การเพาะเห็ดหูหนู
เห็ดหูหนูเป็นเห็ดที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลกมานานแล้ว โดยเฉพาะประเทศทางทวีปเอเชีย เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เวียตนาม ฟิลิปปินส์ พม่า และ มาเลเซีย เป็นต้น
ลักษณะดอกเห็ดหูหนู
การเพาะเห็ดหูหนูมีกรรมวิธีการผลิตที่สามารถแบ่งเป็นขั้นตอนใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
- การแยกเชื้อบริสุทธิ์จากดอกเห็ดหูหนู
- การทำหัวเชื้อเห็ด
- การทำเชื้อ
- การเพาะเห็ดหูหนู
- การทำให้ออกดอก
การแยกเชื้อบริสุทธิ์สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อ
- การแยกเชื้อเห็ดจากสปอร์โดยการแยกเชื้อเห็ดวิธีแรกจะนิยมใช้กันมากกว่าวิธีที่สอง
การเพาะเห็ดหูหนู
- การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากเนื้อเยื่อ เป็นวิธีการที่นิยมกันมากที่สุด
- เพราะผลที่ได้ตรงตามพันธุ์ ทำได้โดยใช้กรรไกรหรือมีดโกนชุบแอลกอฮอล์ ตัดขอบดอกเห็ดโดยรอบ แล้วลอกดอกเห็ดออกเป็น 2 ชั้น
- อย่าให้ส่วนภายในที่ลอกออกมาใหม่ๆ สัมผัสกับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น
- จากนั้นลนเข็มเขี่ยให้ร้อนแดงเพื่อฆ่าเชื้อ
- วิธีลนเข็มเขี่ยควรลนในลักษณะตั้งตรง เพราะสามารถรับเปลวไฟได้มากที่สุด
- การจับให้จับตรงโคนคล้ายจับปากกา เมื่อลนเข็มเขี่ยแล้วปล่อยทิ้งไว้จนเย็นพอประมาณอย่าแกว่งหรือไปสัมผัสกับสิ่งใด
- ต่อมาจึงใช้เข็มเขี่ยขูดเอาเนื้อเยื่อส่วนในออกมาเล็กน้อย
- จากนั้นเปลี่ยนมือจากดอกเห็ดมาเป็นขวดอาหารวุ้น พี.ดี.เอ.แทน พยายามให้ก้นขวดอยู่ในอุ้งมือใช้นิ้วก้อยของมือที่จับเข็มเขี่ยจับจุกสำลีหมุนและดึงออก
- ขณะถอดจุกสำลีให้ลนไฟบริเวณคอขวดไว้ตลอดเวลา สอดเนื้อเยื่อที่ตัดไว้เข้าไปวางในจุดใดจุดหนึ่งบนอาหารวุ้นรีบปิดจุกสำลีทันที
- วิธีการที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะต้องปฏิบัติในตู้เขี่ยเชื้อโดยเทคนิคปราศจากเชื้ออื่นๆ ปน
- หลังจากทำการเขี่ยเนื้อเยื่อลงในอาหารวุ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว
- ให้นำไปบ่มไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิสม่ำเสมอ ปกติอยู่ระหว่าง 22 – 26 องศาเซลเซียส ห้องบ่มควรเป็นห้องมืดเพราะเส้นใยเห็ดหูหนูขณะเจริญเติบโตไม่ต้องการแสง
- เมื่อบ่มเชื้อได้ประมาณ 2 – 3 วัน จะเริ่มมีเส้นใยสีขาวฟูๆ ออกจากเนื้อเยื่อที่ตัดวางไว้ ( ถ้าเกิดบริเวณอื่น แสดงว่าไม่ใช้เชื้อเห็ดหูหนู )
- ปล่อยให้เชื้อเห็ดเจริญไปประมาณ 5 – 8 วัน จึงใช้เข็มเขี่ยตัดเอาส่วนปลายของเส้นใยเห็ดพร้อมอาหารวุ้นไปใส่ลงในอาหารวุ้นขวดใหม่ เพื่อจะให้ได้เชื้อเห็ดที่บริสุทธิ์จริง
- ในการแยกเชื้อครั้งต่อไป ไม่จำเป็นต้องแยกจากดอกเห็ดอีก
- แต่จะทำการตัดเอาเส้นใยพร้อมอาหารวุ้นภายในขวดประมาณ 1 ตารางเซนติเมตร ใส่ลงในอาหารวุ้นขวดใหญ่
- ในการต่อเชื้อไม่ควรเกิน 4 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มแยกจากดอก
- ทั้งนี้เพราะเชื้อเห็ดหูหนูเสื่อมง่ายกว่าเห็ดฟาง คือระยะเวลาที่จะออกดอก และช่วงเวลาในการให้ดอกช้าลง พร้อมทั้งให้ผลผลิตต่ำลงด้วย
การคัดเลือกดอกเห็ดที่จะนำมาทำพันธุ์
- ควรเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพบรรยากาศเช่นใด
- ควรเป็นดอกเห็ดที่ใหญ่แข็งแรง มีขนสั้นสีน้ำตาล สีดอกสดสวย ไม่มีก้านดอกและเป็นที่นิยมของตลาด
- เลือกดอกเห็ดที่มีสีเข้ม เป็นมันเงาและน้ำหนักดี ดอกเห็ดควรเก็บในเวลาเช้า
- ห้ามรดน้ำและควรเก็บมาแล้วไม่เกิน 2 ชั่วโมง
การทำหัวเชื้อเห็ด
- มีจุดประสงค์เพื่อตัดปัญหาการปฏิบัติอันยุ่งยากในการถ่ายเชื้อบริสุทธิ์ที่เลี้ยงไว้บนอาหารวุ้นไปยังวัสดุที่ทำเชื้อเห็ด
- การทำเชื้อเห็ด โดยใช้หัวเชื้อทำได้รวดเร็วกว่าใช้เชื้อบริสุทธิ์จากอาหารวุ้น วัสดุที่ใช้ทำหัวเชื้อที่นิยมกันมากที่สุด คือข้าวฟ่างชนิดเมล็ดขาวจะให้ผลดีที่สุด
วิธีทำ
- โดยนำเมล็ดข้าวฟ่างมาแช่น้ำ 1 คืน
- น้ำควรเปลี่ยน 2 – 3 ครั้ง เพื่อป้องกัน มิให้บูดเน่า
- ในตอนเช้าให้ล้างเมล็ด ข้าวฟ่างที่เตรียมไว้อีกครั้งให้สะอาดเก็บเมล็ดเสียและลีบออกทิ้ง
- นำไปต้มให้เมล็ดข้าวฟ่างนุ่ม ระวังอย่าให้เมล็ดข้าวฟ่างแตก เทเมล็ดข้าวฟ่างลงในผ้าขาวบาง เกลี่ยบาง ๆ
- อาจใช้ขี้เลื่อยที่มีความชื้นประมาณร้อยละ 60 ใส่ลงไปผสมด้วยประมาณร้อยละ 20
- และเติมหินปูนประมาณร้อยละ 0.2 ทั้งนี้เพื่อให้เส้นใยเห็ดคุ้นเคยกับขี้เลื่อย หรือจะใช้เมล็ดข้าวฟ่างเพียงอย่างเดียวก็ได้
- หลังจากผึ่งทิ้งไว้จนเย็นพอจับได้
- นำมากรอกใส่ขวดที่สะอาด เช่น ขวดแบน ขวดโซดา กรอกใส่ขวดประมาณครึ่งขวดหรือ 2 ใน 3 ของขวด เช็ดปากขวดให้สะอาดอุดจุกสำลี หุ้มสำลีด้วยกระดาษรัดยางอีกชั้นหนึ่ง
- นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันที่ความดันไอน้ำ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ประมาณ 15 – 20 นาที
- เมื่อนึ่งเสร็จแล้วทิ้งให้เย็น ก่อนที่จะเขี่ยเชื้อเห็ดลงไป ต้องเขย่าขวดจนเมล็ดข้าวฟ่างกระจาย เพื่อให้ความชื้นกระจายไปทั่ว ๆ ทั้งขวด และป้องกันก้นขวดแฉะ อันจะทำให้เชื้อเห็ดไม่สามารถเดินถึงก้นขวดได้
- หลังจากนั้นให้เขี่ยเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากอาหารวุ้นใส่ลงขวด โดยเทคนิคปราศจากเชื้ออื่นปน
- เชื้อเห็ดจะเจริญจนเต็มขวดและใช้เป็นหัวเชื้อได้ภายในเวลาประมาณ 10 – 20 วัน
- ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 15 วัน เพราะเส้นใยจะจับกันแน่น ยากแก่การเขี่ยเชื้อ
- อย่างไรก็ตาม การเขย่าขวดเพื่อให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายออกจากกัน อาจทำหลังจากที่เพาะเชื้อลงในขวดข้าวฟ่างก็ได้ ในขณะที่เชื้อเริ่มเจริญเติบโตขึ้นเล็กน้อย และการเขย่าขวดในระยะนี้จะทำให้เส้นใยกระจายไปทั่วและเจริญอย่างรวดเร็ว
- การทำเชื้อโดยทั่วๆ ไป การเพาะเห็ดหูหนูในท่อนไม้จะให้ผลผลิตสูง เชื้อเห็ดที่ใส่ลงในท่อนไม้ไม่นิยมใช้หัวเชื้อ ทั้งนี้เพราะอาหารบนหัวเชื้อดีกว่าในไม้ เส้นใยเห็ดจะไม่ยอมเดินลงไม้ ดังนั้น เชื้อเห็ดหูหนูควรทำมาจากขี้เลื่อยหรือขุยมะพร้าว เพราะว่าวัสดุเหล่านี้มีธาตุอาหารใกล้เคียงกับท่อนไม้ที่ใช้เพาะ โดยการนำขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน
- ถ้าเป็นขี้เลื่อยไม้เนื้อแข็งต้องผ่านการหมักเสียก่อน และต้องมาผสมกับธาตุอาหารต่างๆ ที่เห็ดต้องการ
- ถ้าเป็นเชื้อเห็ดที่จะนำไปเพาะในท่อนไม้ ไม่ควรเติมธาตุอาหารลงไปมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งดีเกลือควรงด เพราะจะทำให้เส้นใยรวมตัวกันเป็นดอกก่อนที่จะเจริญเข้าไปในเนื้อไม้
การเพาะเห็ดหูหนู
- สูตรอาหารที่แนะนำให้ใช้โดยทั่วไปจะประกอบด้วย
- ขี้เลื่อยไม้ยางพาราแห้ง 100 กิโลกรัม
- รำละเอียด 3 – 5 กิโลกรัม
- ข้าวโพดป่น 3 – 5 กิโลกรัม
- แป้งข้าวสำลี หรือน้ำตาลทราย 1 – 2 กิโลกรัม
- และหินปูน 0.5 – 1 กิโลกรัม ( ไม่ใส่ก็ได้ )
วิธีทำ
- ผสมขี้เลื่อยรำละเอียด ข้าวโพดป่น แป้งข้าวสาลีหรือน้ำตาลทรายและหินปูนให้เข้ากัน
- ใส่น้ำลงไปทีละน้อย คลุกจนเปียกพอดีโดยลองกำดู
- ถ้ามีความรู้สึกว่าชื้นที่มือเมื่อแบมือออกขี้เลื่อยจับกันเป็นก้อนแสดงว่าใช้ได้แล้ว
- แต่เมื่อบีบดูแล้วน้ำไหลออกจากง่ามน้ำมือมาก ๆ แสดงว่าเปียกเกินไป
- ถ้ากำดูแล้วไม่มีน้ำซึมออกมาเลย และเวลาแบมือออกขี้เลื่อยจะหลุดเป็นผงแสดงว่าแห้งเกินไปให้ค่อย ๆ เติมน้ำอีก และทดสอบจนได้ความชื้น
- เมื่อผสมคลุกเคล้าธาตุอาหารให้เข้ากันแล้ว นำมาบรรจุในถุงพลาสติกทนร้อนที่ใช้เพาะเห็ดก่อนบรรจุขี้เลื่อย ควรพับก้นถุงให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมก่อน
- แล้วจึงบรรจุขี้เลื่อยผสมลงไปประมาณ 1 กิโลกรัม
- บรรจุให้แน่นพอประมาณพยายามใส่ขี้เลื่อยผสมให้ทับทั้งสี่มุม เพื่อให้ถุงคงรูปอยู่เวลาตั้งจะได้ไม่ล้ม
- เมื่อบรรจุจนเกือบถึงบริเวณที่จะใส่คอขวดพลาสติกควรอัดให้แน่น
- แล้วจึงสวมคอขวดพร้อมกับดึงถุงพลาสติกพับกลับทับคอขวดรัดยางให้แน่น อุดด้วยสำลีหุ้มด้วยกระดาษและฝาครอบคอขวดหรือปิดด้วยจุกประหยัดสำลี
- เสร็จแล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งสำหรับนึ่งถุงขี้เลื่อยที่อุณหภูมิ 95 – 100 องศาเซลเซียส นาน 3 – 4 ชั่งโมง
- เมื่อครบเวลารอให้อุณหภูมิลดลง 80 – 85 องศาเซลเซียส แล้วจึงเปิดฝาหม้อนึ่งความดัน
- นำถุงขี้เลื่อยที่นึ่งออกมา ทิ้งไว้ให้เย็นเป็นปกติแล้วนำเข้าห้องปลูกเชื้อต่อไป
- ต่อมานำหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้เขย่าให้เมล็ดข้าวฟ่างร่วน
- และลนปากขวดหัวเชื้อเห็ดด้วยตะเกียงแอลกอฮอล์
- เทเมล็ดหัวเชื้อประมาณ 10 – 15 เมล็ด ใส่ในถุงขี้เลื่อยที่เตรียมไว้
- หลังจากใส่เชื้อแล้วนำไปเข้าห้องบ่มเชื้อ
- ที่อุณหภูมิธรรมดาและมีอากาศถ่ายเทสะดวก เส้นใยเห็ดจะเจริญเต็มถุงขี้เลื่อยใช้เวลา 25 – 30 วัน
การทำให้ออกดอก
- จะเห็นว่าการเปิดดอกเห็ดหูหนูจะแตกต่างจากเห็ดอื่น ๆ เห็ดหูหนูจะให้ดอกเห็ดออกด้านข้างถุงโดยรอบ
- เมื่อเส้นใยเห็ดเจริญเต็มถุง ให้ดึงคอขวดออกแล้วปิดปากถุง
- ใช้มีดบาง ๆ หรือคัดเตอร์กรีดข้างถุงให้เป็นแนวเฉียงยาว สลับกันไปจนรอบถุง
- การกรีดถุงควรกรีดในลักษณะเฉียงลง แบบกรีดต้นยางพาราจะดีกว่ากรีดตามแนวดิ่ง เพราะสามารถเก็บความชื้นได้ดีกว่า
- กรีดให้ยาวประมาณ 6 – 8 เซนติเมตร โดยรอบประมาณ 15 – 20 แผล จากนั้นจึงนำถุงเห็ดไปวางบนชั้น หรือแขวนในโรงเปิดดอก โรงเรือนนี้ต้องสามารถเก็บความชื้นได้ดี
- การรดน้ำควรใช้เครื่องฉีดชนิดพ่นฝอย ฉีดให้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อวัน
- เห็ดหูหนูต้องการความชื้นในการออกดอกสูงมาก
การเก็บผลผลิต
- จะพบว่าดอกเห็ดหูหนูระยะแรกขอบจะหนาและโค้งคล้ายถ้วย เมื่อเจริญเต็มที่แล้วขอบของดอกเห็ดจะบางโค้งเป็นลอน ถ้าดึงจะหลุดได้ง่าย
- ในระยะนี้เป็นระยะที่เก็บได้ การเก็บเมื่อดอกเห็ดโตเต็มที่พร้อมกันแล้ว ใช้มือรวบแล้วดึงเบา ๆ นำมาตัดก้านพร้อมทั้งเศษวัสดุที่ติดมาด้วยออกทิ้ง
- บางแห่งการเก็บผลผลิตจะเก็บเฉพาะดอกแก่ก่อน ส่วนที่เหลือก็รอเก็บในวันถัดไป
- วิธีนี้ถึงแม้เสียเวลาในการเก็บบ้าง แต่ก็สามารถเก็บได้ทุกวัน แต่จะมีเศษดอกเห็ดฉีกขาด ทำให้ดอกเห็ดเน่าเสียหายได้และมีศัตรูเห็ดเกิดขึ้น เช่น แมงหวี่ ฉะนั้นควรเก็บดอกเห็ดให้หมดในรุ่นเดียวกัน
- ก้อนเชื้อที่ทำการเก็บผลผลิตไปแล้วนั้น ควรพักการรดน้ำประมาณ 5 – 8 วัน แล้วทำการรดน้ำใหม่ ก็จะทำให้ดอกเห็ดออกเร็วยิ่งขึ้น
- ผลผลิตของเห็ดหูหนูที่ได้ ถ้าถุงเพาะขนาด 1 กิโลกรัม จะให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 400 – 700 กรัมใช้เวลาเก็บประมาณ 2 เดือน – 2 เดือนครึ่ง
- ถ้าเหลือจากการจำหน่ายดอกเห็ดสดก็สามารถนำมาทำแห้งเก็บไว้ได้
- โดยนำดอกเห็ดมาล้างทำความสะอาดและใช้มีดตัดแต่ง แล้วนำเห็ดใส่ตะแกรงผึ่งแดดให้แห้งหรือโดยการอบแห้ง จนกระทั่งเห็ดมีความชื้น 8 – 12 เปอร์เซ็นต์
- ถ้าเป็นเห็ดหูหนูชนิดบาง น้ำหนักจะลดลง 10 เท่าตัวของน้ำหนักสด แต่ถ้าเป็นเห็ดหูหนูชนิดหนา น้ำหนักจะลดลงประมาณ 5-8 เท่าตัว
- โดยทั่วไปเห็ดหูหนูที่พบมี 2 ชนิด คือเห็ดหูหนูพันธุ์บาง และพันธุ์หนา

ดูข้อมูลเพิ่มเติม
- วิธีการเพาะเชื้อเห็ดในอาหารเหลว พี.ดี.เอ. และขยายเชื้อ
- โรงเพาะเห็ดระบบ Evaporative ( EVAP )
- วิธีการเพาะเห็ดขอนขาว
- วิธีการเพาะเห็ดนางฟ้า ( เห็ดนางรมอินเดีย ) เห็ดนางฟ้าภูฐาน ( เห็ดนางรมภูฐาน หรือเห็ดภูฐาน )
- วิธีการเพาะเห็ดสกุลนางรม ( เห็ดนางฟ้า ) : ม. แม่โจ้
- วิธีการเพาะเห็ดหลินจือ ม.แม่โจ้
- วิธีการเพาะเห็ดยานางิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น
- วิธีการเพาะเห็ดเป๋าฮื้อ
- วิธีการเพาะเห็ดแครง
- วิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดฟางวิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง แบบ กอง, โรงเรือน และ ในตะกร้า
- วิธีการเพาะเห็ดเยื่อไผ่ หรือ เห็ดร่างแห
- วิธีการเพาะเห็ดแชมปิญอง หรือ เห็ดกระดุม
- วิธีการเพาะเห็ดเข็มทอง
- วิธีการเพาะขยายพันธุ์ เห็ดเผาะ หรือ เห็ดถอบ : ม.แม่โจ้
- วิธีการเพาะเห็ดหอม หรือเห็ดชิตาเกะ
- วิธีเพาะเห็ดนางรมหลวง หรือเห็ดออรินจิ
- วิธีการเพาะเห็ดหูหนูขาว หรือเห็ดแม่ไก่
- วิธีเพาะเห็ดหูหนูดำหลังขาว หรือเห็ดหูช้าง