
เภสัชวัตถุ
3. สัตว์วัตถุ
3.1 สัตว์บก
ได้แก่ สัตว์ที่อาศัยอยู่บนบก และหากินบนบก ตัวอย่าง
แมลงสาบ ใช้มูลประกอบยา สรรพคุณ แก้ลิ้นขาวเป็นฝ้า เป็นละออง แก้เม็ดยอด ในปาก แก้ฟกบวมที่มีพิษร้อน แก้กามโรค (ต้องคั่วหรือสุมก่อนปรุง)
กวาง เขาแก่ สรรพคุณ แก้ไขกาฬ ไข้พิษ เขาอ่อน บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงความกำหนัด ถอนพิษผิดสำแดง
วัวป่า เขาวัว สรรพคุณ แก้ตัวร้อน ดับพิษไข้ แก้พิษกาฬ ถอนพิษผิดสำแดง ตับบำรุง ร่างกาย บำรุงตับดี แก้ดีซ่าน บำรุงน้ำดี บำรุงโลหิต เป็นกระสายทำให้ยาแล่นเร็ว
ควายเผือก กระดูก สรรพคุณ แก้โรคอันบังเกิดจากกระจำพิษน้ำเหลือง แผลกลาย กาม โรคเข้าข้อออกดอก
งูเห่า สรรพคุณ แก้โรคกระษัย ปวดเมื่อย แน่น เสียด บำรุงกำลัง (ก่อนปรุง ต้องย่างไฟเสียก่อน)
เสือ ใช้กระดูก สรรพคุณ บำรุงกระดูก เลือด เนื้อ ไข้ข้อ แก้ปวดเมื่อยหัวเข่า
หมี ใช้เขี้ยว สรรพคุณ ดับพิษ พิษอักเสบ แก้ตัวร้อน แก้พิษตานซาง ปวดในข้อ เส้นเอ็น
แก้ช้ำในกระจายเลือด กระดูก บำรุงโลหิต กระจายโลหิต บำรุงกำลัง
ช้าง ใช้กระดูก สรรพคุณ แก้โรคอันบังเกิดจากกระดูก โรคเรื้อน มะเร็ง
วัวดำ ใช้มูลทำยา สรรพคุณ ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ทั้งปวง แก้ไฟลามทุ่ง แก้งูสวัด แก้ลมพิษ แก้ฟกบวม
3.2 สัตว์น้ำ
ได้แก่ สัตว์ที่เกิดและหากินอยู่ในน้ำ
ปลาช่อน ใช้ดีทำยา สรรพคุณ แก้ตาต้อ ตาแดง หางตากแห้งแก้โรคในปาก ลิ้นเป็นฝ้า เป็นเม็ด ตัวร้อน นอนสะดุ้ง หลังร้อนมือเท้าเย็น แก้หอบ ซางทับสำรอกชักเพราะความร้อนสูง เกล็ดทำให้เกิดลมเบ่ง
ปลาหมอ ใช้ทั้งตัวทำยา สรรพคุณ แก้กระษัยปลาหมอ ดี แก้พยาธิกิน ผมร่วงเป็นหย่อมๆ ช่วยให้ผมดำ
ปลากระเบน ใช้หนังทำยา สรรพคุณ ขับเลือดเน่าร้าย หลังจากการคลอดบุตร ขับน้ำคาวปลา
ปลาพะยูน ใช้เขี้ยวทำยา สรรพคุณ แก้พิษใข้กาฬ พิษไข้ซาง พิษไข้ตัวร้อน ร้อนใน กระหายน้ำ
ปลาวาฬ ใช้น้ำกาม ซึ่งเรียกว่า อำพันทอง สรรพคุณ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย
แก้ลมวิงเวียน
ตะพาบน้ำ ใช้ดีทำยา สรรพคุณ ขับลมและเลือด แก้ลมกองละเอียด คือลมวิงเวียนหน้ามือ พิษปวดกระดูก ถอนพิษฟกบวมอักเสบ ถอนพิษสัตว์กัดต่อย
กบ ใช้น้ำมัน สรรพคุณ ทาแก้ปวดเมื่อย ขัดยอก เคล็ดกระดูก แก้พิษไข้ ไข้กาฬ (สุมไฟ)
ปูนา ใช้ทั้งตัว ดำคั้นปนกับสุรา สรรพคุณ แก้ช้ำใน กระจายโลหิต
ปูทะเล ใช้ก้าม สรรพคุณ ดับพิษกาฬ แก้พิษอักเสบ แก้ไข้ร้อนใน กระหายน้ำ
จระเข้ ใช้ดี สรรพคุณ ขับเลือดร้าย ขับน้ำคาวปลา แก้โรคตา แก้สันนิบาตหน้าเพลิง
เต่านา ใช้กระดองอก สรรพคุณ ถอนพิษฟกบวมอักเสบ ถอนพิษสัตว์กัดต่อย ทำกระสาย ยาแก้หืด บำรุงน้ำนม
หัวเต่านา แก้ตับทรุด แก้ม้ามโต
ปลาหมึก กระดอง หรือ ลิ้นทะเล สรรพคุณ แก้เม็ดยอดในปาก ฆ่าเชื้อโรค กัด สิวฝ้า แก้ปวดท้อง แก้มูกเลือด
หอยต่าง ๆ ใช้เปลือกทำยา สรรพคุณ แก้โรคลำไส้
แมงดาทะเล กระดองรสเค็ม สรรพคุณ ใช้ทำยา แก้โลหิตเป็นพิษ แก้ซางเด็ก
ม้าน้ำ ใช้กระดูกทำยา สรรพคุณ แก้โรคไต แก้ปวดหลัง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย บำรุงกระดูก บำรุงกำลัง
3.3 สัตว์อากาศ
ได้แก่ สัตว์ที่มีปีก บินไปมาในอากาศได้ ตัวอย่าง
ผึ้ง ใช้น้ำหวานในรังทำยา สรรพคุณ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ แก้สะอึก แก้ไข้ตรีโทษ
นกกา หรือ อีกา ใช้กระดูกและขนทำยา สรรพคุณ แก้พิษกาฬ ใช้กาฬ แก้พิษ ตานซาง
นกนางแอ่น ใช้รังทำยา สรรพคุณ บำรุงกำลัง บำรุงความกำหนัด แก้อ่อนเพลีย
นกกรด ใช้น้ำมัน สรรพคุณ แก้โรคผิวหนังผื่นคัน แก้มะเร็ง
นกกระจอก ถอนขนออกใช้ทั้งตัว สรรพคุณ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงความกำหนัด
นกออก ใช้น้ำมันทำยา สรรพคุณ แก้โรคผิวหนังผื่นคัน
นกพิราบ ใช้มูลทำยา สรรพคุณ แก้ไขเกิดจากพิษตานซาง แก้ซางร้าย (ความร้อนสูงชัก) แก้ลมเบ่ง แก้ปวดท้อง (ต้องคั่วก่อนปรุงยา)
นกยูง ใช้ขนทำยา สรรพคุณ แก้ซางลิ้นขาวเป็นฝ้าละออง แก้หละ แก้ซาง ละอองในปาก แก้หอบหืด แก้ซาง ชักตาเหลือกตาซอน
ค้างคาวแม่ไก่ ใช้เลือดทำยา สรรพคุณ บำรุงโลหิต และบุรุษโลหิตจาง แก้ผอมแห้ง บำรุงกำลัง แก้เหน็บชา
นกกาน้ำ ใช้ดีทำยา สรรพคุณ แก้โรคหนังศีรษะพิการ แก้ผมร่วง บำรุงเส้นผม ให้ดกดำ

4. ธาตุวัตถุ
4.1 ธาตุที่สลายตัวง่าย
ได้แก่ แร่ธาตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือแร่ธาตุที่ประกอบขึ้นตามกรรมวิธีมีคุณสมบัติสลายตัวง่าย เช่น ถูกความร้อนเพียงเล็กน้อย แช่น้ำหรือใช้มือขยี้ ธาตุวัตถุเหล่านี้บางอย่างเมื่อสลายตัวออกไปแล้ว ก็ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้ ตัวอย่าง
กำมะถันเหลือง เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สีเหลืองอ่อนนวล ถูกความร้อนเพียงเล็กน้อยก็สลายตัว
สรรพคุณ แก้จุดเสียดในโรคป่วง แก้โรคผิวหนังผุพอง น้ำเหลืองเสีย ฆ่าเชื้อโรค ฆ่าแม่พยาธิทั้งภายในและภายนอก ใช้หุงน้ำมันทาแก้หิด ขับลมในกระดูก
กำมะถันแดง (มาด) สีแดงใช้หุงกับนั้นใส่แผลเรื้อรัง สรรพคุณ แก้แผลเปื่อยลาม บดผงผสมเหล้าทาดับพิษใช้กาฬบางชนิด เช่น ไข้งูสวัด เป็นต้น
สารส้ม ก้อนสีขาว สรรพคุณ สมานได้ทั้งภายนอกและภายใน ชะล้างระดูขาว แก้บาดแผล ทำให้หนองแห้ง แก้แผลในปากในคอ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว
เกลือสินเธาว์ เกลือที่ได้จากดินเค็ม ดินโป่ง สรรพคุณ แก้พรรดึก ล้างเมือกในลำไส้ ขับพยาธิในท้อง ละลายนิ้ว แก้ตรีโทษ
ดีเกลือ รสเค็มขม สรรพคุณ ถ่ายท้องผูก ถ่ายโรคกระษัย ทำให้เส้นเอ็นหย่อน เป็นยาถ่ายอุจจาระได้ดี
เกลือ รสเค็ม สรรพคุณ รักษาเนื้อหนังไมให้เน่าเปื่อย บำรุงธาตุทั้ง 4 แก้น้ำดีพิการ แก้น้ำเหลืองเสีย
จุนสี รสเปรี้ยวฝาด สรรพคุณ กัดล้างหัวฝี กัดหัวหูด คุดทะราด รักษาโรคฟัน (ระวังถ้าแพ้ ฟันจะโยกหลุดได้)
ดินประสิว สรรพคุณ ขับลมที่คั่งค้างตามเส้น ทำให้เส้นเอ็นหย่อน ถอนพิษ แก้คันตามผิวหนัง
พิมเสนเกล็ด สรรพคุณ แก้ลมวิงเวียนหน้ามืด บำรุงหัวใจ ทำให้จิตใจชุ่มชื่น ทำให้เรอ และผายลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง แก้แผลสด แผลเรื้อรัง
น้ำตาลกรวด สรรพคุณ แก้คอแห้ง ชูกำลัง ทำให้เนื้อหนังชุ่มชื่น
ดินเหนียว สรรพคุณ ดูดลมให้ลงเบื้องต่ำ ถอนพิษอักเสบ
ดินขุยปู สรรพคุณ แก้พิษกาฬ แก้ไขป่วง แก้ไขที่มีพิษร้อน
ดินรังหมาร่า สรรพคุณ แก้กระหายน้ำ ดับพิษร้อนถอนพิษอักเสบ
ดินท้องเรือจ้าง สรรพคุณ แก้เลือดออกตามไรฟัน ทำให้หนังชุ่มชื่น
ดินถนำถ้ำ สรรพคุณ แก้ตาแฉะ ตาอักเสบ
ดินถนำส้วม สรรพคุณ แก้ตาแฉะ ตาอักเสบ
ดินสอพอง สรรพคุณ ห้ามเหงื่อ แก้เม็ดผดผื่นคัน ระงับพิษที่เกิดขึ้นในร่างกาย ทำให้ร่างกายเย็น
ตะกั่วนมและตะกั่วแข็ง ผสมกับน้ำมันรักษาบาดแผล แก้พิษอักเสบต่าง ๆ
4.2 ธาตุที่สลายตัวยาก
เหล็ก ใช้สนิมทำยา สรรพคุณ บำรุงโลหิต แก้ตับทรุด ม้ามโตย้อย แก้คุดทะราด และผสมยาแก้ไข้จับสั่น
หินฟันม้า มีตามภูเขา ลักษณะเป็นชี้ ๆ คล้ายฟันม้า สีเหมือนปูนแห้ง สรรพคุณ ดับพิษทั้งปวง แก้พิษในปาก แก้คออักเสบบวม
หินเขี้ยวมังกร มีลักษณะเหมือนเขี้ยวสัตว์ใหญ่แข็งมาก เกิดตามหน้าผา หรือตามภูเขาในประเทศจีน สรรพคุณ บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท แก้โรคประสาท แก้สะดุ้ง ตกใจผวา
แก้วแกลบ มีลักษณะเป็นเกล็ดขาวบาง เกิดขึ้นตามภูเขาที่มีหินผุ ๆ รสเย็น กร่อยสรรพคุณ ขับปัสสาวะ แก้พิษโลหิตน้ำเหลือง และโรคตา
ทองคำ เกิดจากแร่ใต้ดิน เป็นธาตุแท้สีเหลือง สรรพคุณ บำรุงเนื้อหนังให้เจริญดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้พิษอักเสบ แก้สะดุ้งผวา
หินปะการัง สรรพคุณ แก้พิษไข้ ไข้กาฬ และฝีที่มีพิษอักเสบ
บัลลังก์ศิลา (หินอ่อนจีน) เกิดในประเทศจีน สีขาวขุ่นมัว สีเทาบ้าง สีแดง สลับบ้าง รสเย็น สรรพคุณ แก้พิษอักเสบ แก้ปวดร้อน ดับพิษทุกอย่าง ห้ามเหงื่อ ใช้โรค แผลเรื้อรัง และกามโรค
นมผา เป็นหินงอกย้อยออกมาแล้วแห้งแข็ง หินจำพวกนี้ เนื้อผุ ๆ มีเกิดตามภูเขาทางภาคเหนือ สรรพคุณ ผสมยาหยอดตา แก้ตาอักเสบขุ่นมัวฝ้าฟางให้แจ่มใสใช้ฝนกับสุรา ทาตามผิวหนัง แก้ปวดแสบร้อน แก้โรคประดงบางจำพวก
หรดาลกลีบทอง เป็นสารชนิดหนึ่งอยู่ใต้ดิน เป็นก้อนคล้ายสารหนู มีสีเหลือง เป็นเงาและไม่เป็นเงา สรรพคุณ ใช้ผสมยากวาด แก้เม็ดยอดในปากเด็ก แก้ซางในปากเด็ก ใช้ผสมยากัดขนหนวด เครา ให้ร่วงหลุดไป
ศิลายอนตัวผู้ เกิดในประเทศจีน เป็นหินอ่อนชนิดหนึ่งสีขาวใสคล้ายสารหนู สรรพคุณ แก้เสมหะ แก้ท้องเสีย และใช้อันบังเกิดเพื่อดี
ศิลายอนตัวเมีย สรรพคุณ แก้ไขฟกบวม แก้ฝีเส้น ฝีเอ็น ฝีคัณฑมาลา

5. ตัวยาเรียกได้หลายชื่อ
ตัวยาที่เรียกได้ 2 ชื่อนี้ มิได้เป็นมาตรฐานเท่าใดนัก บางตำราก็เรียกไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับตำราที่กล่าวไว้นี้ เพราะด้วยประเทศถิ่นที่อยู่นั้น เรียกกันตามที่อยู่ของตนไป เมื่อรวมความแล้วก็เป็นตัวยา อย่างเดียวกัน มีชื่อจะกล่าวดังต่อไปนี้
- ต้นทิ้งถ่อน เรียกอีกชื่อว่า พระยาฉัตรทัน
- ต้นตะโกนา เรียกอีกชื่อว่า พระยาช้างดำ
- หนาวเดือนห้า เรียกอีกชื่อว่า พระขรรค์ไชยศรี
- ร้อนเดือนห้า เรียกอีกชื่อว่า ต้นมะไฟเดือนห้า
- กระพังโหมใหญ่ เรียกอีกชื่อว่า ตูดหมู
- กระพังโหมเล็ก เรียกอีกชื่อว่า ตูดหมา
- กระพังโหมน้อย เรียกอีกชื่อว่า ขี้หมาข้างรั้ว
- ผักบุ้ง เรียกอีกชื่อว่า ผักทอดยอด
- ผักกระเฉด เรียกอีกชื่อว่า ผักรู้นอน
- ต้นชิงชี่ เรียกอีกชื่อว่า ปู่เจ้าสมิงกุย
- เถาหญ้านาง เรียกอีกชื่อว่า ปู่เจ้าเขาเขียว หรือ หญ้าภัคคีนี
- เท้ายายม่อม เรียกอีกชื่อว่า ประทุมราชา
- เจตมูลเพลิง เรียกอีกชื่อว่า ลุกใต้ดิน
- ต้นช้าพลู เรียกอีกชื่อว่า ผักอีไร
- เปรียงพระโค เรียกอีกชื่อว่า น้ำมันในไขข้อกระดูกโค
- ผักเป็ด เรียกอีกชื่อว่า กินตีนท่า หรือหากินตีนท่า
- หยากไย่ไฟ, หญ้ายองไฟ เรียกอีกชื่อว่า อยู่หลังคา (นมจาก)
- ขี้ยาฝิ่น เรียกอีกชื่อว่า ขี้คารู
- สุรา เรียกอีกชื่อว่า กูอ้ายบ้า
- น้ำครำ เรียกอีกชื่อว่า น้ำไขเสนียด
- ต้นปีบ เรียกอีกชื่อว่า ก้องกลางดง
- ต้นชะเอม เรียกอีกชื่อว่า อ้อยสามสวน
- เถามะระขี้นก เรียกอีกชื่อว่า ผักไห
- เถาโคกกระสุน เรียกอีกชื่อว่า กาบินหนี
- ก้างปลา เรียกอีกชื่อว่า ปู่เจ้าคาคลอง
- เกลือกระดังมูตร เรียกอีกชื่อว่า เกลือเยี่ยว
- เถากระไดลิง เรียกอีกชื่อว่า กระไดวอก
- กระบือเจ็ดตัว เรียกอีกชื่อว่า กระทู้เจ็ดแบก
- แก่นขนุน เรียกอีกชื่อว่า กรัก
- หญ้าพองลม เรียกอีกชื่อว่า ปู่เจ้าลอยท่า
- กำแพงเจ็ดชั้น เรียกอีกชื่อว่า ตะลุ่มนก
- กาสามปีก เรียกอีกชื่อว่า กาจับหลัก, หญ้าสองปล้อง
- กระเช้าผีมด เรียกอีกชื่อว่า หัวร้อยรู
- ต้นกำลังช้างเผือก เรียกอีกชื่อว่า พระยาข้างเผือก
- ต้นกำลังวัวเถลิง เรียกอีกชื่อว่า กำลังทรพี
- ต้นกำลังเสือโคร่ง เรียกอีกชื่อว่า กำลังพระยาเสือโคร่ง
- ต้นกำลังหนุมาน เรียกอีกชื่อว่า กำลังราชสีห์
- แก่นกำเกรา เรียกอีกชื่อว่า ตำเสา
- บัวบก เรียกอีกชื่อว่า ผักหนอก
- ขอบชะนางแดง เรียกอีกชื่อว่า หนอนตายอยากแดง
- ขอบชะนางขาว เรียกอีกชื่อว่า หนอนตายอยากขาว
- ดอกสลิด เรียกอีกชื่อว่า ดอกขจร
- ต้นกรรณิกา เรียกอีกชื่อว่า สุพันนิกา
- ดอกคำฝอย เรียกอีกชื่อว่า คำยอง
- ดอกคำไทย เรียกอีกชื่อว่า ดอกชาติ
- ฆ้องสามย่านตัวผู้ (นิลพัต) เรียกอีกชื่อว่า ต้นคว่ำตายหงายเป็น
- ต้นเหงือกปลาหมอ เรียกอีกชื่อว่า ต้นแก้มคอ
- ต้นฆ้องสามย่าน เรียกอีกชื่อว่า ส้มกระเช้า
- ต้นจามจุรี เรียกอีกชื่อว่า ก้ามกราม, ก้ามปู
- ต้นช้างงาเดียว เรียกอีกชื่อว่า หนามคาใบ
- ต้นตีนเป็ดเครือ เรียกอีกชื่อว่า เถาเอ็นอ่อน
- ต้นตีนเป็ดต้น เรียกอีกชื่อว่า พระยาสัตบัน
- ต้นตีนเป็ดน้ำ เรียกอีกชื่อว่า พะเนียงน้ำ
- เม็ดเทียนขาว เรียกอีกชื่อว่า ยี่หร่า
- เทียนตาตั๊กแตน เรียกอีกชื่อว่า ผักชีลาว
- ต้นเทียนเยาวพาณี เรียกอีกชื่อว่า ผักชีกระเหรี่ยง
- ต้นโทงเทง เรียกอีกชื่อว่า โคมจีน, โคมญี่ปุ่น
- ต้นทองระอา เรียกอีกชื่อว่า ลิ้นงูเห่า
- ผักเสี้ยนผี เรียกอีกชื่อว่า ไปนิพพานไม่รู้กลับ
- หางไหลขาว เรียกอีกชื่อว่า โล่ติ๊น
- หางไหลแดง เรียกอีกชื่อว่า กะลำเพาะ
- สมออัพยา เรียกอีกชื่อว่า ลูกสมอไทย
- สมอร่องแร่ง คือลูกสมอชนิดหนึ่งก้านยาว ห้อยร่องแร่งอยู่
- บอระเพ็ดตัวผู้ คือ เถาชิงช้าชาลี แต่บอระเพ็ดตัวเมียคือเถาบอระเพ็ดที่มีตุ่ม

6. ตัวยาที่มีสรรพคุณใกล้เคียงกัน
ตัวยาที่มีสรรพคุณใกล้เคียงกัน หรือมีสรรพคุณเสมอกันนั้น สามารถนำมาใช้แทนกันได้ เพราะตัวยาบางอย่างที่ต้องการ หรือมีในตำรายานั้น ไม่มีหรือขาดไป หรือตัวยาบางอย่างต้องนำมาจากต่างประเทศ บางครั้งตัวยาเกิดขาดตลาด จะรอให้ส่งมาจากต่างประเทศ คนไข้ก็คงจะไม่ได้รับประทานยาเป็นแน่ ดังนั้นแพทย์และเภสัชกรแผนโบราณ จึงได้คิดค้นหาตัวยาบางอย่างที่พอหาได้ พอจะมีสรรพคุณทัดเทียมกัน เพื่อจะได้นำมาปรุงเป็นยาเพื่อรักษาโรค ตัวยาที่มีสรรพคุณใกล้เคียงกัน และพอจะใช้แทนกันได้นั้นมีดังนี้ คือ
- โกฐสอ มีสรรพคุณเสมอกับ ข่าลิง
- โกฐเขมา มีสรรพคุณเสมอกับ ทรงบาดาล
- โกฐหัวบัว มีสรรพคุณเสมอกับ หัวกระเทียม
- โกฐเชียง มีสรรพคุณเสมอกับ ไพล
- โกฐจุฬาลัมพา มีสรรพคุณเสมอกับ หญ้าตีนนก
- โกฐกระดูก มีสรรพคุณเสมอกับ หัวกะทือ
- โกฐก้านพร้าว มีสรรพคุณเสมอกับ ชิงช้าชาลี
- โกฐน้ำเต้า มีสรรพคุณเสมอกับ หัวเปราะป่า
- กะเม็ง มีสรรพคุณเสมอกับ ผักคราด
- กะเพรา มีสรรพคุณเสมอกับ แมงลัก
- แก่นประดู่ มีสรรพคุณเสมอกับ แก่นมะชาง
- เกลือสมุทร มีสรรพคุณเสมอกับ เกลือประสะ
- เกลือสินเธาว์ มีสรรพคุณเสมอกับ สมอทั้ง 3
- ดีปลี มีสรรพคุณเสมอกับ ขิง
- บอระเพ็ด มีสรรพคุณเสมอกับ ชิงช้าชาลี
- ยางเทพทาโร มีสรรพคุณเสมอกับ ยางสลัดได
- เปลือกตาเสือ มีสรรพคุณเสมอกับ เปลือกนนทรี
- กานพลู มีสรรพคุณเสมอกับ ลูกจันทน์
- เปลือกแคแดง มีสรรพคุณเสมอกับ เปลือกแคขาว
- หัศคุณเทศ มีสรรพคุณเสมอกับ หัสคุณไทย
- สารส้ม มีสรรพคุณเสมอกับ เหง้าสับปะรด
- โคกกระสุน มีสรรพคุณเสมอกับ นมพิจิตร
- ใบเงิน มีสรรพคุณเสมอกับ ใบทอง
- น้ำมะกรูด มีสรรพคุณเสมอกับ น้ำมะนาว
- ด่างสลัดได มีสรรพคุณเสมอกับ ด่างโคกกระสุน
- หนอนตายหยาก มีสรรพคุณเสมอกับ กะเพียด
- ขมิ้นอ้อย มีสรรพคุณเสมอกับ ขมิ้นชัน
- กาหลง มีสรรพคุณเสมอกับ จิก
- ผักเสี้ยนทั้ง 2 มีสรรพคุณเสมอกับ หญ้าพันงูทั้ง 2
- มะไฟเดือนห้า มีสรรพคุณเสมอกับ หญ้าปากควาย
- น้ำตาลทราย มีสรรพคุณเสมอกับ น้ำตาลกรวด
- มะแว้งต้น มีสรรพคุณเสมอกับ มะแว้งเครือ
- มะกรูด มีสรรพคุณเสมอกับ ส้มซ่า
- เมล็ดสลอด มีสรรพคุณเสมอกับ พาดไฉน
- เข็มแดง มีสรรพคุณเสมอกับ เข็มขาว
- ฝิ่นต้น มีสรรพคุณเสมอกับ ฝิ่นเครือ
- ดองดึง มีสรรพคุณเสมอกับ ผักโหมแดง
- ลูกกรวย มีสรรพคุณเสมอกับ ลูกบิด

7. การเก็บยา
การเก็บยาตามวิธีการของโบราณ ถ้าหากจะพิจารณาให้ดีแล้ว เห็นว่ามีความสำคัญมาก สำคัญทั้งทางด้านให้ได้ตัวยา มีสรรพคุณดีและทั้งทางด้านการสงวนพันธุ์ของพืชสมุนไพรของตัวยาให้คงไว้อยู่ตลอดไปเก็บยาต่าง ๆ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกาลเวลา วิธีการเก็บยาของแพทย์แผนโบราณมี 4 วิธี คือ การเก็บยาตามฤดู การเก็บยาตามทิศทั้ง 4 การเก็บยาตามวันและเวลา การเก็บยาตามยาม (กาลเวลา)
7.1 การเก็บตัวยาตามฤดู เก็บดังนี้
1) คิมหันตฤดู (ฤดูร้อน) เก็บ เหง้า หัว แก่น ราก จึงจะได้ยามีสรรพคุณดี
2) วสันตฤดู (ฤดูฝน) เก็บ ใบ ดอก ลูกหรือฝัก จึงจะได้ยามีสรรพคุณดี
3) เหมันตฤดู (ฤดูหนาว) เก็บ เปลือกไม้ กระพี้ และเนื้อไม้ จึงจะด้ามีสรรพคุณดี
7.2 การเก็บตัวยาตามทิศทางทั้ง 4
1) วันอาทิตย์ วันอังคาร เก็บยา ทิศตะวันออก
2) วันจันทร์ วันเสาร์ เก็บยา ทิศตะวันตก
3) วันพุธ วันศุกร์ เก็บยา ทิศใต้
4) วันพฤหัสบดี เก็บยา ทิศเหนือ
ในการเก็บยาตามทิศนี้ ให้ถือเอาที่อยู่ของหมอผู้เก็บยาเป็นศูนย์กลาง
7.3 การเก็บตัวยาตามวันและเวลา
1) วันอาทิตย์ เช้าเก็บต้น สายเก็บใบ เที่ยงเก็บราก เย็นเก็บเปลือก
2) วันจันทร์ เช้าเก็บราก สายเก็บแก่น เที่ยงเก็บใบ เย็นเก็บเปลือก
3) วันอังคาร เช้าเก็บใบ สายเก็บเปลือก เที่ยงเก็บต้น เย็นเก็บราก
4) วันพุธ เช้าเก็บราก สายเก็บเปลือก เที่ยงเก็บต้น เย็นเก็บแก่น
5) วันพฤหัสบดี เช้าเก็บแก่น สายเก็บใบ เที่ยงเก็บราก เย็นเก็บเปลือก
6) วันศุกร์ เช้าเก็บใบ สายเก็บราก เที่ยงเก็บเปลือก เย็นเก็บต้น
7) วันเสาร์ เช้าเก็บราก สายเก็บต้น เที่ยงเก็บเปลือก เย็นเก็บใบ
7.4 การเก็บตัวยาตามยาม(กาลเวลา)
1) กลางวัน
(06.00-09.00 น.) ยาม 1 เก็บ ใบ ดอก ลูก
(09.00-12.00 น.) ยาม 2 เก็บ กิ่ง ก้าน
(12.00-15.00 น.) ยาม 3 เก็บ ต้น เปลือก แก่น
(15.00-18.00 น.) ยาม 4 เก็บ ราก
2) กลางคืน
(18.00-21.00 น.) ยาม 1 เก็บ ราก
(21.00-24.00 น.) ยาม 2 เก็บ ต้น เปลือก แก่น
(24.00-03.00 น.) ยาม 3 เก็บ กิ่ง ก้าน
(03.00-06.00 น.) ยาม 4 เก็บ ใบ ดอก ลูก

8. ตัวยาประจำธาตุ
ในร่างกายของมนุษย์เราประกอบขึ้นจากธาตุทั้ง 4 ชนิด คือ ธาตุดิน 20 ประการ ธาตุน้ำ 12 ประการ ธาตุลม 6 ประการ ธาตุไฟ 4 ประการ และอากาศธาตุ คือ ช่องว่างในร่างกาย 10 ประการ ธาตุต่างๆเหล่านี้ถือเป็นที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค ฉะนั้น เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งเกิดเจ็บป่วยหรือพิการขึ้นมา ตามคัมภีร์ได้จัดลักษณะตัวยาประจำธาตุและรสยาแก้ตามธาตุไว้ดังนี้
8.1 ลักษณะตัวยาประจำธาตุ
ก. ดอกดีปลี ประจำ ปถวีธาตุ คือ ธาตุดิน 20 ประการ
ข. รากช้าพลู ประจำ อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ 12 ประการ
ค. เถาสะค้าน ประจำ วาโยธาตุ คือ ธาตุลม 6 ประการ
ง. รากเจตมูลเพลิง ประจำ เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ 4 ประการ
จ. เหง้าขิงแห้ง ธาตุอากาศ คือ ช่องว่างภายในร่างกาย 10 ประการ
8.2 รสยาแก้ตามธาตุ
ก. ปถวีธาตุพิการ แก้ด้วย ยารสฝาด หวาน มัน เค็ม
ข. อาโปธาตุพิการ แก้ด้วย ยารสเปรี้ยว เมาเบื่อ ขม
ค. วาโยธาตุพิการ แก้ด้วย ยารสสุขุม เผ็ด ร้อน
ง. เตโชธาตุพิการ แก้ด้วย ยารสเย็น จืด