บทที่ 2
เภสัชวัตถุ
9. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน
กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสมุนไพร โดยมีการร่างเป็นนโยบายไว้เป็นแผนพัฒนาการสาธารณสุข ฉบับที่ 6 เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขในระดับต่างๆ รวมถึงหมอพื้นบ้านลแพทย์แผนโบราณ ได้มีความรู้เรื่องสมุนไพรขั้นพื้นฐานเพื่อให้มีหลักในการศึกษาและเรียนรู้อย่างถูกต้อง ให้เข้าใจถึงประโยชน์และข้อจำกัดของสมุนไพรต่างๆ สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานมีดังนี้
กระเทียม
ชื่อท้องถิ่น หอมเทียม (เหนือ), กระเทียม หัวเทียม (ภาคใต้), กระเทียมขาว (อุดรธานี),หอมขาว(อุดรธานี), กระเทียม (กลาง), ปะเซวา (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช พืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่า หัว หัวมีกลีบย่อยหลายกลีบ ติดกันแน่น เนื้อสีขาว มีกลิ่นฉุนเฉพาะ บางครั้งในหนึ่งหัวมีกลีบเดียว เรียก กระเทียมโทน หัวค่อนข้างกลม ใบยาวแบน ปลายแหลม ภายในกลวง ดอกรวมกันเป็นกระจุกที่ปลายช่อ ดอกสีขาวอมเขียม หรือชมพูอมม่วง ผลมีขนาดเล็ก
ส่วนที่ใช้เป็นยา หัวใต้ดิน
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บในช่วงที่หัวแก่ อายุ 100 วันขึ้นไป
รสและสรรพยาคุณยาไทย รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้กลากเกลื้อน แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร
วิธีใช้ กระเทียมใชเป็นยารักษาอาการดังนี้
- อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด ใช้กลีบปอกเปลือก รับประทานดิบๆ ครั้งละประมาณ 5 – 7 (หนัก 5 กรัม) หลังอาหารหรือเวลามีอาการ
- อาการกลาก เกลื้อน ฝานกลีบกระเทียมแล้วนำมาถูกบ่อยๆ หรือตำคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นโดยใช้ไม้เล็กๆ ขูดบริเวณที่เป็น พอให้ผิวแดงๆ ก่อน แล้วจึงเอากระเทียมทาบ่อยๆ หรือวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น
กระวาน
ชื่อท้องถิ่น กระวานโพธิสัตว์ , กระวานจันทร์ (กลาง) ,กระวานดำ , กระวานแดง , กระวานขาว (กลาง , ตะวันออก)
ลักษณะของพืช
ปลูกโดยการแยกหน่อ ขึ้นในดินแทบทุกชนิด เจริญได้ดีที่ชุ่มชื้นและเย็น โดยเฉพาะใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ยังพบได้ในป่าที่มีความชื้นสูงทางภาคใต้ของประเทศไทย เวลาปลูกจะแยกหน่อออกจากต้นแม่ ถ้ามีลำต้นติดมาให้ตัดเหลือประมาณ 1 คืบ เพื่อลดการสูญเสียน้ำ นำหน่อไปชำในที่ชุ่มชื้น หรือจะนำลงปลูกเลยก็ได้ ดูแลความชื้นให้สม่ำเสมอ
กระวานเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจเพราะกระวานเป็นได้ทั้งเครื่องเทศและสมุนไพร ลูกกระวานทำรายได้ให้กับประเทศในปี พ.ศ. 2527 ส่งออกประมาณ 22.1 ตัน (มูลค่า 7 ล้านบาท) ส่งไปขายประเทศอังกฤษ จีนและญี่ปุ่น แหล่งปลูกอยู่จังหวัดยะลาและจันทบุรี
ส่วนที่ใช้เป็นยา ผลแก่
ช่วงเวลาที่เก็บยา ตั้งแต่เริ่มปลูกจนมีอายุ 4 – 5 ปี จึงจะเริ่มเก็บผลได้ ผลแก้เก็บในช่วงเดือนสิงหาคม – เดือนมีนาคม
รสและสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม เป็นยาขับลมและเสมหะ
วิธีใช้ 1. ผลกระวานแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด โดยเอาผลแก่จัดตากแห้งและบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1 ช้อนครึ่ง – 3 ช้อนชา (หนัก 1 – 2 กรัม) ชงกับน้ำอุ่น
- ผลกระวานยังใช้ผสมกับยาถ่าย เช่น มะขามแขก เพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง
กระเจี๊ยบแดง
ชื่อท้องถิ่น กระเจี๊ยบ , กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง) , ผักเก็งเค้ง , ส้มเก็งเค็ง (ภาคเหนือ) , ส้มตะเลงเคลง (ตาก) , ส้มปู (เงี้ยว – แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช
กระเจี๊ยบเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 3 – 6 ศอก ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ใบมีหลายแบบขอบใบเรียบ บางครั้งมีหยักเว้า 3 หยัก ดอกสีชมพู ตรงกลางจะมีสีเข้มกว่าส่วนนอกของกลีบ เมื่อกลีบดอกร่วงโรยไป กลีบรองดอกและกลีบเลี้ยงจะเจริญขึ้น มีสีม่วงแดงเข้มหุ้มเมล็ดไว้ภายใน
ส่วนที่ใช้เป็นยา กลีบเลี้ยงและกลีบรองดอก
ช่วงเวลาที่เก็บยา ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวใช้เวลา 4 – 4 เดือนครึ่ง
รสและสรรพคุณยาไทย กลีบรองดอก กลับเลี้ยงและใบ มีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยากัดเสมหะ
วิธีใช้ ใช้เป็นยารักษาอาการขัดเบา โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาจะหายไป
กะทือ
ชื่อท้องถิ่น กะทือป่า , กะแวน , แฮวดำ (ภาคเหนือ) , เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช กะทือเป็นพืชที่พบได้ตามบ้านในชนบท เป็นพืชล้มลุก ฤดูแล้งจะลงหัว เมื่อถึงฤดูฝน จะงอกใหม่หัวมีขนาดใหญ่ และมีเนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ต้นสูง 3 – 6 ศอก ใบเรียวยาว ออกตรงข้ามกัน ดอกเป็นช่อกลม อัดกันแน่นสีแดง และแทรกด้วยดอกสีเหลืองเล็กๆ
ส่วนที่ใช้เป็นยา หัวหรือเหง้าแก่สด
ช่วงเวลาที่เก็บยา ช่วงฤดูแล้ง
รสและสรรพคุณยาไทย รสขมและขื่นเล็กน้อย ขับลม แก้ปวดมวนแน่นท้อง แก้บิด บำรุงน้ำนม
วิธีใช้ หัวกะทือเป็นยารักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้อง โดยใช้หัวหรือเหง้าสดขนาดเท่าหัวแม่มือ 2 หัว (ประมาณ 20 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใสคั้นเอาน้ำดื่มเวลามีอาการ
กระชาย
ชื่อท้องถิ่น กะแอน , ระแอน (ภาคเหนือ) , ขิงทราย (มหาสารคาม) , ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ) , จี๊ปู , ชีฟู (ฉาน – แม่ฮ่องสอน) , เป๊าซอเร้าะ , เป๊าะสี่ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช กระชายเป็นไม้ล้มลุก สูงราว 1 – 2 ศอก มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า “ เหง้า ” รูปทรงกระบอกปลายแหลมจำนวนมาก รวมติดอยู่เป็นกระจุก เนื้อในสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะ เนื้อในละเอียดกาบใบสีแดงเรื่อ ใบใหญ่ยาวรีปลายแหลม ดอกเป็นช่อ สีขาวอมชมพู
ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าใต้ดิน
รสและสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดร้อนขม แก้ปวดมวนในท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อและบำรุงกำลัง
วิธีใช้ เหง้ากระชายรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด โดยนำเหง้าและรากประมาณครึ่งกำมือ (สดหนัก 5 – 10 กรัม แห้งหนัก 3 – 5 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มเวลา มีอาการ หรือปรุงเป็นอาหารรับประทาน
กะเพรา
ชื่อท้องถิ่น กะเพราขาว , กะเพราแดง (กลาง) , กอมก้อ (เหนือ)
ลักษณะของพืช เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก โคนต้นที่แก่เป็นไม้ที่เนื้อแข็ง ลำต้นและใบมีขนอ่อน ใยมีกลิ่นหอมฉุนรูปร่างรี ปลายใบและโคนใบแหลมหรือมนเล็กน้อย ขอบใบหยัก ดอกออกเป็นช่อ ดอกย่อยออกรอบแกนกลางเป็นชั้นๆ กะเพราปลูกเป็นพืชสวนครัวมีอยู่ทั่วไป มีกะเพราขาวและกะเพราแดง กะเพราะขาวมีส่วนต่างๆเป็นสีเขียว ส่วนกะเพราแดงจะมีส่วนต่างๆเป็นสีเขียวอมม่วงแดง
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบสดหรือแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บยา เก็บใบสมบูรณ์เต็มที่ ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป
รสและสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดร้อน เป็นยาตั้งธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น จุกเสียดในท้อง ใช้แต่งกลิ่นแต่งรสได้
วิธีใช้ ใบกะเพราแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียดและปวดท้อง โดยใช้ใบและยอดกะเพรา 1 กำมือ (ถ้าสดหนัก 25 กรัม แห้งหนัก 4 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มเหมาะสำหรับเด็กท้องอืด หรือนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานแก้ท้องอืดก็ได้ จำนวนยาและวิธีใช้แบบเดียวกันนี้ ใช้แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากธาตุไม่ปกติได้
กล้วยน้ำว้า
ชื่อท้องถิ่น กล้วยใต้ (ภาคเหนือ)
ลักษณะของพืช พืชล้มลุก ลำต้นสูง ลำต้นที่อยู่เหนือดินรูปร่างกลม มีกาบใบหุ้มซ้อนกัน ใบสีเขียวขนาดใหญ่ ก้านใบยาวและเห็นได้ชัดเจน ดอกออกที่ปลายเป็นช่อ ลักษณะห้อยลงยาว 1 – 2 ศอก เรียกว่า ปลี มีดอกย่อยออกเป็นแผง ผลจะติดกันเป็นแผงเรียกว่า หวี ซ้อนกันหลายหวีเรียกว่า เครือ
ส่วนที่ใช้เป็นยา ลูกดิบ หรือ ลูกห่าม
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บลูกกล้วยช่วงเปลือกยังเป็นสีเขียว ต้นกล้วยจะให้ผลในช่วงอายุ 8 – 12 เดือน
รสและสรรพคุณยาไทย ลูกดิบ รสฝาด ฤทธิ์ฝาดสมาน
วิธีใช้ กล้วยดิบรักษาอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรง โดยใช้กล้วยน้ำว้าห่ามรับประทานครั้งละครึ่งผลถึงหนึ่งผล หรือใช้กล้วยน้ำว้าดิบฝานเป็นแว่นตากแดดให้แห้ง บดเป็นผง ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งผลถึงหนึ่งผลหรือบดเป็นผง ปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอนรับประทานแล้วแล้วอาจมีอาการท้องอืดเฟ้อ ป้องกันได้โดยใช้ร่วมกับยาขับลม เช่น น้ำขิง พริกไทย เป็นต้น
กานพลู
ชื่อท้องถิ่น จันจี่ (ภาคเหนือ)
ลักษณะของพืช กานพลูเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบหนาเป็นมัน ถ้าเอาใบส่องแดดดู จะเห็นจุดน้ำมันอยู่ทั่วไปออกดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ดอกสีแดงอมชมพู
ส่วนที่ใช้เป็นยา ดอกกานพลูแห้งที่ยังมิได้สกัดเอาน้ำมันออก และมีกลิ่นหอมจัด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บดอกตูมช่วงที่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง ช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์
รสและสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ช่วยขับลม
วิธีใช้ 1. ดอกแห้งของกานพลูรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด โดยใช้ดอกแห้ง 5 – 8 ดอก (0.12 – 0.6 กรัม) ต้มน้ำดื่ม หรือบดเป็นผง ชงเป็นน้ำชาดื่ม
- ดอกกานพลูยังช่วยป้องกันไม่ให้เด็กอ่อนท้องขึ้น ท้องเฟ้อได้ โดนใช้ดอกแห้ง 1 – 3 ดอกแช่ไว้ในกระติกน้ำร้อนที่ใช้ชงนมให้เด็กอ่อน
ข่า
ชื่อท้องถิ่น ข่าตาแดง ข่าหยวก (ภาคเหนือ)
ลักษณะของพืช ข่ามีลำต้นที่อยู่ใต้ดิน เรียกว่า “เหง้า” เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจน เนื้อในสีเหลือง และมีกลิ่นหอมเฉพาะลำต้นที่อยู่เหนือดินสูงได้ถึง 6 เมตร ใบสีเขียวออกสลับข้างกัน รูปร่างรียาว ปลายแหลม ดอกออกเป็นช่อที่ยอดดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีขาวนวล ด้านในของกลีบดอกมีประสีแดงอยู่ด้านหนึ่ง ผลเปลือกแข็งรูปร่างกลมรี
ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าแก่ สด หรือแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ช่วงเวลาที่เหง้าแก่
รสและสรรพคุณยาไทย เหง้าข่า รสเผ็ดปร่า ขับลมแก้บวมฟกซ้ำ
วิธีใช้ เหง้าข่าใช้เป็นยารักษาโรคดังนี้
- อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด ทำได้โดยใช้เหง้าแก่สดหรือแห้ง ขยาดเท่าหัวแม่มือ (สดหนัก 5 กรัม แห้งหนัก 2 กรัม) ต้มน้ำดื่ม
- โรคกลากเกลื้อน เอาหัวข่าแก่ๆล้างให้สะอาด ฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบให้แตกนำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้ 1 คืน ทำความสะอาดบริเวณที่เป็นและใช้ไม้บางๆ ขูดให้เป็นผิวสีแดงๆ และใช้น้ำยาที่ได้มาทาบริเวณที่เป็น ทา 2 ครั้ง เช้า – เย็นทุกวัน จนกว่าจะหายาก
ขิง
ชื่อท้องถิ่น ขิงเผือก (เชียงใหม่) , ขิงแคลง , ขิงแดง (จันทบุรี) , สะเอ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช ขิงเป็นพืชล้มลุกมีแง่งใต้ดิน แง่งจะแตกแขนงคล้ายนิ้วมือ เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว ลำต้นที่อยู่เหนือต้นงอกจากแง่งตั้งตรงยาวราว 2 – 3 ศอก ใบสีเขียว เรียวแคบ ปลายใบแหลม ดอกเป็นช่องขนากเล็กก้านดอกสั้น ดอกสีเหลืองและจะบานจากโคนไปหาส่วนปลาย
ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าแก่สด
ช่วงเวลาที่เป็นยา เก็บเกี่ยวในช่วงอายุ 11 – 12 เดือน
รสและสรรพคุณยาไทย รสหวานเผ็ดร้อน แก้ลมจุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียนอาเจียน
วิธีใช้ เหง้าขิงใช้เป็นยารักษาอาการต่างๆ ดังนี้
- อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และอาการคลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากธาตุไม่ปกติ เมารถ เมาเรือ โดยใช้เหง้าแก่สดขยาดเท่าหัวแม่มืด (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม
- อาการไอ มีเสมหะ ฝนกับน้ำมะนาว รหือใช้เหง้าสดตำผสมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำและแทรกเกลือเล็กน้อย ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
ขลู่
ชื่อท้องถิ่น หนวดงิ้ว , หนาดงัว , หนาดวัว (อุดรธานี) , ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน) , คลู (ใต้)
ลักษณะของพืช ขลู่เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ยอดและใบสีเขียวอ่อน ใยกลมมน ปลายใบหยัก ดอกออกเป็นช่อประกอบด้วยดิกเล็กๆ สีขาวอมม่วง
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใช้ทั้งห้า ทั้งสดและแห้ง (นิยมใช้เฉพาะใบ)
รสและสรรพคุณยาไทย สรรพคุณขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ
วิธีใช้ ใช้เป็นยาแก้อาการขัดเบา วันละ 1 กำมือ (สดหนัก 40 – 50 กรัม แห้งหนัก 15 – 20 กรัม) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำดื่ม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (หรือ 75 มิลลิลิตร)
ขมิ้น
ชื่อท้องถิ่น ขมิ้น (ทั่วไป) , ขมิ้นแกง , ขมิ้นหยวก , ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้มิ้น , หมิ้น (ภาคใต้) , ตายอ (กะเหรี่ยง – กำแพงเพรช) , ละยอ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช พืชล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้าขมิ้นสีเหลืองเข้มจน สีแสดจัด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวใบรูปเรียวยาว ปลายแหลม คล้ายใบพุทธรักษา มีก้านช่อแทงจากเหง้าโดยตรง ดอกมีสีขาวอมเหลือง มีกลีบประดับสีเขียวอมชมพู
ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าสดและแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บในช่วงอายุ 9 – 10 เดือน
รสและสรรพคุณยาไทย รสฝาด กลิ่นหอม แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ขับลม แก้ท้องร่วง
วิธีใช้ เหง้าขมิ้นใช้เป็นยารักษาอาการดังนี้
- อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และอาหารไม่ย่อย โดยล้างขมิ้นให้สะอาด (ไม่ต้องปอกเปลือก) หั่นเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดจัดสัก 1 – 2 วัน บดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเมล็ดขนาดปลายนิ้วก้อย เก็บในขวดสะอาด กินครั้งละ 2 – 3 เม็ด วันละ 3 – 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน บางคนกินขมิ้นแล้วท้องเสีย ให้หยุดยาทันที
- ฝี แผลพุพองและแก้อาการแพ้อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย โดยเอาเหง้ายาวประมาณ 2 นิ้ว ฝนกับน้ำต้มสุกทาบริเวณที่เป็น วันละ 3 ครั้ง หรือใช้ผงขมิ้นโรยทาบริเวณที่มีอาการผื่นคันจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้
ขี้เหล็ก
ชื่อในท้องถิ่น ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) , ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง) , ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) , ผักจี้ลี้ (เงี้ยว – แม่ฮ่องสอน) , ยะหา (ปัตตานี) , ขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้)
ลักษณะของพืช
ขี้เหล็กเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางใบเป็ยใบประกอบ ประกอบด้วยใบย่อยประมาณ 10 คู่ใบเรียวปลายใบมนหยักเว้าหาเส้นกลางใบเล็กน้อย โคนใบกลมสีเขียว ใต้ใบซีดกว่าด้านบนใบ และมีขนเล็กน้อยดอกเป็นช่อสีเหลือง ฝักแบนหนา มีเมล็ดอยู่ข้างใน
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบอ่อนและดอก
รสและสรรพคุณยาไทย ดอกตูมและใบอ่อน รสขม ช่วยระบายท้อง ดอกตูมทำให้ นอนหลับ เจริญอาหาร
วิธีใช้ ขี้เหล็กใช้เป็นยารักษาอาหารท้องผูก และอาการนอนไม่หลับ ทำได้ดังนี้
- อาการท้องผูก ใช้ใบขี้เหล็ก (ทั้งใยอ่อนและใบแก่) 4 – 5 กำมือ ต้มเอาน้ำดื่มก่อนอาหารหรือเวลามีอาการ
- อาการนอนไม่หลับ กังวลเบื่ออาหาร ให้ใช้ใบแห้งหนัก 30 กรัม หรือใช้ใบสดหนัก 50 กรัม ต้มเอาน้ำรับประทานก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนทำเป็นยาดองเหล้า (ใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่ไว้ 7 วัน คนทุกวันให้ น้ำยาสม่ำเสมอ กรองกากยาออก จะได้ยาดองเหล้าขี้เหล็ก) ดื่มครั้งละ 1 – 2 ช้อนชาก่อนนอน
คูน
ชื่อท้องถิ่น ลมแล้ง (ภาคเหนือ) , ลักเกลือ , ลักเคย (ปัตตานี) , ชัยพฤกษ์ , ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง) , กุเพยะ (กะเหรี่ยง)
ลักษณะของพืช คูนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ใบรูปไข่ปลายแหลม ดอกเป็นช่อระย้าสีเหลือง และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ฝักรูปร่างกลมยาว เวลาอ่อนฝักมีสีเขียวแก่จัดเป็นสีน้ำตาล
ส่วนที่ใช้เป็นยา เนื้อในฝักแก่
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บช่วงฝักแก่ เปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม
รสและสรรพคุณยาไทย ราหวานเอียนเล็กน้อย สรรพคุณเป็นยาระบาย ทำให้ถ่ายสะดวก ไม่มวนไม่ไซ้ท้อง
วิธีใช้ เนื้อในฝักคูนแก้อาการท้องผูก ทำได้โดยเอาเนื้อในฝักแก่ก้อนเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 4 กรัม) ต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอนหรือตอนเช้าก่อนอาหารเหมาะเป็นยาระบายสำหรับคนที่ท้องผูกเป็นประจำและสตรีมีครรภ์ก็ใช้ฝักคูนเป็นยาระบายได้
ชุมเห็ดเทศ
ชื่อท้องถิ่น ชุดเห็ดใหญ่ (ภาคกลาง) , ขี้คาก , ลับมึนหลวง , หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ) , ส้มเห็ด (เชียงราย) , จุมเห็ด (มหาสารคาม) , ตะลีพอ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช ชุมเห็ดเทศเป็นไม้พุ่ม ใบรูปใข่หรือรูปใข่ขอบขนาน ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน เรียงตัวเป็นแบบใบประกอบ ดอกเป็นช่อสีเหลือง ฝักแบนยาว มีปีก 4 ปีก เมล็ดในรูปสามเหลี่ยม
ส่วนที่ใช้เป็นยา ดอกสด , ใบสดหรือแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบชุมเห็ดเทศขนาดกลาง ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ต้องเก็บก่อนออกดอก , เก็บดอกสดเป็นยา
รสและสรรพคุณยาไทย รสเบื่อเอียน ใบตำทาแก้กลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ดอกและใบต้มรับประทานแก้อาการท้องผูก
วิธีใช้ ใบและดอกชุมเห็ดเทศใช้เป็นยารักษาโรคและอาการดังนี้
- ท้องผูก ใช้ดอกขุมเห็ดเทศสด 2 – 3 ช่อ ต้มรับประทานกับน้ำพริก หรือนำใบสดมาล้างให้สะอาดหั่นตากแห้ง ใช้ต้มหรือชงน้ำดื่ม ครั้งละ 12 ใบ หรือใบแห้งบดเป็นผง ปั้นกับน้ำผึ้งเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยครั้งละ 3 เม็ด รับประทานก่อนนอน หรือเมื่อมีอาการท้องผูก
- โรคกลาก ใบชุมเห็ดเทศสด ขยี้หรือตำในครกให้ละเอียด เติมน้ำเล็กน้อย หรือใช้ใบชุมเห็ดเทศกับหัวกระเทียมเท่าๆกัน ผสมปูนแดงที่กินกับหมากเล็กน้อย ตำผสมกัน ทาบริเวณที่เป็นกลาก โดยเอาไม้ไผ่ขูดผิวให้แดงก่อน ทาบ่อยๆจนหาย หายแล้วทาต่ออีก 7 วัน
- ฝีและแผลพุพอง ใช้ใบชุมเห็ดเทศและก้านสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วมยา แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 ชะล้างบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น ถ้าเป็นมาให้ใช้ประมาณ 10 กำมือ ต้มอาบ
ชุมเห็ดไทย
ชื่อท้องถิ่น ชุมเห็ดนา , ชุมเห็ดเล็ก , ชุมเห็ดควาย (ภาคกลาง) , ลับมืนน้อย (ภาคเหนือ) , ชุมเห็ดเขาควาย , เล็บมื่นน้อย (ภาคอีสาน) , พรมดาน (สุโขทัย)
ลักษณะของพืช ชุมเห็ดไทยเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกแขนงมาก ใบประกอบด้วย ใบย่อย 3 ใบ มีขนาดเล็กรูปกลมมนดอกสีเหลืองขนาดเล็ก ฝักเล็กแบนยาว เมล็ดรูปทรงกระบอก
ส่วนที่ใช้เป็นยา เมล็ดแห้งที่ผ่านการคั่วแล้ว
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บช่วงที่ฝักแห้งเป็นสีน้ำตาล
รสและสรรพคุณยาไทย กลิ่นหอม เป็นยาระบาย และขับปัสสาวะ
วิธีใช้ เมล็ดชุมเห็ดไทยใช้เป็นยารักษา
- อาการท้องผูก ใช้เมล็ดแห้งคั่ว 2 ช้อนคาว ถึง 2 ช้อนครึ่ง (จำนวน 10 – 13 กรัม)ต้มหรือชงน้ำร้อนดื่ม ดื่มแล้วอาจมีอาการง่วงนอน
- อาการขัดเบา ช่วยปัสสาวะ ใช้เมล็ดแห้งคั่ว วันละ 1 – 3 ช้อนคาว (จำนวน 5 – 15 กรัม)ใส่น้ำ 1 ลิตร แล้วตั้งไฟต้มให้เหลือ 600 มิลลิลิตร แบ่งดื่มวันละ 3 ครั้งๆละ 200 มิลลิลิตร หลังอาหาร
ดีปลี
ชื่อท้องถิ่น ดีปลีเผือก (ภาคใต้) , ประดงข้อ , ปานนุ (ภาคกลาง)
ลักษณะของพืช ดีปลีไม้เลื้อย ใบรูปไข่ โคนนมปลายแหลม เป็นใบเดี่ยว คล้ายใบย่านางแต่ผิวใบมันกว่าและบางกว่าเล็กน้อย ดอกไม้เป็นรูปทรงกระลอกปลายมน เมื่อแก่กลายเป็นผลสีแดง
ส่วนที่ใช้เป็นยา ผลแก่แห้ง (หมอยารียก ดอกดีปลี)
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ช่วงที่ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุก ตากแดดให้แห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดร้อนขม บำรุงธาตุ ขับลม แก้จุกเสียด
วิธีใช้ ผลแก่แห้งของดีปลี ใช้เป็นยารักษาอาการ ดังนี้
- อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง และแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ที่เกิดจากธาตุไม่ปกติโดยใช้ผลแก่แห้ง 1 กำมือ (ประมาณ 10 – 15 ดอก) ต้มเอาน้ำดื่ม ถ้าไม่มีดอกใช้เถาต้มแทนได้
- อาการไอ และขับเสมหะ ใช้ผลแก่แห้ง ประมาณครึ่งผล ฝนกับน้ำมะนาวแทรกเกลือกวาดคอ หรือจิบบ่อยๆ
ตำลึง
ชื่อท้องถิ่น ผักแคบ (ภาคเหนือ) , แคเด๊าะ ( กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช ตำลึงเป็นไม้เถามีอายุอยู่ได้หลายปี เมื่ออายุมากเถาจะใหญ่และแข็ง เถาสีเขียว ตามข้อมีมือเกาะใบออกสลับกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกสีขาว ข้างในมีเกสรสีเหลือง ผลคล้ายลูกแตงกวา แต่ขนาดเล็กกว่าผลดิบสีเขียว และมีลายขาว เมื่อสุกเต็มที่สีแดงสด ปลูกเป็นผักขึ้นตามริมรั้วบ้านตามชนบททั่วไป
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบสด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบที่สดและสมบูรณ์
รสและสรรพคุณยาไทย รสเย็น ใบสดตำคั้นน้ำแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยที่ทำให้ปวดแสบร้อนและคัน
วิธีใช้ ใช้เป็นยารักษาอาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ยุงกัด ถูกตัวบุ้ง ใบตำแย แพ้ละอองข้าว โดยเอาใบสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อยแล้วคั้นน้ำจากใบเอามาทาบริเวณที่มีอาการ พอน้ำแห้งแล้วทาซ้ำบ่อยๆ จนกว่าจะหาย
ตะไคร้
ชื่อท้องถิ่น จะไคร (ภาคเหนือ) , ไคร (ภาคใต้) , คาหอม (เงี้ยว – แม่ฮ่องสอน) , เชิดเกรบ , เหลอะเกรย (เขมร – สุรินทร์) , ห่อวอตะโป๋ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) , หัวสิงไค (เขมร – ปราจีนบุรี)
ลักษณะของพืช ตะไคร้เป็นพืชที่มีอายุหลายปี ลำต้นรวมกันเป็นกอ ใบยาวเรียว ปลายแหลมสีเขียวออกเทาและมีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อยาว มีดอกเล็กฝอยจำนวนมาก ผลมีขนาดเล็ก ไม่ค่อยติดดอกและผล ตะไคร้ปลูกง่ายเจริญงอกงามในดินแทบทุกชนิด
ส่วนมี่ใช้เป็นยา ลำต้นและเหง้าแก่ สดหรือแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บเหง้าและลำต้นแก่
รสและสรรพคุณยาไทย รสปร่ากลิ่นหอม บำรุงไฟธาตุ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ ทำให้เจริญอาหาร แก้คาว
วิธีใช้ ตะไคร้เป็นยารักษาอาการต่างๆ ดังนี้
- อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุดเสียด ใช้ลำต้นแก่สดๆ ทุบพอแหลก ประมาณ 1 กำมือ (ราว 40 – 60 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือประกอบเป็นอาหาร
- อาการขัดเบา ผู้ที่ปัสสาวะขัด ไม่คล่อง (แต่ต้องไม่มีอาการบวม) ให้ใช้ต้นแก่สดวันละ 1 กำมือ (สดหนัก 40 – 60 กรัม แห้งหนัก 20 – 30 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้งๆละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) ก่อนอาหาร หรือใช้เหง้าแก่ที่อยู่ใต้ดิน ฝานเป็นแว่นบางๆ คั่วไฟอ่อนๆ พอเหลือง ชงเป็นชาดื่มวันละ 3 ครั้งๆละ 1 ถ้วยชา พอปัสสาวะสะดวกแล้วจึงหยุดยา
เทียนบ้าน
ชื่อท้องถิ่น เทียนดอก , เทียนไทย , เทียนสวน(ภาคกลาง)
ลักษณะของพืช เทียนบ้านเป็นพืชล้มลุก ลำต้นอวบน้ำและมีขนเล็กน้อย ใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นหยักละเอียดดอกมีทั้งเดี่ยวและเป็นดอกรวม 2 – 3 ดอก มีหลายสี ผลรูปรี มีเมล็ดกลมอยู่ใน แก่แล้วแตกได้เอง
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบสา ดอกสด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบขนาดกลางที่สมบูรณ์
รสและสรรพคุณยาไทย ส่วนใหญ่หมอจีนใช้ใบของเทียนดอกขาว ตำพอกเล็บขบ และปวดตามนิ้วมือ หรือนิ้วเท้าถอนพิษปวดแสบ ปวดร้อน
วิธีใช้ ใช้ใบสดและดอกสดประมาณ 1 กำมือ ตำละเอียดและพอก ทาบริเวณที่เป็นฝีและแผลพุพองวันละ 3 ครั้ง (สีจากน้ำคั้นจะติดอยู่นาน จึงควรระวังการเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าและร่างกายส่วนอื่นๆ)
ทองพันชั่ง
ชื่อท้องถิ่น หญ้ามันไก่ , ทองพันชั่ง (ภาคกลาง)
ลักษณะของพืช ทองพันชั่งเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นมักเป็นสี่เหลี่ยม ใบรียาว ปลายแหลม ท้ายแหลม ดอกออกเป็นช่อสีขาว พบเป็นไม้ประดับทั่วไป
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบสดหรือราก (สดหรือแห้ง)
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ใบเก็บช่วงที่สมบูรณ์เต็มที่
รสและสรรพคุณยาไทย ใบสดเบื่อเมา เป็นยาเย็นดับพิษไข้ รากป่นละเอียดแช่เหล้า 7 วัน ทาแก้กลากเกลื้อน ผื่นคัน
วิธีใช้ ใบสดหรือรากสดหรือแห้งของทองพันชั่ง ใช้รักษากลากเกลื้อน โดยใช้ใบ 5 – 8 ใบ หรือราก 2 – 3 ราก (จำนวนที่ใช้อาจเพิ่มหรือลดลงได้ตามอาการ) ตำให้ละเอียด แช่เหล้าหรือแอลกอฮอล์ 7 วัน นำมาทาบริเวณที่เป็นบ่อยๆจนกว่าจะหาย
ทับทิม
ชื่อท้องถิ่น พิลา (หนองคาย) , พิลาขาว , มะก่องแก้ว (น่าน) , มะเก๊าะ (ภาคเหนือ)
ส่วนที่ใช้เป็นยา เปลือกผลแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บในช่วงที่ผลแก่ ใช้เปลือก ผลตากแดดให้แห้ง
รสสรรพคุณยาไทย รสฝาด เป็นยาฝาดสมาน
วิธีใช้ เปลือกทับทิมใช้เป็นยาแก้ท้องเดินและบิด มีวิธีใช้ดังนี้
- อาการท้องเดิน ใช้เปลือกผลแห้งประมาณ 1 ใน 4 ของผล ฝนกับน้ำฝน หรือน้ำปูนใสให้ข้นๆ รับประทานครั้งละ 1 – 2 ช้อนแกง หรือต้มกับน้ำปูนใส แล้วดื่มน้ำต้มก็ได้
- บิด (มีอาการปวดเบ่งและมีมูก หรืออาจมีเลือดด้วย) ใช้เปลือกผลแห้งของทับทิม ครั้งละ 1 กำมือ (3 – 5 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มวันละ 2 ครั้ง อาจใช้กานพลู หรืออบเชย แต่งกลิ่นให้น่าดื่มก็ได้
น้อยหน่า
ชื่อท้องถิ่น น้อยแน่ (ภาคใต้), มะนอแน่ มะแน่ (ภาคเหนือ), มะออจ้า มะโอจ่า (เงี้ยว ภาคเหนือ), ลาหนัง (ปัตตานี) , หน่อเกล๊าแซ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) , หมักเขียบ (ภาคอีสาน)
ลักษณะของพืช น้อยหน่าเป็นพืชยืนต้น ใบเดี่ยวติดกับลำต้นใบรูปรี ปลายแหลมหรือมน ดอกเล็ก 4 กลีบ สีเหลืองอมเขียว กลิ่นหอม ลูกกลม มีตุ่มนูนรอบผล เนื้อสีขาว รสหวาน เมล็ดสีดำ
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบสดและเมล็ด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบสดและเมล็ด
รสและสรรพคุณยาไทย ใบแก้กลากเกลื้อนและฆ่าเหา ชาวชนบทมักเอาลูกตายมาฝนกับเหล้ารักษาแผล
วิธีใช้ ใบสดและเมล็ดน้อยหน่าใช้ฆ่าเหา โดยเอาเมล็ดน้อยหน่าประมาณ 10 เมล็ด หรือใบสดประมาณ 1 กำมือ (15 กรัม) ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำมะพร้าว 1 – 2 ช้อนโต๊ะ ขยี้ให้ทั่วศรีษะแล้วใช้ผ้าคลุมโพกไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง และสระผมให้สะอาด (ระวังอย่าให้เข้าตาจะทำให้แสบตา ตาอักแสบได้)
บอระเพ็ด
ชื่อท้องถิ่น เครือเขาฮอ จุ่งจะลิง (ภาคเหนือ) , เจตมูลพนาม (หนองคาย) , หางหนู (อุบลราชธานี) , ตัวเจตมูลยาน เถาหัวด้วย (สระบุรี) , เจ็ดหมุนย่าน (ภาคใต้)
ลักษณะของพืช บอระเพ็ดเป็นไม้เลื้อย มีปุ่มตามลำต้นกระจายทั่วไป ใบรูปเหมือนใบโพธิ์ ดอกออกเป็นช่อขนาดเล็กมาก สีเหลืองอมเขียว
ส่วนที่ใช้เป็นยา เถาหรือลำต้นสด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บเถาแก่
รสและสรรพคุณยาไทย รสขมจัด เย็น มีสรรพคุณ ระงับความร้อน แก้ไข้ทุกชนิด ช่วยเจริญอาหาร
วิธีใช้ ใช้เป็นยารักษาอาการดังนี้
- อาการไข้ ใช้เถาหรือต้นสด ครั้งละ 2 คืบ (30 – 40 กรัม) ตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือต้มกับน้ำโดยใช้น้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น หรือเวลามีอาการ
- อาการเบื่ออาหาร เป็นยาช่วยเจริญอาหาร โดยใช้ขนาดและวิธีการเช่นเดียวกับแก้ไข้
บัวบก
ชื่อท้องถิ่น ผักหนอก (ภาคเหนือ) , ประหนะเอขาเต๊าะ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช บัวบกเป็นพืชเลื้อย สูงขนาด 1 ฝ่ามือ มีรากงอกออกมาตามข้อของ ลำต้น ก้านใบงอกตรงจากดิน ใบสีเขียว รูปกลมรีเล็กน้อย ขอบใบเป็นคลื่น ดอกสีม่วงแดงเข้ม ใช้ข้อที่มีรากงอกมาปลูก
ส่วนที่ใช้เป็นยา ต้นสดและใบสด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบที่สมบูรณ์เต็มที่
รสและสรรพคุณยาไทย กลิ่นหอม รสขมเล็กน้อย แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า
วิธีใช้ บัวบกใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยเอาบักบกทั้งต้นสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาดและตำให้ละเอียดคั้นน้ำและเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นแผลบ่อยๆ ใช้กากพอกด้วยก็ได้
ปลาไหลเผือก
ชื่อท้องถิ่น แฮพันชั้น ตุงสอ (ภาคเหนือ) , คะนาง ชะนาง (ตราด) , หยิกบ่อถองเอียนด่อน (ภาคอีสาน) , ตรึงบาดาล (ปัตตานี) , กรุงบาดาล (สุราษฎร์ธานี) , เพียก (ภาคใต้)
ลักษณะของพืช ปลาไหลเผือก เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบเป็นใบประกอบ ใบย่อยแข็ง เรียวปลายแหลม ดอกเป็นช่อใหญ่ยาว สีเหลืองน้ำตาล ผลสีน้ำตาลรูปไข่
ส่วนที่ใช้เป็นยา รากแห้ง (รากกลมยาว เป็นเนื้อไม้ค่อนข้างแข็งสีขาว)
รสและสรรพคุณยาไทย รสขมจัด เบื่อเมาเล็กน้อย รากเป็นยาแก้ไข้ ตัดไข้ทุกชนิด
วิธีใช้ ใช้รากแห้งของปลาไหลเผือกแก้ไข้ได้ โดยใช้ครั้งละ 1 กำมือ (หนัก 8 – 15 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือเวลามีอาการ
ฝรั่ง
ชื่อท้องถิ่น มะนั่น, มะก้วยกา (ภาคเหนือ), บักสีดา (ภาคเหนือ), ย่าหมู, ยามู (ใต้), มะปุ่น (สุโขทัย, ตาก), มะแกว (แพร่)
ลักษณะของพืช ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ยอดอ่อนมีขนอ่อนสั้นๆ ใบเดี่ยวสีเขียว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปใบรี ปลายใบมนหรือมีติ่งแหลม โคนใบมน ออกดอกเป็น ช่อละ 2 – 3 ดอก ดอกย่อยสีขาวมีเกสตัวผู้มาก เป็นฝอย ผลดิบสีเขียว เมื่อสุกสีเขียวอ่อนปนเหลือง เนื้อในสีขาว มีกลิ่นเฉพาะ มีเมล็ดมาก
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบแก่สด หรือลูกอ่อน
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบในช่วงแก่เต็มที่ หรือลูกขณะยังอ่อน
รสและสรรพคุณยาไทย รสฝาด ฤทธิ์ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย
วิธีใช้ ลูกอ่อนและใบแก่ของฝรั่งแก้ท้องเสีย ท้องเดินได้ผลดีใช้เป็นยาแก้อาหาร ท้องเดินแบบไม่รุนแรงที่ไม่ใช้บิดหรืออหิวาตกโรค โดยใช้ใบแก่ 10 – 15 ใบ ปิ้งไฟแล้วชงน้ำรับประทาน หรือใช้ผลอ่อนๆ 1 ผล ฝนกับน้ำปูนใส รับประทานเมื่อมีอาการท้องเสีย
ผักบุ้งทะเล
ชื่อท้องถิ่น ละบูเลาห์ (มลายู – นราธิวาส)
ลักษณะของพืช ผักบุ้งทะเลไม้เลื้อย ลำต้นทอดตามดินได้ยาวมาก ใบรูปหัวใจปลายเว้าเข้าหากัน เนื้อใบหนาและกรอบน้ำ หักง่าย ดอกเหมือนดอกผักบุ้ง ผลเล็กและกลม
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบและเถาสด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบขนาดกลางที่สมบูรณ์เต็มที่
รสและสรรพคุณยาไทย ถอนพิษลมเพลมพัด (อาการบวมเปลี่ยนที่เป็นตามอวัยวะ ทั่วไป) ทำเป็นยาต้มอาบแก้คันตามผิวหนัง มีการบันทึกว่า ยางมีพิษ รับประทานแล้วเมา คลื่นไส้วิงเวียน
วิธีใช้ การใช้ผักบุ้งทะเลรักษาอาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย (โดยเฉพาะพิษของแมงกะพรุน) ทำได้โดยเอาใบและเถา 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาบริเวณที่บวมแดงบ่อยๆ
เพกา
ชื่อท้องถิ่น มะลิดไม้ ลิดไม้ มะลิ้นไม้ (ภาคเหนือ) , ลิ้นฟ้า (เลย)
ลักษณะของพืช เพกาเป็นไม้ยืนต้นสูง มีใบย่อยจำนวนมาก ใบเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ดอกเป็นช่อสีม่วงแดง ฝักแบนยาวคล้ายดาบ ภายในมีเมล็ดแบน มีปีกบางใส
ส่วนที่ใช้เป็นยา เมล็ด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บช่วงฝักแห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย ไม่มีข้อมูล
วิธีใช้ เมล็ดเพกาเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งใน “น้ำจับเลี้ยง” ของคนจีนที่ดื่มแก้ร้อนใน และเมล็ดใช้เป็นยาแก้ไอและขับเสมหะ โดยใช้เมล็ด ครั้งละ 1/2 – 1 กำมือ (หนัก 1 1/2 – 3 กรัม) ใส่น้ำประมาณ 300 มิลลิลิตร ต้มไฟอ่อนพอเดือดนานประมาณ 1 ชั่วโมง รับประทานวันละ 3 ครั้ง
พญายอ
ชื่อท้องถิ่น ผักมันไก่ ผักลิ้นเขียด (เชียงใหม่) , พญาปล้องดำ (ลำปาง) , เสลดพังพอนตัวเมีย พญาปล้องทอง (กลาง) , ลิ้นมังกร โพะโซ่จาง (กะเหรี่ยง)
ลักษณะของพืช เสลดพังพอนตัวเมีย เป็นไม้พุ่มแกมเลื้อย เถาะและใบสีเขียว ไม่มีหนาม ใบยาวเรียว ปลายแหลมออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ดอกออกช่ออยู่ที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมี 3 – 6 ดอก กลีบดอกเป็นหลอดปลายแยกสีแดงอมส้ม
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบ
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบขนาดกลางที่สมบูรณ์ ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป
รสและสรรพคุณยาไทย รสจืด
วิธีใช้ ใบพญายอ รักษาอาการอักเสบเฉพาะที่ (ปวด บวม แดง ร้อน แต่ไม่มีไข้) จากแมลงมีพิษกัดต่อย เช่น ตะขาบ แมงป่อง ผึ้งต่อย ต่อ แตน เป็นต้น โดยเอาใบสด 10 – 15 ใบ (มากน้อยตามบริเวณที่เป็น) ล้างให้สะอาด ใส่ลงในครกตำยา ตำให้ละเอียด เติมเหล้าขาวพอชุ่มยา ใช้น้ำและกากทาพอกบริเวณที่บวมหรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อย
พลู
ชื่อท้องถิ่น เปล้าอ้วน ซีเก๊ะ (มลายู – นราธิวาส) , พลูจีน (ภาคกลาง)
ลักษณะของพืช พลูเป็นไม้เลื้อย มีข้อ และปล้องชัดเจน ใบเดี่ยวติดกับลำต้นแบบสลับ คล้ายใบโพธิ์ปลายใบแหลม หน้าใบมัน ดอกออกรวมกันเป็นช่อแน่น
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบสด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบช่วงสมบูรณ์เต็มที่
รสและสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดเป็นยาฆ่าเชื้อโรค ขับลม ตามชนบทใช้ตำกับเหล้าทาบริเวณที่เป็นลมพิษ คนแก่ใช้ทาปูนแดงรับประทานกับหมาก
วิธีใช้ ใบพลู ใช้เป็นยารักษาอาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย ได้ผลดี กับอาการแพ้ลักษณะลมพิษโดยเอาใบ 1 – 2 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำเหล้าขาว ทาบริเวณที่เป็น ห้ามใช้กับแผลเปิด จะทำให้แสบมาก
ไพล
ชื่อท้องถิ่น ปูลอย , ปูเลย (ภาคเหนือ) , ว่านไฟ (ภาคกลาง) , มิ้นสะล่าง (เงี้ยว – แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช ไพลเป็นไม้ลงหัว มีเหง้าใหญ่ เนื้อสีเหลือง มีกลิ่นหอม ใบเรียวยาว ปลายแหลม ดอกออกรวมกันเป็นช่อ อยู่บนก้านช่อดอกที่แทงจากเหง้า
ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าแก่จัด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บเหง้าแก่จัด หลังจากต้นไพลลงหัวแล้ว
รสและสรรพคุณยาไทย สรรพคุณ แก้ฟกบวม เคล็ดยอก ขับลม ท้องเดินและ ช่วยขับระดู ประจำเดือนสตรี นิยมใช้เป็นยาหลังคลอดบุตร
วิธีใช้ เหง้าไพล ใช้เป็นยารักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกซ้ำ โดยใช้เหง้าประมาณ 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียดผสมเกลือเล็กน้อย คลุกเคล้ากัน นำมาห่อเป็นลูกประคบอังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อยและฟกซ้ำ เช้า – เย็น จนกว่าจะหาย หรือทำเป็นน้ำมันไพลไว้ใช้ก็ได้
ฟักทอง
ชื่อท้องถิ่น น้ำเต้า (ภาคใต้) , มะฟักแก้ว (ภาคเหนือ) , มะน้ำแก้ว (เลย) , หมักอื้อ (เลย – ปราจีนบุรี), หมากอี (ภาคอีสาน)
ลักษณะของพืช พืชล้มลุกที่มีเถายาวเลื้อยไปตามดิน มีหนาวยาวที่ข้อ ใบสีเขียวมีหยัก 5 หยัก ผิวใบจับดูจะรู้สึกสาก ดอกสีเหลือง รูปกระดิ่ง ผลมีขนาดใหญ่ ลักษณะกลมแบน ผิวขรุขระเป็นพู เนื้อในสีเหลืองจนถึงเหลืองอมส้มและเหลืองอมเขียว เมล็ดรูปไข่แบบจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้เป็นยา เมล็ดฟักทองแก่
รสและสรรพคุณยาไทย รสมัน ไม่มีระบุในสรรพคุณยาไทย แต่ยาจีนใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
วิธีใช้ ใช้เมล็ดฟักทองถ่ายพยาธิลำไส้ เหมาะกับการถ่ายพยาธิตัวตืดโดยใช้เมล็ดฟังทองประมาณ 60 กรัม ทุบให้แตกผสมกับน้ำตาลและนม หรือน้ำตาลที่เติมลงไปจนได้ปริมาณ 500 มิลลิลิตร แบ่งรับประทาน 3 ครั้ง ห่างกันทุกๆ 2 ชั่วโมง หลังจากให้ยาแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ให้รับประทานน้ำมันละหุ่งระบายตาม
ฟ้าทลายโจร
ชื่อท้องถิ่น ฟ้าทลายโจร น้ำลายพังพอน (กรุงเทพฯ) , หญ้ากันงู (สงขลา) ,ฟ้าสาง (พนัสนิคม) , เขยตายยายคลุม (โพธาราม) , สามสิบดี (ร้อยเอ็ด) , เมฆทลาย (ยะลา) , ฟ้าสะท้าน (พัทลุง)
ลักษณะของพืช ฟ้าทลายโจรเป็นพืชล้มลุก สูง 1 – 2 ศอก ลำต้นสี่เหลี่ยม แตกกิ่งเล็กด้านข้างจำนวนมากใบสีเขียว ตัวใบรียาว ปลายแหลม ดอกขนาดเล็ก สีขาว มีขอบกระสีม่วงแดง ฝักคล้ายฝักต้อยติ่ง เมล็ดในสีน้ำตาลอ่อน
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบ
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บในช่วงเริ่มออกดอก ใช้เวลาปลูกประมาณ 3 เดือน
รสและสรรพคุณยาไทย รสขม
วิธีใช้ ใบฟ้าทลายโจรใช้รักษาอาการท้องเสียและอาการเจ็บคอ มีวิธีใช้ 3 วิธีดังนี้คือ
- ยาต้ม ใช้ใบฟ้าทลายโจรสด 1 – 3 กำมือ (แก้อาการเจ็บคอ ใช้เพียง 1 กำมือ) ต้มกับน้ำนาน 10 – 15 นาที ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง หรือเวลามีอาการ ยาต้มฟ้าทลายโจรมีรสขมมาก
- ยาลูกกลอน นำใบฟ้าทลายโจรสด ล้างให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง (ควรผึ่งในร่มที่มีอากาศโปร่งห้ามตากแดด) บดเป็นผงให้ละเอียด ปั้นกับน้ำผึ้งเป็นเมล็ดยาลูกกลอน ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย หรือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร ผึ่งลมให้แห้ง เก็บไว้ในขวดแห้งและมิดชิด รับประทานครั้งละ 3 – 6 เมล็ด วันละ 3 – 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน
- ยาดองเหล้า นำใบฟ้าทลายโจรแห้ง ขยำให้เป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ในขวดแก้วใช้เหล้าโรง 40 ดีกรี แช่พอให้ท่วมยาเล็กน้อย ปิดฝาให้แน่น เขย่าขวด หรือคนยาวันละ 1 ครั้ง พอครบ 7 วัน กรองเอาแต่น้ำเก็บไว้ในขวดที่มิดชิดและสะอาด รับประทานครั้งละ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ (รสขมมาก) วันละ 3 – 4 ครั้ง ก่อนอาหาร
มะเกลือ
ชื่อท้องถิ่น มะเกือ มะเกีย (ภาคเหนือ) , เกลือ (ภาคใต้) , หมักเกลือ (ตราด)
ลักษณะของพืช มะเกลือ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ใบรูปไข่รี ปลายแหลม ดอกเป็นช่อใหญ่ประกอบด้วยดอกเล็ก สีเหลืองอมเขียว ผลกลมสีเขียว แก่กลายเป็นสีดำ ยางลูกมะเกลือ ใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีดำ
ส่วนที่ใช้เป็นยา ผลดิบสด (ผลแก่ที่มีสีเขียว ผลสุกสีเหลือง หรือผลสีดำห้ามใช้)
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ผลดิบสด
รสและสรรพคุณยาไทย รสเบื่อเมา สรรพคุณ ถ่ายพยาธิตัวตืด และพยาธิไส้เดือนตัวกลม
วิธีใช้ ชาวบ้านรู้จักใช้ลูกมะเกลือพยาธิมานานแล้ว ผลดิบสดของมะเกลือ (ผลแก่ที่มีสีขาว ผลสุกสีเหลือง หรือผลสีดำห้ามใช้) ได้ผลดีสำหรับพยาธิปากขอ และพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด) โดยใช้ผลสดสีเขียวไม่ช้ำไม่ดำจำนวนเท่ากับอายุคนใช้ (1 ปีต่อ 1 ผล) แต่ไม่เกิน 25 ผล (คนไข้ที่มีอายุเกินกว่า 25 ปี ก็ใช้เพียง 25 ผล) นำมาตำโขลกพอแหละแล้วผสมกับหัวกะทิ คั้นเอาแต่น้ำดื่มให้หมดก่อนรับประทานอาหารเช้า ถ้า 3 ชั่วโมง แล้วยังไม่ถ่ายให้ใช้ยาระบาย เช่น ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำดื่มตามลงไป
มะขาม
ชื่อท้องถิ่น มะขามไทย (กลาง) , ขาม (ใต้) , คะลูบ (นครราชสีมา) , ม่วงโคล้ง (กะเหรี่ยง – กาญจนบุรี) , อำเปียล (เขมร – สุรินทร์)
ลักษณะของพืช ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เปลือกต้นหนาขรุขระ ใบประกอบด้วยใบย่อยเรียงกัน 10 – 15 คู่ บนก้านกลางใบ ดอกสีเหลืองส้ม มีจุดประสีแดง ออกเป็นช่อ ฝักมีเปลือกค่อนข้างแข็งแต่บางและเปราะเนื้อในมีทั้งชนิดเปรี้ยวปและชนิดหวาน เมล็ดแก่สีน้ำตาลไหม้
ส่วนที่เป็นยา เนื้อฝักแก่ , เนื้อเมล็ดตาขามแก่
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บช่วงฝักแก่ เปลือกเป็นสีน้ำตาล
รสและสรรพคุณยาไทย เนื้อฝักแก่ รสเปรี้ยว เป็นยาระบาย ขับเสมหะ , เนื้อเมล็ดมะขามรสมัน ใช้ขับพยาธิ
วิธีใช้ ส่วนต่างๆ ของมะขามเป็นยารักษา
- อาการท้องผูก ใช้มะขามเปียกเปรี้ยว 10 – 20 ฝัก (หนัก 70 – 150 กรัม) จิ้มเกลือรับประทานแล้วดื่มน้ำตามมากๆ หรือเติมน้ำคั้นใส่เกลือเล็กน้อยดื่มเป็นน้ำมะขาม
- พยาธิไส้เดือนนำเอาเมล็ดแก่มาคั่วแล้วกะเทาะเปลือกออกเอาเนื้อในเมล็ดแช่น้ำเกลือจนนุ่มรับประทานครั้งละ 20 – 30 เมล็ด
- อาการไอ มีเสมหะ ใช้เนื้อในฝักแก่หรือมะขามเปียกจิ้มเกลือรับประทานพอสมควร
มะขามแขก
ลักษณะของพืช มะขามเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กเป็นพุ่มใบคล้ายมะขามไท แต่ยาวกว่าและปลายใบแหลมกว่าดอกเป็นช่อสีเหลือง คล้ายถั่วลันเตา แต่ป้อมและแบนกว่า
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบแห้งและฝักแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เริ่มเก็บใบได้ในช่วงอายุ 1 เดือนครึ่ง (หรือก่อนออกดอก)
รสและสรรพคุณยาไทย ใบและฝักใช้เป็นยาถ่าย ใบไซ้ท้องมากกว่าฝัก
วิธีใช้ มะขามแขกเป็นยาถ่ายที่ดีใช้รักษาอาการท้องผูก โดยใช้ใบแห้ง 1 – 2 กำมือ (หนัก 5 – 10 กรัม) ต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้วิธีบดเป็นผงชงน้ำดื่ม หรือใช้ฝัก 4 – 5 ฝัก ต้มกับน้ำดื่ม บางคนดื่มแล้วเกิดอาการไซ้ท้อง แก้ไขได้โดยใช้ร่วมกับยาขับลมจำนวนเล็กน้อย (เช่น กระวาน กานพลู เป็นต้น) มะขามแขกเหมาะกับคนที่ท้องผูกเป็นประจำ แต่ควรใช้เป็นครั้งคราวง
มะคำดีควาย
ชื่อท้องถิ่น ชะแช ซะเหบ่เด (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) , ประคำดีควาย (ภาคกลาง ภาคใต้) , มะชัก ส้มป่อยแถม (ภาคเหนือ)
ลักษณะของพืช มะคำดีควายเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบใหญ่ติดกับลำต้นแบบสลับ ประกอบด้วยใบย่อยรูปใบเรียวยาว หรือขอบใบค่อนข้างขนาดกัน ปลายและโคนใบแหลม เนื้อใบ 2 ข้างไม่เท่ากัน ดอกเล็กสีขาวอมเหลือหรืออมเขียว ดอกเป็นช่อยาว ผลค่อนข้างกลมสีส้ม
ส่วนที่ใช้เป็นยา ผลแก่
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บช่วงผลแก่ และตากแดดจนแห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย รสขม แก้กาฬภายใน แก้พิษไข้ ดับพิษร้อน ลูกต้มแล้วเกิดฟอง สุมหัวเด็ก แก้หวัด แก้รังแค ใช้ซักผ้าและสระผมได้
วิธีใช้ ผลมะคำดีควาย ใช้รักษาชันตุที่หัวเด็กได้ โดยเอาผลมาประมาณ 5 ผล แล้วทุบพอแตก ต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วย ทาที่หนังศีรษะ บริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น จนกว่าจะหาย (ระวังอย่าให้เข้าตาจะทำให้แสบตา)
มะนาว
ชื่อท้องถิ่น ส้มมะนาว , มะลิว (เชียงใหม่)
ลักษณะของพืช เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีหนามตามต้น ก้านใบสั้น ตัวใบรูปร่างกลมรี สีเขียว ขอบใบหยักเล็กน้อย ปลายและโคนใบมน ขยี้ใบดมดู มีกลิ่นหอม ดอกเล็กสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลกลมเปลือกบางเรียบ น้ำมาก รสเปรี้ยวจัด เปลือกผลมีน้ำกลิ่นหอม รสขม
ส่วนที่ใช้เป็นยา เปลือกและน้ำของลูกมานาว
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ช่วงผลสุก
รสและสรรพคุณยาไทย เปลือกผล รสขม ช่วยขับลม น้ำมะยาวรสเปรี้ยวจัดเป็นยาขับเสมหะ เมื่อก่อนตามชนบทเมื่อเด็กหกล้มหัวโน จะใช้น้ำมะนาวผสมกับดินสอพอง โปะบริเวณที่ หัวโน จะทำให้เย็นและยุบลง
วิธีใช้ เปลือกมะนาวและน้ำมะนาวใช้เป็นยาได้ โดยมีรายละเอียดการใช้ดังนี้
- เปลือกมะนาว รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด ให้นำเอาเปลือกของผลสด ประมาณครึ่งผล คลึง หรือทุบเล็กน้อยพอให้น้ำมันออก ชงน้ำร้อนดื่มเวลามีอาการ
- น้ำมะนาว รักษาอาการไอ และขับเสมหะ ใช้ผลสดคั้นน้ำจะได้น้ำมะนาวเข้มข้น และใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ หรือจะทำเป็นน้ำมะนาว ใส่เกลือและน้ำตาล ปรุงให้รสจัดสักหน่อยดื่มบ่อยๆ ก็ได้
มะพร้าว
ชื่อท้องถิ่น ดุง (จันทบุรี) , โพล (กาญจนบุรี) , คอล่า (แม่ฮ่องสอน) หมากอุ๋น หมากอูน (ทั่วไป)
ลักษณะของพืช มะพร้าว เป็นไม้ยืนต้นสูงถึง 20 – 30 เมตร ใบออกเรียงซ้อนกันเป็นกระจุกอยู่ที่ยอดใบ เป็นใบประกอบรูปขนนก ก้านใบยาว ใบยาวแคบ หนา เนื้อเหนียว สีเขียว ใบประกอบย่อยแตกจากแกนใหญ่เป็นคู่จำนวนมาก ดอกออกช่อ มีสีเหลืออยู่ในระหว่างซอกใบ ผลมีรูปร่างทรงกลมหรือกลมรี ผลอ่อนสีเขียว (หรือเหลือง) ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ เปลือกนอกเรียบ ชั้นกลางเป็นเส้นใยเนื้อนุ่ม ถัดไปเนื้อแข็งเรียกว่า กะลา จากนั้นจึงถึงเนื้อนุ่ม สีขาว รสมัน ข้างในมีน้ำใสรสหวาน ชอบที่ดินปนทราย ปลูกได้ทั่วไปปลูกมากทางภาคใต้
ส่วนที่ใช้เป็นยา น้ำมันมะพร้าว
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บในช่วงผลแก่ และนำมาเคี่ยวเป็นน้ำมัน
รสและสรรพคุณยาไทย รสมัน ทาแก้ปวดเมื่อยและขัดตามเส้นเอ็น เจือกับยาที่มีรสฝาด รักษาบาดแผลได้
วิธีใช้ ใช้น้ำมะพร้าว มาปรุงเป็นยารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก วิธีใช้ทำได้โดยการนำเอาน้ำมันมะพร้าว 1 ส่วน ใส่ในภาชนะคนพร้อมๆ กับเติมปูนใส 1 ส่วน โดยเติมทีละส่วนพร้อมกับคนไปด้วยคนจนเข้ากันดี แล้วใช้ทาที่แผลบ่อยๆ
มะแว้งเครือ
ชื่อท้องถิ่น มะแว้งเถา (กรุงเทพฯ) แคว้งเคีย (ตาก)
ลักษณะของพืช มะแว้งเครือ เป็นไม้เลื้อยหรือไม่พุ่ม มีหนาตามส่วนต่างๆ ใบรูปกลมรี ขอบใบหยักเว้า 2 – 5 หยัก ผิวใบอาจเรียบหรือมีหนามเล็กๆ ตามเส้นกลางใบ ดอกออกเป็นช่อ คล้ายดอกมะเขือ มีสีม่วง เกสรสีเหลือง ผลกลม ตอนดิบสีเขียวมีลายเล็กน้อย สุกเปลี่ยนเป็นสีแดงสด
ส่วนที่ใช้เป็นยา ผลแก่สด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ผลสุก
รสและสรรพคุณยาไทย รสขม เป็นยากัดเสมหะ
วิธีใช้ ใช้รักษาอาการไอและขับเสมหะ นำเอาผลแก่สด 5 – 10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำ ใส่เกลือรับประทานบ่อยๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อจนกว่าอาการ
จะดีขึ้น
มะแว้งต้น
ชื่อท้องถิ่น มะแว้งขม มะแว้งดำ (เหนือ) , มะแว้งคม (สุราษฎร์ธานี – สงขลา) , มะแว้ง แว้งชม (สงขลา สุราษฎร์ธานี)
ลักษณะของพืช มะแว้งต้น เป็นไม้พุ่ม มีขน และหนามแหลม กระจายอยู่ทั่วไป ใบคล้ายใบมะเขือพวง ดอกออกเป็นช่อสีม่วงซีด ผลกลม เมื่อสุกสีส้ม
ช่วงเวลาที่ใช้เป็นยา ผลแก่สด
รสและสรรพคุณยาไทย รสขม เป็นยาสกัดเสมหะ
วิธีใช้ ใช้รักษาอาการไอและขับเสมหะ นำเอาผลแก่สด 5 – 10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำใส่เกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ กินบ่อยๆ จนกว่าอาการ จะดีขึ้น
มะหาด
ชื่อท้องถิ่น หาด (กลาง) , หาดใบใหญ่ (ตรัง) , หาดขนุน (เหนือ) , กาแย ตาแป ตาแปง (นราธิวาส) , ปวกหาด (เชียงใหม่)
ลักษณะของพืช มะหาด เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบแก่ มีรูปใบเป็นรูปไข่ หรือขอบขนานรี ริมใบเรียบ ดอกเป็นช่อสีเหลือง ลูกกลม
ส่วนที่ใช้เป็นยา แก่นต้นมะหาด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา ช่วงอายุต้นมะหาด 5 ปีขึ้นไป
รสและสรรพคุณยาไทย ปวกหาดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด ละลายกับน้ำทาแก้ผื่นคัน
วิธีใช้ ผงปวกหาด เตรียมได้โดยการเอาแก่นมะหาดมาต้มเคี่ยวด้วยน้ำ จะมีฟอง เกิดขึ้นและช้อนฟองขึ้นมาตากแห้ง จะได้ผงสีเหลือง วิธีใช้ นำผงปวกหาดมาบดให้ละเอียด รับประทานกับน้ำสุกเย็น ครั้งละ 1 – 2 ช้อนชา (ประมาณ 3 – 5 กรัม) ก่อนอาหารเช้า หลัวจากรับประทานผงปวกหาดแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ให้รับประทานดีเกลือหรือยาถ่ายตาม ใช้ถ่ายพยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือน
ข้อควรระวัง ห้ามรับประทานผงปากหาดกับน้ำร้อน จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้
มังคุด
ชื่อท้องถิ่น แมงคุด (ไทย)
ลักษณะของพืช มังคุดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ใบใหญ่หนาและแข็ง ดอกเป็นช่อ แบ่งได้เป็นดอกตัวผู้กับดอกตัวเมีย ดอกตัวผุ้เป็นสีเหลืองอมแดง หรือสีม่วง ส่วนดอกตัวเมียสีชมพูเข้ม
ส่วนที่ใช้เป็นยา เปลือกผลแห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย รสฝาด แก้ท้องเสีย บิด มูกเลือด ในชนบททักใช้น้ำต้มเปลือกมังคุดล้างแผล ช่วยให้แผลหายเร็วๆ
วิธีใช้ มังคุดใช้เป็นยารักษา
- อาการท้องเสีย ใช้เปลือกผลตากแห้ง ต้มกับน้ำปูนใส หรือฝนน้ำดื่ม
- บิด (ปวดเบ่ง มีมูก และอาจมีเลือดด้วย) ใช้เปลือกผลแห้งประมาณ 1/2 ผล (4 กรัม)ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรือบดเป็นผงละลายน้ำข้าว (น้ำข้าวเช็ด) หรือน้ำสุกดื่มทุก 2 ชั่วโมง
ยอ
ชื่อท้องถิ่น ยอบ้าน(ภาคกลาง) , มะตาเสือ (ภาคเหนือ)
ลักษณะของพืช ยอ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบใหญ่หนาสีเขียว ดอกเล็กสีขาวเป็นกระจุก ผลกลมยาวรีมีตาเป็นปุ่มรอบผล ลูกอ่อนสีเขียวสด เปลี่ยนเป็นสีขาวนวลเมื่อสุก กลิ่นฉุน
ส่วนที่ใช้เป็นยา ผลดิบ หรือผลห่ามสด
รสและสรรพคุณยาไทย รสขมเล็กน้อย ผลยอแก้อาเจียน ขับลม บำรุงธาตุ
วิธีใช้ ตำราแพทย์แผนโบราณกล่าวว่า ใช้ผลยอหั่นปิ้งไฟพอเหลืองกรอบ ต้มเอาน้ำเป็นกระสายยาใช้ร่วมกับยาอื่น แก้คลื่นไส้อาเจียนได้ผล ในการทดลองพบว่า ผลยอไม่มีพิษเฉียบพลันและใช้เป็นอาหารจึงใช้เป็นยาแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ที่ไม่รุนแรงได้ เลือกเอาผลดิบหรือผลห่ามสด ฝานเป็นชิ้นบางๆ ย่างหรือคั่วไฟอ่อนๆ ให้เหลืองกรอบ ต้มหรือชงน้ำดื่ม ใช้ครั้งละ 2 กำมือ (11 – 15 กรัม) เอาน้ำที่ได่จิบทีละน้อยและบ่อยๆ ครั้ง จะได้ผลดีกว่าดื่มทีเดียว
ย่านาง
ชื่อท้องถิ่น จอยนาง (เชียงใหม่) , เถาวัลย์เขียว (ภาคกลาง) , เถาหญ้านางหญ้าภคินี (กลาง) ,จ้อยนาง (เชียงใหม่) , วันยอ (สุราษฎร์ธานี)
ลักษณะของพืช ย่านางเป็นไม้เลื้อย รูปใบคล้ายรูปไข่ หรือรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบเรียว แหลม โคนมน ดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ผลสีเหลืองแดง
ส่วนที่ใช้เป็นยา รากแห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย รากย่านางแก้ไข้ทุกชนิด
วิธีใช้ รากแห้งใช้แก้ไข้ โดนใช้ครั้งละ 1 กำมือ (หนัก 15 กรัม) ต้มดื่ม 3 ครั้งก่อนอาหาร
เร่ว
ชื่อท้องถิ่น มะอี้ หมากอี้(เชียงใหม่) , หมากเน็ง (อีสาน) , มะหมากอี้ผาลา (ฉาน – เชียงใหม่) ,หมากแน่ง (สระบุรี)
ลักษณะของพืช เร่วเป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าใต้ดิน ใบเรียวปลายแหลม ดอกออกเป็นช่อสีชมพู ลูกเป็นสีน้ำตาลค่าอนข้างกลมหรือรูปไข่
ส่วนที่ใช้เป็นยา เมล็ดใน
ส่วนเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บช่วงผลแก่
รสและสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดปร่า แก้คลื่นเหียนอาเจียน และขับผายลม
วิธีใช้ เมล็ดในของผลแก่ แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด บดเป็นผง กินครั้งละ 3 – 9 ผล (หนัก 1 – 3 กรัม) วันละ 3 ครั้ง
เล็บมือนาง
ชื่อท้องถิ่น จะมั่ง , จ๊ามั่ง , มะจีมั่ง (ภาคเหนือ) , ไท้หม่อง (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช เล็บมือนางเป็นไม้เลื้อย เถาแก่เป็นไม้เนื้อแข็ง ใบรูปรีหรือรูปไข่ ปลายแหลม โคนใบมนดอกเป็บช่อสีขาว แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีชมพู มีกลิ่นหอม ผลสีน้ำตาลแดงเป็นมัน มี 5 พู
ส่วนที่ใช้เป็นยา เมล็ด
ส่วนเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บเมล็ดแก่ช่วงที่เป็นสีน้ำตาล
รสและสรรพคุณยาไทย รสเอียน เบื่อเล็กน้อย ใช้พยาธิและตานทราง
วิธีใช้ เมล็ดเล็บมือนาง ใช้ถ่ายพยาธิไส้เดือน สำหรับเด็กใช้ 2 – 3 เมล็ด (หนัก 5 – 6 กรัม) ผู้ใหญ่ใช้ 5 – 7 เมล็ด (หนัก 10 – 15) ทุบพอแตก ต้มเอาน้ำดื่มหรือหั่นทอดกับไข่รับปราทาน
ว่านหางจระเข้
ชื่อท้องถิ่น ว่านไฟไหม้ (ภาคเหนือ) , ทางตะเจ้ (ภาคกลาง)
ลักษณะของพืช ว่านหางจระเข้เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอัฟริกา เป็นพืชล้มลุก ลำต้นสั้น ใบจะงอกขึ้นมาจากดินใบหนารูปร่างยาว ปลายแหลม ริมใบหยักและมีหนาม ใบสีเขียวใส และ มีรอยกระสีขาว ภายในใยมีวุ้นและเมือกมาก ดอกออกจากกลางตัดก็ช่อๆ ก้านดอกยาวมาก ดอกเป็นหลอด ปลายแยก สีส้มแดงออกสีเหลืองเล็กน้อย
ส่วนที่ใช้เป็นยา วุ้นจากใบ
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บในช่วงอายุ 1 ปี
รสและสรรพคุณยาไทย รสจืดเย็น โบราณใช้ทาปูนแดงปิดขมับ แก้ปวดศีรษะ
วิธีใช้ วุ้นจากใบรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยเลือกใบที่อยู่ส่วนในล่างของต้น เพราะใบใหญ่ได้วุ้นมากกว่าใบเล็กปอกเปลือกสีเขียวออกด้วยมีดที่สะอาดล้างยากให้สะอาดด้วยน้ำต้มสุกหรือน้ำด่างทับทิมขูดเอาวุ้นใสมาพอกบริเวณแผล ทา 2 ครั้ง เช้า – เย็น จนกว่าแผลจะหาย ช่วยระงับความเจ็บปวดช่วยให้แผลหายเร็วและไม่เกิดแผลเป็น วุ้นว่านหางจระเข้ยังใช้ทารักษาผิวไหม้ที่เกิดจากแดดเผาได้
ข้อควรระวัง ก่อนใช้ว่าน ทอสอบดูว่าแพ้หรือไม่ โดยเอาวุ้นทาบริเวณท้องแขน ด้านใน ถ้าผิวไม่คันหรือแดงก็ใช้ได้
สะแก
ชื่อท้องถิ่น สะแกนา (ภาคกลาง) , แก (ภาคอีสาน) , ขอยแข้ จองแข้ (แพร่) , แพ่ง (ภาคเหนือ)
ลักษณะของพืช สะแกเป็นไม้ยืนต้นใบรูปไข่หรือรูปรีปลายใบมนหรือแหลม โคนใยเรียนอืมเข้าหากัน ดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ผลเล็กมีปีกยื่น 4 พู
ส่วนที่ใช้เป็นยา เมล็ดแก่
ช่วงเวลาที่เก็บยา เก็บในช่วงที่ผลแก่
รสและสรรพคุณยาไทย ตามชนบทใช้เมล็ดสะแก ทอดกับไข่ให้เด็กรับประทาน ช่วยขับพยาธิไส้เดือนและเส้นด้าย
วิธีใช้ เมล็ดแก่แห้งของสะแก ใช้ถ่ายพยาธิไส้เดือน โดยใช้เมล็ดแก่ 1 ช้อนคาว (ประมาณ 3 กรัม) ตำให้ละเอียดทอดกับไข่ให้เด็กรับประทานตอนท้องว่าง
ข้อควรระวัง ห้ามรับปรานเกินขนาดที่กำหนด
สับปะรด
ชื่อท้องถิ่น มะขะนัด มะนัด (ภาคเหนือ) , บ่อนัด (เชียงใหม่) , ขนุนทอง ย่านัด ยานัด (ภาคใต้) , หมากนัด (ภาคอีสาน)
ลักษณะของพืช สับปะรดเป็นพืชล้มลุกหลายปี ลำต้นสั้นและแข็ง ใบออกสลับโดยรอบต้น ใบเรียวยาว ปลายแหลม ดอกออกเป็นช่อ ช่อดอกมีก้านยาว ผลรูปร่างเป็นไข่กลมหรือทรงกระบอก
ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าทั้งสดและแห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย รสหวานเย็น ช่วยขับปัสสาวะ
วิธีใช้ ใช้เหง้าสดหรือแห้ง แก้อาการขัดเบา ช่วยขับปัสสาวะ โดยใช้เหง้าวันละ 1 กอบมือ (สดหนัก 200 – 250 กรัม แห้งหนัก 90 – 100 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (ประมาณ 75 มิลลิลิตร)
เสลดพังพอน
ชื่อท้องถิ่น ชองระอา, พิมเสนต้น (กลาง), พิมเสนต้น (ภาคกลาง), เซ็กเซเกี่ยม (จีน)
ลักษณะของพืช เสลดพังพอน เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นมีสีน้ำตาลแดง มีหนามตามข้อใบยาวเรียว ปลายแหลม มีเส้นกลางใบสีแดง ดอกสีเหลืองจำปา ออกเป็นช่อ
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบสด
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบขนาดกลาง ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป
รสและสรรพคุณยาไทย รสขม ถอนพิษ แมลงสัตว์กัดต่อย โรคผิวหนัง
วิธีใช้ ใบสดของเสลดพังพอน รักษาอาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย โดยเอาใบสด 1 กำมือ ตำละเอียดคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น หรือตำผสมเหล้าเล็กน้อยก็ได้
สีเสียดเหนือ
ชื่อท้องถิ่น สีเสียดเหนือ (ภาคเหนือ) สีเสียนแก่น (ราชบุรี)
ลักษณะของพืช สีเสียดเหนือ เป็นไม้ยืนต้น ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อยจำนวนมาก ดอกเป็นช่อขนาดเล็ก มีสีขาวอมเหลือง ฝักสีน้ำตาลเข้ม
ส่วนที่ใช้เป็นยา ก้อนสีเสียด (ก้อนสีเสียดเป็นสิ่งที่สกัดที่ได้จากการนำเนื้อไม้มาตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำกรองและเคี่ยวให้งวด จะเหลือก้อนแข็งๆสีดำ และเป็นเงา)
รสและสรรพคุณยาไทย มีฤทธิ์ฝาดสมาน
วิธีใช้ ก้อนสีเสียดช่วยฝาดสมานแก้อาการท้องเดินใช้ผงประมาณ 1/3 – 1/2 ช้อนชา (หนัก 0.3 – 1 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม
หญ้าคา
ลักษณะของพืช หญ้าคา เป็นพืชล้มลุก ดอกมีก้านยาวสีขาวเป็นมัน ขึ้นเป็นวัชพืชพบเห็นทั่วไป
ส่วนที่ใช้เป็นยา รากสดหรือแห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย รสจืด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ เป็นยาขับปัสสาวะ
วิธีใช้ ใช้รากสดหรือแห้ง แก้อาการขัดเบา ใช้วันละ 1 กำมือ (สดหนัก 40 – 50 กรัม แห้ง 10 – 15 กรัม) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร)
หญ้าหนวดแมว
ชื่อท้องถิ่น พยับเมฆ (กรุงเทพฯ)
ลักษณะของพืช หญ้าหนวดแมว เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ดอกออกเป็นช่อสวยงาม ลักษณะคล้ายฉัตรเป็นชั้นๆ สีขาวหรือสีม่วง มีเกสรตัวผู้ยาวคล้ายหนวดแมว
ส่วนที่ใช้เป็นยา ใบหญ้าหนวดแมว
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บใบที่สมบูรณ์ ขนาดกลางไม่แก่หรือไม่อ่อนจนเกินไป ล้างให้สะอาดและนำมาตากในที่ร่มให้แห้ง
รสและสรรพคุณยาไทย ขับปัสสาวะ
วิธีใช้ หญ้าหนวดแมวแก้ขัดเบาทำได้โดยเอาใบแห้ง 4 กรัม หรือ 4 หยิบมือ ชงกับ น้ำร้อน 1 ขวด น้ำปลา เหมือนกับชงชา ดื่มวันละ 1 ขวด 3 ครั้ง หลังอาหาร
ข้อควรระวัง คือ คนที่เป็นโรคหัวใจ ห้ามรับประทาน (เพราะมีสารโปแตสเซียมมาก)
แห้วหมู
ชื่อท้องถิ่น หญ้าขนหมู (แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช แห้วหมู เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีหัวอยู่ใต้ดิน มีก้านดอกยาว ดอกเป็นสีน้ำตาล
ส่วนที่ใช้เป็นยา หัว
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บหัวแก่
รสและสรรพคุณยาไทย รสเผ็ดขมเล็กน้อย ขับลม
วิธีใช้ หญ้าแห้วหมูใช้เป็นยาแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อและแน่นจุกเสียด โดยใช้หัวหญ้าแห้วหมู 1 กำมือ (60 – 70 หัวหรือหนัก 15 กรัม) ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่มหรือใช้หัวสดครั้งละ 5 หัวโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน
อ้อยแดง
ชื่อท้องถิ่น อ้อยดำ , อ้อยขม
ลักษณะของพืช อ้อยแดงเป็นไม้ล้มลุก รูปร่างคล้ายต้นอ้อนแต่มีลำต้นสีแดงคล้ำ
ส่วนที่ใช้เป็นยา ลำต้นทั้งสดหรือแห้ง
ช่วงเวลาที่เก็บเป็นยา เก็บลำต้นที่สมบูรณ์เต็มที่
รสและสรรพคุณยาไทย รสหวานและขม แก้ปัสสาวะพิการ แก้ขัดเบา
วิธีใช้ ลำต้นอ้อยแดงทั้งสดหรือแห้งใช้เป็นยาแก้อาการขัดเบา โดยใช้ลำต้นสดวันละ 1 กำมือ (สดหนัก 70 – 90 กรัม , แห้งหนัก 30 – 40 กรัม) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำรับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร)

10. สมุนไพรที่เป็นพืชเศรษฐกิจ
สมุนที่เป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ใช้เป็นอาหารและนำมาใช้ปรุงเป็นยารักษาโรค ในหัวข้อนี้จึงขอยกรายชื่อมาให้ทราบพอสังเขป ดังนี้
กระเจี๊ยบแดง จันทนา บอระเพ็ด
กระชาย เจตมูลเพลิงขาว ลิ้นงูเห่า
กระไดลิง เจตมูลเพลิงแดง เถาปล้อง
กระดอม เจตมูลเพลิงแดง บัวบกหัว
กระแตไต่ไม้ ชะพลู บัวน้ำ บัวสาย
กระเบียน หญ้าชันกาด ปะดู่ส้ม
กระพังโหม หญ้าไซ เปราะป่า
กระเม็งตัวเมีย หญ้าตีนกา เปราะหอมขาว
กำแพงเจ็ดชั้น หญ้าน้ำนมราชสีห์ ไผ่เหลือง
กำยาน หญ้านาง ผักกาดนา
กำลังเสือโคร่ง หญ้านางแดง ผักโขมหนาม
กัลปังหา ดองดึง ผักคราดหัวแหวน
กัลป์พฤกษ์ ตะโกนา ผักหนาม
ชัยพฤกษ์ ตะไคร้บก ผักบุ้งจีน
คูน ตะไคร้หางสิง ผักเป็ดแดง
กระดูกดำ ตานขโมย ผักเสี้ยนผี
กรุงเขมา ตานดำ ฝีหมอบ
แก่นขนุน ตีนเป็ด แฝกหอม
กระชัน เถาลิ้นเสือ พระขรรค์ไชยศรี
ขมิ้นเกลือ เถาวัลย์เปรียง พระจันทร์ครึ่งซีก
ข้าวเย็น เท้ายายม่อมดอกแดง มะเดื่อชุมพร
ขอนดอก เทียนดำ ยาดำ
ครอบจักรวาฬ ทองพันช่าง เลือดแรด

สีผสมอาการจากธรรมชาติ
การปรุงรสและตบแต่งอาหารอย่างเหมาะสม ทำให้อาหารที่ได้มีลักษณะและรสชาติที่ชวนรับประทานอาหารของไทยทั้งคาวและหวาน นิยมปรุงแต่งสีให้ดูสวยงาม แต่เดิมสีที่ใช้ในการปรุงแต่งอาหารส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติ คือได้จาก ส่วนดอก ผล แก่น ใบ เหง้า และบางครั้งก็ได้จากสัตว์ ในระยะหลังมีสีสังเคราะห์เกิดขึ้น จึงได้มีการนำสีสังเคราะห์มาใช้ในการปรุงอาหารกันมากขึ้น สีสังเคราะห์ที่ใช้ผสมอาหารได้จากการสังเคราะห์สานเคมีทางวิทยาศาสตร์ผ่านการค้นคว้าทดลองปรากฏว่า หลายชนิดเป็นอันตรายต่อคนในระยะยาว เรื่องนี้ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปได้มีการค้นคว้าเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง พร้อมทั่งสั่งระงับการใช้สีสังเคราะห์หลายชนิดที่ตรวจพบว่าเป็นอันตรายต่อคนทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ในเมืองไทย จากการสุ่มตัวอย่างอาหารหลายชนิด เช่น ไส้กรอก น้ำปลา ข้าวเกรียบกุ้ง กุ้งแห้ง หรือขนมสำหรับเด็กตรวจแล้วพบว่าอาหารบางอย่างใส่สีผสมอาหารที่ไม่ถูกต้องตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เช่น ใส่สีย้อมผ้าอยู่บ่อยครั้ง เพราะสีย้อมผ้าราคาถูก ใส่เพียงเล็กน้อยสีก็จะเด่นชัดขึ้นมา สีสังเคราะห์จะเป็นอันตายต่อผู้บริโภค ยางคนรับประทานเข้าไปอาจะเกิดแพ้สีอาการคล้ายแพ้ยาแอสไพริน คือ คลื่นไส้ อาเจียน มีริมผีปากดำ ถ้าเป็นสีผสมสารหนูคนไข้จะมีอาการน้ำลายฟูมปาก หายใจไม่ออก สีที่มีตะกั่ว คนไข้ที่แพ้หรือรับประทานเข้าไปมากจะทำให้โลหิตจาง ร่างกายอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหมดกำลัง อาจพิการสมองอาจถูกกระทบกระเทือนไปด้วย
สีผสมอาหารที่เป็นสีสังเคราะห์ไม่ควรใช้เลย เพราะบางตัวถ้าใช้บ่อยและปริมาณมาก อาจทำให้เกิดพิษได้ เนื่องจากสีนั้นอาจจะไปเกาะหรือเคลือบตามเยื่อบุกระเพราะลำไส้ ทำการดูดซึมของกระเพาะลำไส้ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดอาการท้องเดิน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ น้ำหนักลด ชีพจร และการหายใจอ่อน ถ้าเป็นมากประสาทและสมองเป็นอัมพาต อาจเป็นมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง และในที่อื่นๆ
การควบคุมยังทำไม่ทั้งถึง จึงทำให้ในท้องตลาดมีอาหารที่ผสมด้วยสีที่เป็นอันตรายหลายอย่างในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภคจึงควรเลือกอาหารที่สาสีผสมอาหารจากธรรมชาติเป็นอันดับรกหรือเลือกอาหารที่ไม่ใส่สี หากทำอาหารรับประทานเอง ควรใช้สีจากธรรมชาติ เพราะจะได้อาหารที่มีความปลอดภัย ความสะอาด และประหยัดอีกด้วย สีผสมอาหารจากธรรมชาติที่จะแนะนำในที่นี้นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสีจากธรรมชาติและมีการใช้กันมามาก สามารถลือกสามารถเลือกใช้ได้ตามชนิของอาหารและความชอบ
กระเจี๊ยบแดง
ชื่อท้องถิ่น กระเจี๊ยบ , กระเจี๊ยบเปรี้ยว (กลาง) , ผักเก็งเค็ง , ส้มเก็งเค็ง (เหนือ) , ส้มตะแลงเครง (ตาก) , ส้มปู (เงี้ยว – แม่อฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช กระเจี๊ยบเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 3 – 6 ศอก กิ่งก้านมีสีม่วงแดง ใบมีหลายแบบ ขอบใบเรียบดอกร่วงโรยไป กลีบรองดอกและกลีบเลี้ยงจะเจริญขึ้น มีสีม่วงแดงเข้มหุ้มเมล็ดไว้ภายใน ใช้เมล็ดปลูก ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ส่วนที่ใช้ กลีบเลี้ยง
วิธีใช้ ใช้กลีบเลี้ยงแห้งหรือสด ต้มกับน้ำเคี่ยวให้สีแดงออกมามากที่สุด กรองเอากากที่เหลือออกโดยผ้าขาวบางบีบน้ำออกจากกลีบให้หมด น้ำกระเจี๊ยบที่ได้สีแดงเข้ม (สาร Anthocyanin) นำไปแต่งสีอาหารตามต้องการ หรือนำไปเติมน้ำตาล เกลือเล็กน้อยปรุงเป็นเครื่องดื่มก็ได้
ขมิ้น
ชื่อท้องถิ่น ขมิ้น (ทั่วไป) , ขมิ้นแกง , ขมิ้นหยวก , ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) , ขี้มิ้น หมิ้น (ภาคใต้) , ตายอ (กะเหรี่ยง – กำแพงเพรช) , สะยอ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช ขมิ้น เป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลงหัวในฤดูแล้ง เนื้อในของเหง้าขมิ้นสีเหลืองเข้มจนถึงสีแสด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ในรูปเรียวยาว ปลายแหลมคล้ายใบพุทธรักษา ดอกออกเป็นช่อ มีก้านช่อแทงจากดเหง้าโดยตรง ดอกสีขาวอมเหลือง มีกลีบประดับสีเขียวอมชมพู ใช้เหง้าปลูก ปลูกได้ทั่วไป
ส่วนที่ใช้ เหง้าดิน
วิธีใช้ ใช้เหง้าสด ล้างน้ำ ปอกเปลือก บดหรือตำให้ละเอียด เติมน้ำเล็กน้อย คั้นกรองจะได้น้ำสีเหลืองเข้ม (สาร Curcumin) นำไปแต่งสีอาหารคาวเช่น แกงกะหรี่ ข้าวหมกไก่ แกงเหลือง อาหารหวาน เช่น ข้าวเหนียวเหลือง ทำให้มีสีเหลืองน่ากิน
คำฝอย
ชื่อท้องถิ่น ดอกคำ (เหนือ) คำยอง คำ (ทั่วไป)
ลักษณะของพืช คำฝอยเป็นพืชล้มลุกสูงราว 1 เมตร ลำต้นเป็นเหลี่ยม กานใบสั้น ใบรูปร่างรียาว ริมใบหยักแหลม เนื้อใบเรียบ ดอกออกรวมกันเป็นช่อ อัดกันแน่นบนฐานดอก รูปร่างกลมเหมือนกับดอกดาวเรืองดอกย่อยสีเหลืองค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม เมื่อแก่สีส้มแดง ใช้เมล็ดปลูก ปลูกได้ทางเหนือของประเทศไทย
ส่วนที่ใช้ ดอกแก่
วิธีใช้ เอาดอกแก่มาชงน้ำร้อน กรอง จะได้น้ำสีเหลืองส้ม (สาร saffower yellow) ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง
คำแสด
ชื่อท้องถิ่น คำเงาะ คำแงะ คำแฝด คำยง ชาตี (เขมร) , จำปู้ ส้มปู้ (เขมร – สุรินทร์) , มะกายหยุม แสด (เหนือ) , หมากมอง (แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะของพืช เป็นไม้พุ้มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนๆ มีเกล็ดสีน้ำตาลคลุมอยู่มาก ใบติดกับลำต้นแบบเวียนสลับตัวใบรูปร่างคล้ายโพธิ์ ขอบใบเรียบ ปลายแหลม ก้านใบยาว ดอกออกเป็นช่อมี 8 — 50 ดอก ดอกสีชมพูอมม่วงหรือแดง ผลรูปไข่ปลายแหลม ขณะยังอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดงจนแห้งกลายเป็นสีน้ำตาล มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ใช้เมล็ดปลูก
ส่วนที่ใช้ เมล็ด
วิธีใช้ นำเมล็ดมาแช่น้ำแล้วคนแรงๆ หรือนำเมล็ดคำแสดมาบดแล้วแช่น้ำ กรองเอาเมล็ดออกด้วยผ้าขาวบางตั้งไว้ให้สีตกตะกอน รินน้ำใสทิ้ง นำตะกอนสีแสด (สาร BIXIN) ที่ได้ไปแต่งสีอาหารประเภทไขมัน เช่น ฝอยทอง เนย ไอศกรีม และยังใช้ย้อมผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมได้ด้วย องค์การอนามัยโลก กำหนดให้รับประทานสีที่สกัดจากเมล็ดคำแสดได้ไม่เกิน 0.065 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน
เตย
ชื่อท้องถิ่น ปานะวองิง (มาเลย์ – นราธิวาส) , หวานข้าวใหม่ (ภาคเหนือ)
ลักษณะของพืช เป็นพืชล้มลุก ออกเป็นกอ มีรากอากาศบนข้อข้างลำต้น ใบเดี่ยว ขยี้ดมกลิ่นหอม ใบติดกับลำต้นแบบเวียนสลับแน่นอยู่โดยรอบ ใบรูปร่างเรียวยาว ปลายแหลม ริมใบเรียม ส่วนปลายใบ และตามเส้นกลางใบด้านหลัง มีหนามเล็กๆ ไม่เคยพบดอก ปลูกโดยวิธีแยกหน่ออ่อน
ส่วนที่ใช้ ใบสด
วิธีใช้ นำใบเตยสดที่สะอาดหั่นตามขวางโขลก เติมน้ำเล็กน้อย คั้น กรอง ผ่านผ้าขาวบาง จะได้น้ำสีเขียว (santophyll และ chlorophyll) มีกลิ่นหอม ใช้แต่งสีอาหารคาวและหวานได้ นิยมใช้แต่สีอาหารหวาน เช่น ลอดช่อง ขนมเปียกปูน วุ้นกะทิ น้ำเก๊กฮวย เค้ก เป็นต้น บางทีก็เอาใบมาโขลกพอแหลก ต้มกับน้ำใส่น้ำตาลเล็กน้อย ทำเป็นชาใบเตย มีสีเขียว กลิ่นหอมชื่นใจ
ฝาง
ชื่อท้องถิ่น ฝางส้ม (กาญจนบุรี)
ลักษณะของพืช ไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 10 เมตร ตามลำดับต้นและกิ่งมีหนามอยู่ทั่วไป ใบติดกับลำต้นแบบสลับ ลักษณะประกอบด้วยใบย่อยเล็กๆ มากมาย ดอกติดกับก้านใบย่อย ซึ่งงอกก้านใบรวมเป็นคู่ตรงข้ามกันรูปร่างของใบย่อยกลมมนปลายใบมน ใต้ใบมีขน ดอกเป็นช่อสีเหลือง มีเส้นสีแเดงบนกลีบดอก ฝักแบนยาวและใหญ่ภายในเมล็ด 2 – 4 เมล็ด ใช้เมล็ดปลูก
ส่วนที่ใช้ แก่น
วิธีใช้ นำแก่นมาแช่น้ำ จะได้น้ำสีชมพูเข้ม (sappan red) ใช้สีแต่งอาหารได้
อัญชัน
ชื่อท้องถิ่น แดงชัน (เชียงใหม่) , เอื้องชัน (หนือ)
ลักษณะของพืช อัญชันเป็นไม้เลื้อยขึ้นเองตามธรรมชาติ ใบติดกับลำต้นแบบสลับประกอบด้วยใบย่อย 5 – 7 ใบ ใบย่อยรูปร่างรีหรือขอบขนาน ปลายใบมน เนื้อใบด้านบนค่อนข้างเรียบ หรือมีขนอ่อนทั้งด้านบนและด้านล่าง ดอกสีน้ำเงินอมม่วง ตอนกลางดอกมีสีเหลือง ฝักค่อนข้างแบบยาว 5 – 12 เซนติเมตร มีขนอยู่ทั่วไปใช้เมล็ดปลูกและควรทำหลักหรือค้างให้อัญชันเลื้อย
ส่วนที่ใช้ ดอกสด
วิธีใช้ ใช้กลีบดอกสด ตำ เติมน้ำเล็กน้อย กรองด้วยผ้าขาวบาง คั้นน้ำออก จะได้น้ำสีน้ำเงิน (Anthocyanin) ถ้าเติมน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อย จะกลายเป็นสีม่วง ใช้แต่งสีอาหารตามต้องการ มักนิยมใช้แต่งสีน้ำเงินของขนมเรไร ขนมน้ำดอกไม้ ขนมขี้หนู