เห็ดแชมปิญองจัดเปนเห็ดเศรษฐกิจที่มีความสําคัญมากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง โดยเริ่มเพาะกันในประเทศฝรั่งเศสก่อนเมื่อ 300 ปีที่ผ่านมา ต่อมาได้มีการแพร่ขยายการเพาะเห็ดชนิดนี้ออกไปทั่วโลก
ประเทศสหรัฐอเมริกาจัดเป็นประเทศที่มีการผลิตเห็ดชนิดนี้มากที่สุด แต่ประเทศจีนและไต้หวันจัดเป็นประเทศที่ส่งเห็ดแชมปิญองสดขายเป็นสินค้าขาออกมากที่สุด ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการผลิตเห็ด แชมปิญองมากนัก และมีการสั่งเห็ดแชมปิญองเปนสินค้านําเข้าประมาณ 400 ตันต่อปี
การเพาะเห็ด แชมปิญองในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2513 โดยบริษัทเอกชนได้จ้างผู้เชี่ยวชาญมาเพาะเห็ดแชมปิญองที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นผลสําเร็จ แต่ผลผลิตของเห็ดยังไม่ดีเท่าที่ควร ต่อมาได้มีการปรับปรุงเทคนิควิธีการเพาะและขยายการเพาะเห็ดชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศทางภาคเหนือของประเทศเหมาะสมต่อการเพาะเห็ดชนิดนี้มาก ประกอบกับวัสดุที่ใช้ในการเพาะได้แก่ ฟางข้าว ไม้ไผ่ และแรงงาน ฯลฯ ของมีอย่างมากมายและราคาถูก
จึงทําให้การเพาะเห็ดแชมปิญองในประเทศ ไทยได้เปรียบกว่าต่างประเทศมาก เป็นที่เชื่อได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้หากมีการส่งเสริมการเพาะเห็ดแชมปิญองอย่างจริงจังแล้วประเทศไทยจะเป็นแหล่งสําคัญแหล่งหนึ่งในการผลิตเห็ดแชมปิญอง ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินตราในการสั่งซื้อเห็ดแชมปิญองจากต่างประเทศ และสามารถส่งเห็ดแชมปิญองเป็น สินค้าออก ทํารายได้เข้าสู่ประเทศต่อไป
แม้ว่านักวิชาการสามารถที่จะปรับปรุงพันธุ์เห็ดแชมปิญองจนได้พันธุ์ที่ทนร้อน แต่สภาพที่เหมาะสมต่อการผลิตเห็ดแชมปิญองคือ พื้นที่ทางแถบภาคเหนือของประเทศไทยเนื่องจากมีสภาพเหมาะสมต่อการเพาะเห็ดแชมปิญองหลายประการคือ
- สภาพอุณหภูมิอุณหภูมิทางแถบภาคเหนือจะลดต่ำลงมากในช่วงปลายเดือนตุลาคม
อุณหภูมิจะลดลงเหลือ 21-25 องศาเซลเซียส ช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการเพาะเห็ด คือช่วงปลายเดือน พฤศจิกายนถึงต้นเดือนกุมภาพันธุ์ เพราะอุณหภูมิในช่วงนี้ลดเหลือ 16-18 องศาเซลเซียส
เหมาะต่อการพัฒนาการของดอกเห็ดมาก ถึงแม้ว่าอุณหภูมิในช่วงกลางคืนและกลางวันจะแตกต่างกันมากก็ตาม แต่สามารถช่วยได้โดยการฉีดน้ำช่วยในช่วงกลางวัน นอกจากนี้บริเวณพื้นที่บนภูเขาสูง ๆ จะมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำตลอดปี จึงเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเพาะเห็ดแชมปิญอง
- วัสดุที่ใช้เพาะในพื้นที่แถบจังหวัดภาคเหนือเกษตรกรมีการปลูกข้าวเป็นพืชหลักเกือบทุก
พื้นที่จึงทำให้วัสดุหลักที่ใช้ในการเพาะเห็ดแชมปิญองมีเพียงพอ นอกจากนี้วัสดุที่ใช้เป็นอาหารเสริม เช่น มูลสัตว์ รำข้าว ฯลฯ ยังมีราคาถูกและสามารถหาซื้อได้ทั่ว ๆ ไปในท้องตลาด
- แรงงานการเพาะเห็ดแชมปิญองจะใช้แรงงานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะถ้าจะผลิตในลักษณะโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับปัญหาด้านแรงงานประเทศไทยได้เปรียบต่างประเทศมาก เพราะค่าแรงงานถูกกว่า
- ตลาดและความต้องการเห็ดแชมปิญอง ทั้งภายในและต่างประเทศค่อนข้างสูง จึงไม่มี
ปัญหาด้านตลาดเหมือนกับเห็ดชนิดอื่น
การเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดแชมปิญอง
ในการเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดแชมปิญอง จะคล้ายกับการเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดนางฟ้า นางรม ฯลฯ ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี ได้แก่
- การเพาะเลี้ยงสปอร์
- การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
- การต่อเชื้อเส้นใยจากการเพาะเลี้ยงสปอร์
ถ้าเปรียบเทียบกันทั้ง 3 วิธี จะพบว่า
การเพาะเลี้ยงสปอร์ของเห็ดแชมปิญอง อาจให้ผลผลิตแตกต่างจากเดิมและพันธุ์ใหม่อาจให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
ส่วนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ผลจากการทดลองพบว่า ผลผลิตที่ได้จะลดต่ำลง วิธีนี้จึงไม่นิยมใช้กันมากนัก
การเลี้ยงเชื้อโดยวิธีต่อเชื้อหรือต่อเส้นใยเห็ด ที่ได้จากการเลี้ยงด้วยสปอร์ เป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่ว ๆ ไป วิธีการนี้ต้องคอยหมั่นตรวจสอบลักษณะการเจริญเติบโตของเส้นใย
เส้นใยเห็ดที่เจริญแบบขาวฟูจะเจริญเติบโตช้ากว่าเส้นใยที่เจริญเป็นปกติ การที่เส้นใยที่มีลักษณะขาวเจริญเติบโตช้า ทำให้เสียเวลาและมีโอกาสที่เชื้อจุลินทรีย์อื่น ๆ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสอาจเจริญปะปนได้ นอกจากนี้ยังให้ผลผลิตต่ำ การที่เส้นใยมีลักษณะขาวฟูนั้นอาจเกิดจากพันธุ์เห็ดและอาหารที่ใช้เลี้ยงเส้นใย จากการทดลองพบว่าลักษณะการผิดปกติของเส้นใยเกิดขึ้นน้อยในอาหารที่เป็นวุ้น
สายพันธุ์ของเห็ดแชมปิญอง
เห็ดแชมปิญองที่เพาะกันทั่ว ๆ ไป ในรูปของการค้าสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
- พันธุ์ดอกสีขาว เห็ดแชมปิญองมีสีขาวบริสุทธิ์ โคนก้านดอกค่อนข้างเล็กและยาว เห็ดแชม
ปิญองพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพดี สีขาวและรสชาติดี พันธุ์ดอกสีขาวที่เพาะกันทั่ว ๆ ไป ได้แก่ Snow White, Pure White, Golden White, Silver White, White King, White Queen
- พันธุ์ดอกสีครีม จัดเป็นพันธุ์ดอกเห็ดที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดอกใหญ่สีครีม พันธุ์พวก
นี้ได้แก่ Sattons twenty century, Downing town, เบอร์ 49 และ 50
- พันธุ์ดอกสีน้ำตาล จัดเป็นพันธุ์เห็ดแชมปิญองที่มีเนื้อแน่นกลิ่นหอม ก้านดอกสั้น ผลผลิต
สูง และทนร้อนได้ดี เห็ดพันธุ์นี้ก็คือ Best England ซึ่งนิยมเพาะกันมากในประเทศอังกฤษ

การเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดแชมปิญอง
ในการเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดแชมปิญอง อาจจะเพาะเลี้ยงสปอร์ หรือเนื้อเยื่อของเห็ดก็ได้วิธี
การเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดก็คล้ายกับเห็ดนางรม นางฟ้า ฯลฯ
1. การเพาะเลี้ยงเส้นใยบนอาหารวุ้น
การเพาะเลี้ยงเส้นใยบนอาหารวุ้น ได้มีการทดลองใช้อาหารวุ้นหลายสูตรที่เหมาะสมต่อเห็ดแชมปิญอง ได้แก่
สูตร
- ข้าวสาลี 125 กรัม
- วุ้นทำขนม 2 เปอร์เซ็นต์
- น้ำสะอาด 4 ลิตร
วิธีทำ
- นำเมล็ดข้าวสาลี 125 กรัม มาต้มกับน้ำสะอาด 4 ลิตร เป็นเวลา 2 ชั่วโมง
- ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง จึงแยกเอาน้ำออกจากเมล็ดข้าวสาลี
- นำน้ำสกัดข้าวสาลีมาต้ม พร้อมกับใส่วุ้นทำขนมลงไปประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนัก
2. การเลี้ยงเส้นใยบนเมล็ดธัญพืช
สูตรการเลี้ยงเส้นใยบนเมล็ดธัญพืช
- เมล็ดข้าวสาลี 10 กก.
- ยิปซั่ม (CaSO4.2H2O) 120 กรัม
- หินปูน (CaCO3) 30 กรัม
วิธีทำ
- นำเมล็ดข้าวสาลีมาต้มกับน้ำที่สะอาดจำนวน 15 ลิตร ให้น้ำเดือดนานประมาณ 15 นาที
และยกลงจากเตาตั้งทิ้งไว้ให้เย็นนานประมาณ 15 นาที เพื่อให้เมล็ดข้าวสาลีดูดซึมน้ำ
- กรองเอาน้ำออกด้วยตะแกรง ในระยะนี้ควรใช้ช้อนที่ทำด้วยไม้ กลับเมล็ดข้าวสาลีหลาย ๆ
ครั้ง เมื่อเมล็ดข้าวสาลีเย็นตัวลงจึงคลุกเมล็ดข้าวสาลีกับยิปซั่มและปูนขาวลงไป ยิปซั่มที่ใส่ลงไปเพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวสาลีจับตัวกันแน่น ส่วนปูนขาวจะช่วยในการปรับสภาพความเป็น กรด-ด่าง pH ให้เหมาะสม
- นำเมล็ดข้าวสาลีบรรจุลงในขวดแบนประมาณ ¾ ของขวดพร้อมกับปิดจุกด้วยสำลีและหุ้ม
ด้วยกระดาษ นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดัน โดยใช้ความดันที่ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นานประมาณ 30-45 นาที
- เมื่อขวดเมล็ดข้าวสาลีเย็นตัวลง จึงเขี่ยเชื้อเห็ดแชมปิญองที่เลี้ยงบนอาหารวุ้นใส่ลงไปหลัง
จากเส้นใยเห็ดเดินได้ 5-7 วัน ให้เขย่าขวดเพื่อให้เมล็ดข้าวสาลีที่มีเชื้อเห็ดบางส่วนกระจาย ซึ่งจะช่วยให้เชื้อเห็ดกระจายเต็มเมล็ดข้าวสาลีได้เร็วขึ้น เมื่อเส้นใยเห็ดเจริญเต็มเมล็ดข้าวสาลีแล้ว ให้นำไปเพาะลงในปุ๋ยหมักต่อไป
การเพาะเห็ดแชมปิญองให้ออกดอก
ในการเพาะเห็ดหรือทำให้เห็ดแชมปิญองออกดอก ส่วนใหญ่จะใช้วัสดุหลายชนิด วัสดุที่ใช้เป็น
หลักสำหรับการเพาะเห็ดคือ ฟางข้าวเจ้า ฟางข้าวสาลี ฟางข้าวโอ๊ต ฯลฯ
วัสดุในการเพาะที่สำคัญมีดังนี้
- ฟางข้าว ( Rice Straw ) ในการเพาะเห็ดแชมปิญอง แม้ว่าจะสามารถใช้ฟางข้าวได้หลาย
ชนิดก็ตาม แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ฟางข้าวเจ้านับว่าเหมาะสมมากที่สุดเพราะหาง่ายฟางข้าวดูดซึมน้ำได้ดีและมีเชื้อจุลินทรีย์ที่ช่วยในการหมักปุ๋ย
- มูลสัตว์ ( Manure ) นับว่าเป็นแหล่งอาหารที่ดีสำหรับเห็ดแชมปิญอง มูลสัตว์ที่นิยมใช้ ได้แก่
มูลม้า มูลไก่ มูลสุกร ฯลฯ มูลสัตว์พวกนี้จะมีปริมาณของไนโตรเจนแตกต่างกัน และจัดเป็นแหล่ง
อาหารที่ประหยัดสำหรับเห็ดแชมปิญอง
- ธาตุอาหาร ( Available Nutrients ) หรืออาหารเสริมที่ใช้ในการเพาะเห็ดแชมปิญองมีหลาย
ชนิด คือพวกคาร์โบไฮเดรต ( Carbohydrate ) แหล่งอาหารคาร์โบไฮเดรต ที่หาได้ทั่ว ๆ
ไป ได้แก่ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว น้ำตาล ฯลฯ ซึ่งเห็ดสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้อย่างดี
- พวกไนโตรเจน ( Nitrogen ) แหล่งอาหารประเภทไนโตรเจนที่สำคัญต่อการเจริญ
เติบโตของเห็ดแชมปิญอง
- ธาตุอาหารอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเห็ด เช่น โปแตสเซียม (K)
ฟอสฟอรัส (P) ยิปซั่ม ( CaSO4.2H2O ) ฯลฯ ซึ่งเห็ดแชมปิญองสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโต
เห็ดแชมปิญองพันธุ์สีขาว ลักษณะขาเห็ดจะค่อนข้างเล็กและยาว มีคุณภาพที่ดีทั้งรส กลิ่น เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากในปัจจุบัน
ส่วนอีกพันธุ์คือ พันธุ์สีน้ำตาล ลักษณะดอกเห็ดมีสีน้ำตาล กลิ่นหอม เนื้อแน่น ขาเห็ดสั้น ผลผลิตสูง ทนร้อน

วัสดุเพาะ (ปุ๋ยหมัก) ที่ใช้ในการเพาะเห็ดแชมปิญอง
ในการผสมปุ๋ยหมักที่ใช้ในการเพาะเห็ดแชมปิญองที่มีคุณภาพดี
ควรให้ปุ๋ยหมักมีความชื้น 68-72 % สูตรที่ใช้ในการเพาะเห็ดแชมปิญองมีหลายสูตร
สูตรที่ 1 ประกอบด้วย
- ฟางข้าว 68 กิโลกรัม
- ซังข้าวโพด 68 กิโลกรัม
- ส่าเหล้า หรือกากเบียร์ 13.6 กิโลกรัม
- มูลไก่ 11.3 กิโลกรัม
- ยูเรีย1.18 กิโลกรัม
- โปแตสเซียม 1.63 กิโลกรัม
- ยิปซั่ม 4.53 กิโลกรัม
สูตรที่ 2 ประกอบด้วย
- ฟางข้าว 1016 กิโลกรัม
- ซังข้าวโพด 1700 กิโลกรัม
- โปแตสเซียมคลอไรด์ 11.3 กิโลกรัม
- ยูเรีย 3.6 กิโลกรัม
- แอมโมเนียมไนเตรท 11.3 กิโลกรัม
- กากเบียร์ 34 กิโลกรัม
- ยิปซั่ม 22.7 กิโลกรัม
สูตรที่ 3 ประกอบด้วย
- มูลม้า 1016 กิโลกรัม
- มูลไก่ 101.6 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 38.1 กิโลกรัม
- กากฝ้าย 15.24 กิโลกรัม
- ยิปซั่ม 15.24 กิโลกรัม
สูตรที่ 4 ประกอบด้วย
- ฟางข้าว 600 กิโลกรัม
- ปุ๋ยยูเรีย10 กิโลกรัม
- แอมโมเนียมซัลเฟต 13 กิโลกรัม
- ดับเบิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟต 12 กิโลกรัม
- ปูนขาว 20 กิโลกรัม
สูตรที่ 5 ประกอบด้วย
- ฟางข้าว 600 กิโลกรัม
- ซังข้าวโพดบด 400 กิโลกรัม
- แคลเซียมไซยานาไนด์ 14 กิโลกรัม
- แอมโมเนียมไนเตรท 10 กิโลกรัม
- โปแตสเซียมไนเตรท 10 กิโลกรัม
- ยิปซั่ม 25 กิโลกรัม
สูตรที่ 6 ประกอบด้วย
- ฟางข้าว 1,000 กิโลกรัม
- เมื่อเมื่อเริ่มกองปุ๋ยหมักผสม : ซุปเปอร์ฟอสเฟต 12 กิโลกรัม
- ยิปซั่ม 16 กิโลกรัม
- เมื่อกลับกองปุ๋ยครั้งแรกผสม : แอมโมเนียมซัลเฟต 20 กิโลกรัม
- เมื่อกลับกองปุ๋ยครั้งที่สองผสม : รำข้าว 30 กิโลกรัม
- ปูนขาว 13 กิโลกรัม
- ยูเรีย10 กิโลกรัม
การหมักฟางสำหรับเพาะเห็ดแชมปิญอง
- การหมักฟางนับว่ามีความสำคัญมาก โดยนำฟางที่จะเพาะเห็ดมาสับให้มีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว
- นำมาอัดหมักไว้ในกรอบไม้ที่มีความกว้าง 1.5 เมตร ยาว 2 เมตร และสูงประมาณ 30-50 ซม.
- นำฟางมาอัดเป็นชั้น ๆ สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ประมาณ 1 เมตร
- ในแต่ละชั้นของฟางให้ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ลงไปแต่ละชั้นเท่า ๆ กัน ขั้นตอนในการหมักฟางอาจกระทำได้ 2 วิธี
การหมักฟางแบบที่ 1 ใช้เวลา 7-10 วัน ( ฤดูหนาว )
วันที่ 1 ให้ทำกองปุ๋ยหมักและใส่ปุ๋ยไนโตรเจน
วันที่ 3 กลับกองปุ๋ยครั้งที่ 1 พร้อมกับใส่ปุ๋ยไนโตรเจน
วันที่ 5 กลับกองปุ๋ยครั้งที่ 2 พร้อมกับใส่คาร์โบไฮเดรต หรือรำข้าว
วันที่ 7 กลับกองปุ๋ยครั้งที่ 3 ปรับความชื้นให้เหมาะสม
วันที่ 9 นำปุ๋ยหมักใส่ถาดเข้าห้องพีคฮีทติ้ง
การหมักฟางแบบที่ 2 ใช้เวลา 8-9 วัน ( ฤดูร้อน / ฝน )
วันที่ 1 ทำกองปุ๋ยหมัก พร้อมกับเติมมูลสัตว์ พวกมูลไก่ลงไป
วันที่ 3 กลับกองปุ๋ยครั้งที่ 1 พร้อมกับเติมยิปซั่มและกากเมล็ดฝ้าย
วันที่ 5 กลับกองปุ๋ยหมักครั้งที่ 2 พร้อมเติมรำปรับความชื้น
วันที่ 8 ขนใส่ถาดเข้าโรงเรือนทำพีคฮีทติ้ง
ลักษณะของปุ๋ยหมักที่ดีก่อนนำไปทำพีคฮีทติ้ง ปุ๋ยหมักควรมีลักษณะดังนี้
- สีของปุ๋ยหมักค่อนข้างคล้ำ และความชื้นของฟางเหมาะสม
- เส้นฟางจะต้องไม่เหนียวและเปื่อยยุ่ยพอสมควร ส่วนความชื้นของปุ๋ยหมัก ควรอยู่ในช่วง 72-75 % เมื่อนำฟางขึ้นมากำจะพบว่ามีน้ำไหลออกมาจากง่ามมือเล็กน้อย
- มีเส้นใยสีขาวของเชื้อ actinomycetes เจริญขึ้นมาเล็กน้อย และควรมีกลิ่นหอมของเห็ด
- ปุ๋ยหมักควรมีปริมาณของไนโตรเจน ประมาณ 1.6-1.8 %
การทำพีคฮีทติ้ง ( Peak heating )
- หลังจากหมักปุ๋ยได้ที่แล้ว ให้นำปุ๋ยหมักมาทำพีคฮีทติ้ง
- ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการใหม่ที่ใช้เพาะเห็ดแชมปิญอง
- ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงระหว่างการหมักฟางนั้น ปุ๋ยหมักอาจชื้นหรือแห้งเกินไป และมีสภาพไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเห็ด
- ถ้านำฟางที่หมักมาผ่านขบวนการพีคฮีทติ้ง โดยทำการควบคุมอุณหภูมิความชื้น การถ่ายเทอากาศ ( และฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด )
- ทำให้ปุ๋ยหมักที่ผ่านการทำพีคฮีทติ้งมีคุณสมบัติทางเคมี ฟิสิกส์ และชีวะ เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ด
การทำพีคฮีทติ้งเป็นการกระตุ้นเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด โดยเฉพาะแบคทีเรียที่ชอบความร้อน ( Thermophilic bacteria ) จะช่วยในการแปรรูปไนโตรเจนให้มาอยู่ในรูปแอมโมเนีย ต่อมาเชื้อรา ( Fungi ) ที่ชอบความร้อนและอยู่ในกลุ่มโทรูล่า ( Torula ) และเฮมิคูล่า ( Humicola ) สามารถเปลี่ยนแอมโมเนียให้มาอยู่ในรูปโปรตีน
ซึ่งเห็ดสามารถนำมาใช้ในการเจริญเติบโตต่อไป อุณหภูมิที่เหมาะต่อการทำพีคฮีทติ้งควรอยู่ระหว่าง 55-60 องศาเซลเซียส จุดมุ่งหมายในการทำพีคฮีทติ้งก็คือการปรับปรุงสภาพปุ๋ยหมักให้เหมาะสมต่อ การเจริญเติบโตของเห็ด ส่วนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแมลงบางชนิดเป็นผลพลอยได้เท่านั้น
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำพีคฮีทติ้ง ประกอบด้วย
- เครื่องดูดเป่าอากาศ (Blower) ขนาดแรงม้า 1 เครื่อง
- ท่อน้ำอากาศ อาจใช้ท่อพลาสติก หรือท่อสังกะสีก็ได้ โดยให้มีขนาดที่สามารถต่อกับเครื่องดูด – เป่าอากาศได้พอดี ท่อดังกล่าว ใช้เป็นท่อส่งอากาศจากภายนอกเข้าไปในโรงเห็ด และมีท่อดูดอากาศภายในโรงเรือนด้วย
- ไส้กรองอากาศ ใช้สำหรับกรองอากาศจากภายนอกที่ผ่านเข้าไปในโรงเห็ด
- เครื่องทำไอน้ำอาจจะใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตรหลายถัง ขึ้นกับขนาดของโรงเรือนเพื่อต้มน้ำและส่งไอนำเข้าไปในโรงเรือน
- ถาดใส่ฟางหมัก และใช้ในการเพาะเห็ด ควรใช้ถาดที่สามารถเคลื่อนย้ายได้เพื่อสะดวกในการควบคุมความสะอาดของโรงเรือน และป้องกันการระบาดของเชื้อโรคภายในโรงเรือนได้อย่างดี ขนาดของถาดที่ใช้ในการเพาะควรมีขนาด 1.20 x 1.75 เมตร
ลักษณะของโรงเรือน
- ในการเพาะเห็ดแชมปิญองเป็นอุตสาหกรรม ผู้เพาะต้องวางแผนในการปลูกสร้างโรงเรือนให้เหมาะสมโดยใช้วัสดุถาวร แต่ถ้าเพาะไม่มากนักอาจจะดัดแปลงโดยใช้โรงเรือนที่มุงด้วยใบจาก ภายในได้
- โรงเรือนให้บุด้วยพลาสติก และเจาะหน้าต่างด้านละ 1 แห่ง
- แต่ถ้าจะสร้างแบบถาวร ควรสร้างโรงเรือนที่สามารถใช้บรรจุถาดใช้เพาะเห็ดได้ประมาณ 220 ถาด
- ซึ่งสามารถใช้ปุ๋ยหมักในการเพาะเห็ดถึง 38 ตัน
- แต่ผู้เพาะอาจจะดัดแปลงขนาดโรงเรือนให้เล็กลงได้ตามความเหมาะสม
ขั้นตอนการทำพีคฮีทติ้ง
หลังจากการหมักฟางเพาะเห็ดได้ที่แล้วให้ทำพีคฮีทติ้ง โดยปฏิบัติเป็นขั้น ๆ ดังนี้
- นำฟางหมักใส่ลงในถาดเพาะเห็ด โดยใช้ฟางหมักประมาณ 86 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร
- พ่นอากาศเข้าไปในโรงเพาะเห็ดให้อากาศหมุนเวียนนานประมาณ 1 ชม.
- หยุดเป่าลมแต่ให้ปล่อยไอน้ำเข้าไปในโรงเรือน พร้อมกับดูดอากาศด้านล่างเป่าขึ้นด้านบนเพื่อกระจายอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้สม่ำเสมอในระยะนี้ให้รักษาอุณหภูมิภายในโรงเรือนอยู่ในระดับ 60 องศาเซลเซียส นานประมาณ 6 ชั่วโมง เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และแมลงที่ติดมากับปุ๋ยหมัก
- อุณหภูมิภายในโรงเรือนจะสูงขึ้นเนื่องจากไอน้ำร้อน และเกิดการสลายตัวของปุ๋ยหมักโดยเฉพาะในวันที่ 2 อุณหภูมิอาจสูงประมาณ 55-60 องศาเซลเซียส
- ในวันที่ 3 ควรปล่อยอากาศเข้าไปในโรงเรือนบ้าง และรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ 50-60 องศาเซลเซียส นานประมาณ 10 ชม. อย่าให้อุณหภูมิสูงกว่าระดับดังกล่าว เพราะจะทำให้เกิดการสูญเสียธาตุไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนีย
- หลังจากนั้นให้ลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 50-55 องศาเซลเซียส นานประมาณ 14 ชั่วโมง และค่อย ๆ ลดอุณหภูมิลงวันละ 10 องศาเซลเซียส จนกระทั่งปุ๋ยหมักมีอุณหภูมิ 28-30 องศาเซลเซียส สามารถใช้เพาะเห็ดได้ทันที
- การทำพีคฮีทติ้งจะใช้เวลานานที่สุดประมาณ 7 วัน ก็สมบูรณ์และหลังจากใส่เชื้อเห็ดลงไปแล้วจะพบว่ามีเส้นใยสีขาวหรือสีเทาแผ่คลุมทั่วผิวหน้าของฟางที่ใช้หมักเส้นใยเหล่านี้เป็นพวกเชื้อรา ( Fungi ) พวกเฮมิคูล่า และโทรูล่า ซึ่งภายหลังจะเป็นอาหารของเห็ดเป็นอย่างดี
ลักษณะปุ๋ยหมักที่ดีหลังจากทำพีคฮีทติ้ง
ปุ๋ยหมักที่เหมาะต่อการเพาะเห็ดแชมปิญอง หลังจากที่ผ่านการทำพีคฮีทติ้งแล้ว ปุ๋ยหมักที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
- ปุ๋ยหมักควรมีสีน้ำตาลดำ ฟางที่หมักจะต้องนุ่มและเปื่อยยุ่ยพอสมควรเมื่อบีบ
- ความชื้นของปุ๋ยหมักควรอยู่ระหว่าง 70-73 % เมื่อนำมากำแล้วบีบดูจะพบว่ามีน้ำไหลออกมาตามง่ามมือเล็กน้อย
- ไม่มีกลิ่นของแอมโมเนีย ความเป็นกรด-ด่าง pH ของปุ๋ยหมักไม่ควรเกิน 7.5 และมีกลิ่นหอมคล้ายเห็ด
- มีเชื้อราเฮมิคูล่าและโทรูล่า ขึ้นกระจายบาง ๆ ทั่วผิวหน้าของปุ๋ยหมัก
- มีปริมาณของไนโตรเจนประมาณ 1.8-2.0% และมีแอมโมเนียต่ำกว่า 0.1%
การใส่เชื้อเห็ด ( Spawning )
เมื่อปุ๋ยหมักที่ใช้เพาะเห็ดผ่านการทำพีคฮีทติ้ง และมีสภาพเหมาะต่อการนำมาเพาะแล้ว ให้ทำการใส่หัวเชื้อเห็ดลงในปุ๋ยหมัก โดยให้ปฏิบัติดังนี้
- ให้ล้างมือและอุปกรณ์ที่จะใช้ในการเพาะเชื้อเห็ดแชมปิญองให้สะอาด
- นำหัวเชื้อเห็ดแชมปิญองที่เลี้ยงบนเมล็ดข้าวฟ่างหรือข้าวสาลีใส่ลงไปในปุ๋ยหมัก
- โดยการเจาะรูบนปุ๋ยหมักที่อยู่ในถาด ให้ลึกประมาณ 3 ซม.
- ให้แต่ละรูอยู่ห่างกัน 15 – 20 ซม.
- ใช้หัวเชื้อประมาณ 500 กรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
- หลังจากใส่หัวเชื้อไปแล้ว ให้ใช้ปุ๋ยกลบรูที่ใส่เชื้อ
- ในระยะนี้หลังจากเชื้อเริ่มเดินแล้ว ไม่ต้องรดน้ำ
- แต่ถ้าผิวของปุ๋ยหมักแห้งควรให้น้ำแบบฉีดพ่นฝอยเล็กน้อย
- เส้นใยของเห็ดแชมปิญองจะเจริญเข้าไปในปุ๋ยหมัก และเจริญเต็มผิวหน้าของปุ๋ยหมัก เชื้อจะเจริญเติบโตเต็มที่โดยใช้เวลาประมาณ 20 วัน
- ในระยะนี้ควรรักษาความสะอาด อุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือนให้สม่ำเสมอ
- ถ้าอากาศเย็นจะให้ผลผลิตสูง
- แต่ที่สำคัญก็คือต้องระวังแมลงศัตรูเห็ดที่จะมาทำลายเส้นใยเห็ดแชมปิญอง
ในบางครั้งเส้นใยเห็ดแชมปิญองอาจเจริญช้าเนื่องจากสาเหตุหลายประการคือ
- หัวเชื้อที่ใช้เพาะเห็ดคุณภาพไม่ดี
- สภาพของปุ๋ยหมักไม่เหมาะสม ได้แก่ สภาพความเป็น กรด-ด่าง pH สูงกว่า 7.5
- อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส หรือปุ๋ยหมักยังหมักไม่ได้ที่
- มีโรคแมลงศัตรูเห็ดคอยรบกวนและทำลายเส้นใยเห็ด
- ปุ๋ยหมักในชั้นที่เพาะมีอายุนานเกินไปตามปกติ
- ระยะเวลาในการทำพีคฮีทติ้งไม่ควรเกิน 7 วัน
- และเมื่ออุณหภูมิลดลงควรรีบใส่เชื้อทันทีไม่ควรทิ้งไว้นานเพราะโรคและแมลงศัตรูเห็ดอาจเข้าทำลายได้
การกลบดิน ( Casing )
- หลังจากต่อเชื้อเห็ดลงในปุ๋ยหมักได้ประมาณ 15 – 20 วัน
- ซึ่งเป็นระยะที่เส้นใยเห็ดในกองปุ๋ยหมักเจริญเติบโตเต็มที่และเส้นใยสานกันดีแล้ว
- ในระยะนี้ควรนำดินที่เตรียมไว้กลบลงบนปุ๋ยหมักโดยให้กลบดินหนาประมาณ 2-3 ซม.
- ดินที่ใช้กลบควรนำมาร่อนเอาดินที่มีขนาดใหญ่ออกก่อน
- ดินที่ใช้กลบควรมีขนาด 0.5 – 1.0 ซม. นับว่าเหมาะสมมากที่สุด
- ดินดังกล่าวต้องสะอาดปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ที่จะทำลายเส้นใยเห็ด
- ดินที่ใช้กลบถ้าผ่านการฆ่าเชื้อได้ยิ่งเป็นการดี
- โดยการอบไอน้ำให้มีอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส นานประมาณ 30 นาที
- ดินที่ใช้กลบควรเป็นดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุสูง
- ในการกลบผิวหน้าของปุ๋ยหมัก ควรปรับให้เรียบและกระจายอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยรักษาความชื้นในกองปุ๋ยหมัก
การกลบผิวหน้าดังกล่าวมีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดแชมปิญองเนื่องจาก
- ดินที่ใช้กลบเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์พวก actinomycetes และเชื้อแบคทีเรียที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ด
- ดินที่ใช้กลบช่วยรักษาความชื้นในกองปุ๋ยหมักให้เหมาะสมต่อการเจริญของเส้นใย และการเกิดดอกเห็ด
- ดินที่กลบเป็นฐานให้ดอกเห็ดยึด ทำให้เห็ดสามารถทรงดอกเห็ดอยู่ได้ไม่ล้ม
- ในการรดน้ำถ้ารดกับกองปุ๋ยหมักโดยตรง จะทำให้เส้นใยของเห็ดขาดและเน่าได้
- การใช้ดินกลบจะช่วยไม่ให้น้ำสัมผัสกับเส้นใยโดยตรง และช่วยลดความเสียหายเนื่องจากเส้นใยถูกทำลายได้อย่างดี
- การกลบดินนอกจากจะช่วยรักษาความชื้นแล้วยังช่วยลดอุณหภูมิในแปลงเห็ดให้ต่ำ ซึ่งเหมาะต่อการพัฒนาไปเป็นดอกเห็ดได้อย่างดี
การปฏิบัติดูแลรักษา
หลังจากกลบปุ๋ยหมักด้วยดินแล้ว การปฏิบัติดูแลรักษาในระยะนี้นับว่าสำคัญมากเพราะเป็นระยะที่เห็ดกำลังพัฒนาไปเป็นดอก การปฏิบัติดูแลรักษาควรปฏิบัติเป็นขั้น ๆ ดังนี้
- ในสัปดาห์แรกหลังการกลบดิน ควรรักษาอุณหภูมิในโรงเรือนไว้ประมาณ 21 องศาเซลเซียส ในสัปดาห์ ที่ 2 และ 3 ให้ลดอุณหภูมิลงเหลือ 18 องศาเซลเซียส แต่สำหรับประเทศไทยอุณหภูมิในระหว่างการเดินของเชื้อมักเกิน 26 องศาเซลเซียส จึงทำให้แปลงเพาะเห็ดถูกรบกวนด้วยเชื้อราและไรอยู่เสมอ ผลผลิตจึงค่อนข้างต่ำ
- การรดน้ำควรให้น้ำแบบฉีดพ่นฝอยให้ละเอียดโดยให้น้ำเช้าเย็นวันละ 2 ครั้ง เพื่อให้ดินที่ใช้กลบแปลงมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา
- การระบายอากาศ ควรให้โรงเรือนที่เพาะเห็ดมีการถ่ายเทอากาศอยู่ตลอดเวลา เพื่อลดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดเพราะถ้ามีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากจะทำให้เห็ดดอกเล็ก ก้านยาว จำนวนดอกเห็ดลดลง และโอกาสที่เชื้อโรคจะแพร่ระบาดทำลายเห็ดได้มาก
- อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดแชมปิญอง ควรอยู่ระหว่าง 15 – 18 องศาเซลเซียส ดังนั้นการเพาะเห็ดแชมปิญองจะให้ได้ผลผลิตสูงจะต้องเพาะในบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ ได้แก่ แถบภาคเหนือหรือบริเวณตามภูเขาสูง และมีอุณหภูมิต่ำปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ด
เห็ดแชมปิญองจัดเป็นเห็ดที่มีการเจริญเติบโตแบบ Saprophyte โดยใช้อาหารจากเศษพืชหรือปุ๋ยหมักในการเจริญเติบโต เพราะเห็ดแชมปิญองไม่มีคลอโรฟิลล์ที่จะใช้ในการสังเคราะห์แสง การที่เห็ดแชมปิญองจะให้ผลผลิตสูงหรือไม่ ขึ้นกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่างคือ
1. อุณหภูมิ ( Temperature )
- นับว่ามีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยและการพัฒนาไปเป็นดอกเห็ด
- อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยประมาณ 25 องศาเซลเซียส
- ส่วนอุณหภูมิของปุ๋ยหมักควรอยู่ระหว่าง 23-28 องศาเซลเซียส
- ถ้าอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่านี้ เส้นใยจะเจริญเติบโตช้า
2. ความชื้น ( Humidity )
- ความชื้นของอากาศในช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใย ควรอยู่ระหว่าง 90-95 %
- แต่ถ้าในระยะเห็ดออกดอกควรมีความชื้น 80-85 %
3.ธาตุอาหาร
- ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเห็ดแชมปิญอง ได้แก่ คาร์โบไฮเดรทในช่วงที่เส้นใยกำลังเจริญเติบโต เส้นใยเห็ดจะดูดซึมพวกลิกินน เพื่อใช้เป็นอาหาร
- แต่ในระยะที่ดอกเห็ดพัฒนาเป็นตุ่มเล็ก ๆ คาร์โบไฮเดรตพวก เพนโตซาน ( Pentosan ) และแอลฟาเซลลูโลส ( Alpha cellulose ) จะถูกนำไปใช้
- ดังนั้นวิธีการเพิ่มผลผลิตวิธีหนังก็คือการเพิ่มคาร์โบไฮเดรตที่สลายตัวง่ายให้แก่ปุ๋ยหมัก ก่อนที่จะทำการกลบดิน
4.อัตราส่วน C:N ratio
- ในช่วงระหว่างการหมักปุ๋ยหมัก C:N ratio ประมาณ 30 : 1
- ส่วน C:N ratio ที่เหมาะสมในขณะเกิดเส้นใย ( Spawning ) ควรมีค่าเท่ากับ 17 : 1
5.สภาพความเป็นกรด-ด่าง pH
- ช่วง pH ที่เหมาะสมต่อการเจริญของเส้นใยควรอยู่ระหว่าง 7.0 – 7.4
- และในช่วงสุดท้าย pH ควรลดลงเหลือประมาณ 6.3
การเก็บผลผลิต ( Picking )
- หลังการคลุมดิน และดูแลรักษาอุณหภูมิความชื้นภายในโรงเรือนให้เหมาะสมนานประมาณ 10 – 15 วัน เส้นใยเห็ดจะค่อย ๆ พัฒนาเป็นตุ่มดอกเล็ก ๆ สีขาว
- และตุ่มดอกเห็ดดังกล่าวจะค่อยๆ พัฒนาเจริญขึ้นเป็นดอกที่สามารถเก็บเกี่ยวได้
- โดยดอกเห็ดจะให้ผลผลิตน้อย และจะค่อย ๆ เพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นจนได้ผลผลิตสูงสุด
- จากนั้นผลผลิตจะค่อย ๆ ลดต่ำลงจนถึงต่ำที่สุด เรียกว่า 1 ฟลัช ( Flush ) หรือรุ่น
- ความสั้นยาวของรุ่นขึ้นอยู่กับพันธุ์เห็ด อาหารที่เพาะ และอุณหภูมิ
การเจริญเติบโตของเห็ดแชมปิญอง ส่วนการเก็บผลผลิตเห็ดแชมปิญองให้ปฏิบัติดังนี้
- ในระยะที่เห็ดเจริญเติบโตเต็มที่ควรรักษาสภาพความชื้นในโรงเรือนให้อยู่ในระดับ 80-85 % โดยการฉีดพ่นน้ำให้เป็นฝอยภายในโรงเรือนเพาะเห็ด
- การเก็บดอกเห็ดให้ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับที่โคนดอกเห็ด แล้วบิดเบา ๆ จนกระทั่งดอกเห็ดหลุดติดมือออกมา
- ระมัดระวังอย่าให้ดอกเล็ก ๆ ที่อยู่ข้างเคียงได้รับความกระทบกระเทือน
- พร้อมกับเก็บขาของเห็ดที่ตกค้างในปุ๋ยหมักออกให้หมด
- เพราะถ้ามีส่วนของดอกหลงเหลืออยู่ในแปลงก็จะเน่าและทำให้โรคแพร่ระบาดทำลายเห็ดได้
- ผลผลิตของเห็ดที่ได้ ถ้าใช้ปุ๋ยหมัก 70 – 100 กิโลกรัม เพาะในพื้นที่ 3.24 ตารางเมตร
- จะได้ดอกเห็ด 14 – 18 กิโลกรัม ลักษณะของดอกเห็ดที่เก็บจากแปลงควรมีลักษณะที่สมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลงรบกวน

โรคของเห็ดแชมปิญอง
ในการเพาะเห็ดแชมปิญองตามปกติจะพบว่ามีโรคและแมลงศัตรูเห็ดที่คอยทำลายเห็ดแชมปิญองอยู่ตลอดเวลา เชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้ มีการใช้อาหารเช่นเดียวกับเห็ดแชมปิญองจึงทำให้เกิดปัญหาในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูเห็ดแชมปิญองที่สำคัญ มีดังนี้
โรคที่เกิดจากเชื้อรา ( Parasitic moulds )
เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรค อาจอยู่ในกลุ่ม Phycomycetes, Ascomycetes, Basidiomycetes และImperfect Fungi เชื้อราพวกนี้ชอบทำลายเห็ดแชมปิญองในกะบะที่ใช้เพาะโดยจะทำลายเส้นใยเห็ดแชมปิญอง ทำให้เส้นใยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และผลผลิตจะลดต่ำลง โรคที่เกิดจากเชื้อรา ได้แก่
โรคสมองวัว ( Flase truffle disease ) โรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อราพวก Diehliomyces
- Microspora เชื้อราชนิดนี้ตามธรรมชาติอาศัยอยู่ในปุ๋ยหมัก หรือดินที่ใช้กลบ ( Casing Soil )
- สปอร์พวกนี้จะงอกที่อุณหภูมิ 27 – 28 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นเส้นใยจะเจริญที่อุณหภูมิต่ำกว่า
- แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 – 16 องศาเซลเซียส จะชะงักการเจริญเติบโต
- ในระยะแรกเชื้อราจะเจริญลึกลงไปในปุ๋ยหมัก
- เส้นใยของโรคราสมองวัวมีสีเหลืองขาว บริเวณจุดที่เชื้อราพวกนี้เจริญ เส้นใยเห็ดมีน้อยหรือไม่มีเลย
- ซึ่งทำให้เห็ดไม่สามารถสร้างดอกได้ เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคจะมีการสร้าง fruiting body คล้ายสมองวัว ( Calf’s Brain)
- เมื่อเชื้อราเจริญเติบโตเต็มที่ fruiting body จะมีสีน้ำตาลแดงและมีการสร้างสปอร์เป็นจำนวนมาก
- โรคนี้เริ่มเจริญเติบโตในปุ๋ยหมัก ตั้งแต่การต่อเชื้อ
- ในระยะแรกเชื้อเห็ดแชมปิญองแข็งแรงจึงทำให้เชื้อไม่ระบาดรุนแรงมากนัก
- แต่หลังจากเก็บผลผลิตของเห็ดหลาย ๆ รุ่น เชื้อเห็ดจะเริ่มอ่อนแอเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคเจริญและทำลายเส้นใยเห็ด ทำให้ผลผลิตลดลง
โรคสมองวัว สามารถป้องกันกำจัดได้โดย
- การคลุมและหมักปุ๋ยหมักเพื่อใช้เพาะเห็ดแชมปิญอง ควรปฏิบัติบนพื้นปูนซีเมนต์ ไม่ควรกองหมักไว้บนพื้นดิน เพราะระหว่างการหมักจะเกิดความร้อนทำให้สปอร์ของเชื้อโรคแข็งแรง และติดมากับปุ๋ยหมักได้
- ในการกลบผิวหน้าด้วยดิน ไม่ควรใช้ดินที่มีเชื้อทำให้เกิดโรคชนิดนี้
- ควรรักษาโรงเรือนให้สะอาด และควรมีการพักโรงเรือนเพื่อลดการระบาดของโรค
- ในระยะเส้นใยควรรักษาอุณหภูมิระหว่าง 16 – 26 องศาเซลเซียส และในช่วงของการเก็บเกี่ยวควรลดอุณหภูมิลง โดยให้อากาศภายนอกเข้ามาในโรงเรือน ถ้าอุณหภูมิภายนอกต่ำกว่า ในช่วงการเก็บผลผลิตควรรักษาอุณหภูมิให้ต่ำประมาณ 16-18 องศาเซลเซียส และในช่วงหลังเก็บผลผลิตหมดแล้ว ควรอบฆ่าเชื้อในโรงเรือนโดยใช้อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นาน 12 ชั่วโมง
- ถาดที่ใช้ใส่ปุ๋ยหมักเพาะเห็ดแชมปิญอง ควรฉีดฆ่าเชื้อด้วยสารละลาย Napetachlorophenolate 2 % หลังจากเก็บผลผลิตของเห็ดหมดแล้ว
- ถ้าพบโรคนี้ระบาดให้ใช้ปูนขาวผสมเกลือโรยบริเวณที่เกิดโรค พร้อมกับใช้จุนสี ( copper sulphate) ละลายน้ำฉีดพ่นอีกครั้งหนึ่ง
- นำปุ๋ยหมักหรือดินที่ใช้กลบบริเวณที่เป็นโรคออกจากโรงเรือนอย่างระมัดระวัง และควรรีบทำลายทันทีเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดต่อไป
โรคน้ำเหลือง ( Bubble Disease )
โรคนี้เกิดจากเชื้อรา พวก Mycogone perniciosa
- ซึ่งมักพบระบาดทำลายเห็ดแชมปิญองมากที่สุด
- ทำให้ดอกเห็ดเสียรูปทรงไม่ได้สัดส่วน
- บริเวณที่เชื้อโรคเข้าทำลายดอกเห็ดจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลครีม เนื่องจากมีการสร้าง chlamydospore และจะพบหยดสีเหลืองน้ำตาล
- เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียตามดอกเห็ด ทำให้ผลผลิตของเห็ดแชมปิญองต่ำ
- เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคอาจแพร่ระบาดหลังจากการโรยเชื้อโดยติดไปกับอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้เพาะเห็ดก็ได้
- เชื้อราพวกนี้เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ใช้กลบ จึงทำให้เป็นการยากต่อการป้องกันกำจัด
โรคน้ำเหลืองสามารถป้องกันกำจัดโดย
- ปุ๋ยหมักที่ใช้เพาะเห็ด ควรหมักให้ได้ที่โดยเฉพาะปุ๋ยหมักที่ใช้ซุปเปอร์ฟอสเฟตต้องรอให้ปุ๋ยสลายตัวหมดก่อน
- ดินที่ใช้กลบควรผ่านการฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำ และหลังจากกลบดิน
- ถ้าพบว่ามีเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคบนดินให้ใช้ฟอร์มาลินเจือจางฉีดพ่นบริเวณที่เป็นโรค หรือจะใช้ซีเนบ ( Zineb ) อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นก็ได้
- ถ้าพบโรคเริ่มระบาด ให้ฉีดพ่นด้วยเกลือผสมสารละลายจุนสี ( CuSO4 ) พร้อมกับโรยปูนขาวทับลงไป จากนั้นจึงนำดินบริเวณที่เป็นโรคออกในวันต่อมา
- ถ้าพบว่าโรคระบาดในโรงเรือน ควรรักษาอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือนให้ต่ำกว่าปกติ
โรคราเขียวมะกอก ( Olive – Green mould )
เชื้อราที่ทำให้เกิดอยู่ใน Subdivision Ascomycetes ซึ่งเป็นเชื้อราพวก Chaetomium sp.
- ในระยะแรกของการระบาดมักจะพบเป็นปุยสีขาวบาง ๆ เจริญอยู่บนและในปุ๋ยหมัก
- ต่อมาอีก 2 – 3 วัน จะพบตุ่มเล็กสีเขียวมะกอก ตุ่มพวกนี้จะพบอยู่ตามฟาง และมีการสร้างสปอร์ ( Ascospore ) อย่างมากมาย
- เมื่อสปอร์แก่จะมีสีเขียวมะกอกค่อนข้างดำ และมีกลิ่นเหม็นอับ
- ทำให้เส้นใยเห็ดเจริญเพียงเล็กน้อย และผลผลิตของเห็ดลดลง
- เชื้อราพวกนี้มักเจริญในปุ๋ยหมักและไม่เจริญเติบโตในดินที่ใช้กลบ
- การแพร่ระบาดของราเขียวมะกอก อาจเกิดจากมีแอมโมเนียเหลืออยู่ในปุ๋ยหมัก หลังจากการหมักและแอมโมเนียจะถูกเปลี่ยนไปเป็นโปรตีน
- ซึ่งเชื้อราพวกนี้สามารถใช้ในการเจริญเติบโตได้ นอกจากนี้ถ้าในปุ๋ยหมักมีปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์มาก จะทำให้สปอร์ของเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี
โรคราเขียวมะกอกสามารถป้องกันกำจัดได้ดังนี้
- ในการหมักปุ๋ยควรใช้เวลานานพอสมควร เพื่อให้แอมโมเนียสลายตัวให้หมด และปุ๋ยหมักต้องไม่ชื้นมากเกินไป
- ไม่ควรใส่ปุ๋ยพวกไนโตรเจน เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต ยูเรียมูลไก่ ฯลฯ ก่อนที่จะนำปุ๋ยไปเพาะในโรงเรือน
- ถ้าปุ๋ยหมักชื้นมากเกินไป ควรผสมสารพวกคาร์โบไฮเดรต เพื่อปรับความชื้นและเร่งการสลายตัวของแอมโมเนีย
- ควรตรวจอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม อุณหภูมิที่ใช้ในการบ่มพักไม่ควรให้เกิน 60 องศาเซลเซียส
โรคราสีเหลือง ( Yellow mould )
โรคพวกนี้เกิดจากเชื้อราพวก Chrysosporium spp. และเชื้อ Myceliophthora spp.
- ในกรณีที่เริ่มเก็บผลผลิตแล้ว 2 – 3 สัปดาห์
- ดอกเห็ดตุ่มเล็ก ( Pinheads ) จะฝ่อหายไปและผลผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว
- ผู้เพาะควรขุดลงไปในปุ๋ยหมักเพื่อหาสาเหตุ
- ถ้าพบจุดสีเหลืองน้ำตาลตรงบริเวณช่วงต่อระหว่างดินที่ใช้กลบกับปุ๋ย ซึ่งเกิดจากเชื้อราสีเหลือง เชื้อราพวกนี้เจริญเติบโตบนเส้นใยเห็ดได้อย่างดี ทำให้เส้นใยเห็ดฝ่อหายไปจากปุ๋ยหมัก
การป้องกันกำจัดโรคราสีเหลือง ทำได้ดังนี้
- มูลสัตว์หรือปุ๋ยหมักที่ใช้ในการเพาะเห็ดควรผ่านการย่อยสลายตัวดีแล้ว
- ในช่วงพีคฮีทติ้ง ( Peak-Heating ) ควรใช้อุณหภูมิ 56 – 58 องศาเซลเซียส ให้สม่ำเสมอนานอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และให้ปุ๋ยหมักได้รับอากาศอย่างเพียงพอ
- หลังจากเก็บผลผลิตหมดแล้ว ถาดที่ใช้เพาะและชั้นวางถาดควรฉีดฆ่าเชื้อด้วยสารละลาย Na-petachlorophenolate 2 %
โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดโรค ก็คือโรค Bacterial Blotch and Pits
- ซึ่งเกิดจากเชื้อ Pseudomonas tolaasii โรคพวกนี้ มักแพร่ระบาดทำลายดอกเห็ด
- จะพบเป็นจุดที่มีลักษณะเป็นมันสีเหลือง จนถึงสีสนิมที่หมวกดอกเห็ด
- ต่อมาจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองน้ำตาล
- เชื้อแบคทีเรียยังทำลายก้านดอก
- การแพร่ระบาดของเชื้อมักแพร่ระบาดในสภาพอุณหภูมิและความชื้นสูง
- การถ่ายเทของอากาศไม่สะดวก ลักษณะของดอกเห็ดที่ถูกทำลาย
การป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
- ควรทำความสะอาด และรักษาความสะอาดในโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรให้มีเศษเหลือของปุ๋ยหมักตามชั้นที่เพาะเห็ด
- ในกรณีที่มีโรคระบาด ควรฆ่าเชื้อดินที่ใช้กลบ ( Casing soil ) ด้วยไอน้ำหรือใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ 0.25 – 0.30 % ฉีดพ่นทำลายเชื้อแบคทีเรีย
- น้ำที่ใช้ในการเพาะเห็ด ควรปราศจากสารคลอรีน
โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
เชื้อไวรัสทำให้เกิดโรคกับเห็ดแชมปิญอง มีหลายโรค คือ Brown disease, Dieback
- เชื้อไวรัสอาจแพร่ระบาดโดยแมลง เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้เพาะเห็ด
- นอกจากนี้อาจแพร่ระบาดติดไปกับสปอร์ที่ใช้เพาะเห็ด
- เมื่อดอกเห็ดได้รับเชื้อไวรัสดอกเห็ดจะค่อย ๆ แห้งตาย จึงเรียกว่า โรค “Dieback”
- และทำให้เห็ดดอกเล็ก ก้านดอกยาว บานง่าย ผลผลิตต่ำ และเห็ดจะตายก่อนการเก็บเกี่ยว
การป้องกันกำจัดโรคจากเชื้อไวรัส
- เชื้อเห็ดที่ใช้เพาะต้องปราศจากเชื้อไวรัส และควรใส่หัวเชื้อเห็ดแชมปิญองให้มากกว่าปกติ ซึ่งจะช่วยให้เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตเร็วขึ้น และใช้ระยะเวลาในการเพาะน้อยลง
- อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการเพาะเห็ดต้องสะอาด ปราศจากเชื้อไวรัส และควรฆ่าเชื้อด้วยฟอร์มาลดีไฮด์ 2 %
- ถ้าพบว่าดอกเห็ดเป็นโรค ควรเก็บดอกที่เป็นโรคเผาทำลายเสีย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
แมลงศัตรูเห็ดแชมปิญอง
แมลงศัตรูเห็ดที่คอยทำลายเห็ดแชมปิญองมีหลายชนิด จึงจัดว่าเป็นศัตรูที่สำคัญมากชนิดหนึ่ง
แมลงพวกนี้ที่สำคัญ ได้แก่ แมลงหวี่ฟอริด ( Phorid flies )
แมลงหวี่พวกนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Megaselia spp.
- มีลักษณะคล้ายยุง ตัวอ่อน มีความยาว 3 – 4 มม. มีสีขาวเหลือง
- บริเวณส่วนหัวของตัวหนอนไม่มีสีดำ
- ในระยะดักแด้จะชักใยหุ้มตัวและมีความยาว 2 – 5 มม.
- แมลงหวี่พวกนี้นับว่าเป็นศัตรูที่สำคัญที่ทำลายเห็ดแชมปิญอง
- แมลงพวกนี้บินเก่งชอบวางไข่บริเวณครีบดอกและปุ๋ยหมัก
- นอกจากนี้ยังขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
- ตัวอ่อนของแมลงจะกัดกินเส้นใยเห็ด และบางครั้งอาจเจาะเข้าไปในดอกเห็ด ทำให้เห็ดได้รับความเสียหาย
แมลงหวี่เซียริด ( Sciarids )
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sciara spp.
- มีลักษณะเหมือนยุงแต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวมีสีน้ำตาลปนเทา มีหนวดยาว
- ในระยะตัวอ่อนจะกัดกินปุ๋ยหมัก และเส้นใยเห็ด
- ทำให้เห็ดตายได้ โดยจะเจาะเข้าไปทางโคนดอกเห็ด
- เมื่อผ่าดอกเห็ดจะพบหนอนอยู่ภายในยาวประมาณ 4 – 8 มม.
- ส่วนตัวเต็มวัยจะมีความยาว 3 – 4 มม.
แมลงหวี่ซีซิด ( Cecids )
- มีขนาดลำตัวเล็กมาก ยาวประมาณ 1 มม. ตัวหนอนมีความยาว 1 – 2 มม. มีหลายสี
- ตัวหนอนพวกนี้ จะเข้าทำลายกัดกินเส้นใยเห็ด และดอกเห็ด
- ทำให้ดอกเห็ดมีสีเหลือง สกปรกและมีกลิ่นเหม็น
- มีอัตราการขยายพันธุ์เร็วมาก
- ชอบทำลายตรงบริเวณระหว่างดอกเห็ดกับขาเห็ด
การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูเห็ด
- ให้ทำความสะอาดบริเวณโรงเรือนและข้างโรงเรือน อย่าให้เป็นแหล่งเพาะและแพร่พันธุ์ของแมลง
- ส่วนปุ๋ยหมักที่ผ่านการเพาะแล้ว ควรนำออกจากฟาร์ม
- อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะแมลงจะวางไข่และแพร่พันธุ์ได้ง่าย
- คลุกผสมปุ๋ยหมักที่ใช้เพาะเห็ดด้วย diazinon 2 % ชนิดผงประมาณ 1 กก. ต่อปุ๋ยหมัก 1,000 กก.
- ฉีดพ่นบริเวณรอบๆ โรงเรือนเพาะเห็ดด้วยจุลินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ
ไรศัตรูเห็ดแชมปิญอง ( Mite )
ไรจัดเป็นแมลงศัตรูเห็ดที่สำคัญชนิดหนึ่งของเห็ดแชมปิญอง
- ส่วนใหญ่ไรพวกนี้จะติดมากับตอซังข้าว มูลไก่ ปุ๋ยหมัก ฯลฯ
- ไรพวกนี้นอกจากจะกินเส้นใยเห็ดเป็นอาหารแล้ว
- ยังก่อความรำคาญให้แก่ผู้เพาะ เช่น ไรพวก Tarsonemus myceliophogus Hussey
- นอกจากจะกินเส้นใยเป็นอาหารแล้วยังเป็นพาหะนำโรคไวรัสอีก
- นอกจากนี้พวก Pygmephorus ซึ่งจะทำลายแพร่ระบาดในกะบะเพาะแล้วและเป็นพาหะนำโรคราเขียวมะกอก
ชนิดและอัตราสารฆ่าไร
- Abamectin ( เวอร์ทิเมค Vertimec) อัตรา 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
- Pyridaben ( แซนไมท์ Sanmite 20 WP.) อัตรา 15 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
วิธีใช้สารที่ถูกวิธี
- ใช้พ่นในระยะพักก้อนเห็ดในโรงเรือน ทิ้งไว้นานประมาณ 15 วัน แล้วนาก้อนเชื้อใหม่เข้ามา
- ใช้พ่นห้องถ่ายเชื้อก่อนถ่ายเชื้อจากหัวเชื้อสู่ก้อนเชื้อ
- พ่นที่ถุงก้อนเชื้อระยะบ่มเส้นใย โดยผสมสารจับใบ
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
- วิธีการเพาะเชื้อเห็ดในอาหารเหลว พี.ดี.เอ. และขยายเชื้อ
- โรงเพาะเห็ดระบบ Evaporative ( EVAP )
- วิธีการเพาะเห็ดขอนขาว
- วิธีการเพาะเห็ดนางฟ้า ( เห็ดนางรมอินเดีย ) เห็ดนางฟ้าภูฐาน ( เห็ดนางรมภูฐาน หรือเห็ดภูฐาน )
- วิธีการเพาะเห็ดสกุลนางรม ( เห็ดนางฟ้า ) : ม. แม่โจ้
- วิธีการเพาะเห็ดหลินจือ ม.แม่โจ้
- วิธีการเพาะเห็ดยานางิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น
- วิธีการเพาะเห็ดเป๋าฮื้อ
- วิธีการเพาะเห็ดแครง
- วิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดฟางวิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง แบบ กอง, โรงเรือน และ ในตะกร้า
- วิธีการเพาะเห็ดเยื่อไผ่ หรือ เห็ดร่างแห
- วิธีการเพาะเห็ดแชมปิญอง หรือ เห็ดกระดุม
- วิธีการเพาะเห็ดเข็มทอง
- วิธีการเพาะขยายพันธุ์ เห็ดเผาะ หรือ เห็ดถอบ : ม.แม่โจ้
- วิธีการเพาะเห็ดหอม หรือเห็ดชิตาเกะ
- วิธีเพาะเห็ดนางรมหลวง หรือเห็ดออรินจิ
- วิธีการเพาะเห็ดหูหนูขาว หรือเห็ดแม่ไก่
- วิธีเพาะเห็ดหูหนูดำหลังขาว หรือเห็ดหูช้าง