การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย


เป็นวิธีเพาะแบบดั่งเดิมที่คิดค้นโดย อาจารย์ ก่าน ชลวิจารณ์ ผู้ริเริ่มการเพาะเห็ดฟางในไทยครั้งแรก เป็นลักษณะการเพาะด้วยการกองฟางให้สูงขึ้นหรืออัดฟางในแบบไม้เป็นชั้นๆ เป็นรูปแแบที่มีการใช้ฟางหรือวัสดุเพาะจำนวนมาก ปัจจุบันยังมีการเพาะด้วยวิธีนี้อยู่ แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก เป็นเพียงการเพาะเพื่อนำมาบริโภคภายในครอบครัวหรือจำหน่ายเป็นตลาดเล็กๆ เท่านั้น
เป็นวิธีการกองฟางหรืออัดฟางเป็นชั้นๆ วางบนพื้นดิน อาจเป็นชั้นเดียวเตี้ยหรือหลายชั้นสูงก็ได้ มีลักษณะเป็นก้อนรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก เป็นรูปแบบที่มีการใช้ฟางหรือวัสดุเพาะจำนวนมาก แต่มีพื้นที่การเกิดเห็ดฟางมากกว่าวิธีกองสูง
เป็นวิธีการเพาะเห็ดฟาง ด้วยการกองฟางบนดินเพียงชั้นเดียวหรือ 2-3 ชั้น ที่กองไม่สูงมาก ปัจจุบันเป็นที่นิยมของเกษตรกรที่เพาะเห็ดฟางเพื่อบริโภคเองหรือจำหน่ายตามครัวเรือนเล็กๆ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีใช้ไม้แบบ และไม่ใช้ไม้แบบ
วัสดุ อุปกรณ์
- ฟางข้าว
- อาหารเสริม เช่น รำข้าว กากมันสำปะหลัง กากถั่วเหลือง เป็นต้น
- ไม้โครง
- ผ้าพลาสติก
- บัวรดน้ำ
- แป้งข้าวสาลีหรือแป้งข้าวจ้าว
- เชื้อเห็ด
- ไม้แบบ ( แบบพิมพ์ไม้หรือกระบะไม้ )
- นิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู
- ด้านบน 30 x 120 ซม.
- ด้านล่าง 40 x 150 ซม.
- สูง 40 x 45 ซม.
ขั้นตอนการเพาะ ( แบบไม่ใช้ไม้แบบ )
- นำฟางข้าวมาแช่น้ำนาน 1 วัน
- นำฟางข้าวที่แช่น้ำได้แล้ว วางเป็นกองในแนวเดียวกันตามทางยาว เพียงชั้นเดียว รดน้ำให้ชุ่ม พร้อมใช้มือกดหรือขึ้นเหยียบให้มีความสูงประมาณ 10-15 ซม. ความกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามความเหมาะสม
- นำอาหารเสริมมาโรยทับให้ทั่ว พร้อมโรยด้วยเชื้อเห็ดฟางที่คลุกกับแป้งสาลี
- นำฟางมามาโรยทับบางๆ หรือให้หนาเพียง 1-2 ซม. เท่านั้น และรดน้ำพอชุ่ม
- ทำการปักหลักยึดโครง พร้อมนำผ้าพลาสติกคลุมให้ทั่วกอง และปล่อยให้มีรูระบายอากาศเล็กน้อย
ขั้นตอนการเพาะ ( แบบใช้ไม้แบบ )
- นำฟางข้าวมาแช่น้ำนาน 1 วัน
- นำฟางข้าวที่แช่น้ำได้แล้ววางอัดเป็นกองในไม้แบบ กว้างประมาณ 30 ซม. สูง 20-30 ซม. ความยาวตามความเหมาะสม รดน้ำให้ชุ่ม พร้อมใช้มือกดหรือขึ้นเหยียบให้มีความสูงประมาณ 10 ซม.
- นำอาหารเสริมมาโรยทับให้ทั่ว โดยโรยห่างจากขอบกองลึกประมาณ 8-10 ซม. พร้อมโรยด้วยเชื้อเห็ดฟางที่คลุกกับแป้งสาลี หลังจากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม
- นำฟางมามาโรยทับเป็นชั้นต่อไป และโรยเชื้อ ซึ่งวิธีนี้จะได้ชั้นเห็ดที่ 3 ชั้น จากความสูงกอง 30 ซม. ชั้นสุดท้ายโรยฟางปิดบางๆ พร้อมแกะไม้แบบออก
- ปักหลักยึดโครง
การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน

เครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิตเห็ดฟาง
- เชื้อเห็ดฟาง
- ฝ้าย 500 กิโลกรัม
- ฟางอัด 6 ก้อน
- ปุ๋ยยูเรีย 4 กิโลกรัม
- ข้าวโพดป่น 4 กิโลกรัม
- ปูนหอยหรือปูนมาร์ล 3 กิโลกรัม
- ยิปซั่ม 7.5 กิโลกรัม
- แป้งข้าวเหนียว 2.5 กิโลกรัม
- สารเร่ง พด.1 1 ซอง
- ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ (พด.2) 5 ลิตร
- สารเร่ง พด.3 1 ซอง
- ฟางข้าว หรือผักตบชวา หรือกระสอบป่าน
- โรงเรือน เตาอบไอน้ำ และเชื้อเพลิง
- ชั้นไม้วางฐานเพาะเห็ด
- น้ำที่ปลอดสารคลอรีน และเครื่องปั๊มน้ำ
- เครื่องผสมปุ๋ยหมักเห็ด
- บ่อซีเมนต์
- ผ้าพลาสติก
- เครื่องปั๊มฉีดพ่นน้ำ
- เทอร์โมมิเตอร์
สารเร่ง พด.1
มีจุลินทรีย์หลายชนในการช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเศษพืชหรือวัสดุเหลือใช้ชนิดต่าง ๆ จุลินทรีย์เหล่านี้เป็นพวกที่ต้องการออกซิเจนในการขยายจำนวนและดำรงชีวิตอยู่ได้ ผลจากการย่อยสลายสารอินทรีย์จะได้แหล่งธาตุอาหารเห็ดเพิ่มขึ้น และเพิ่มจุลินทรีย์ที่สามารถยับยั้งและควบคุมเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคเห็ดได้
สารเร่ง พด.2
นำมาทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ โดยใช้ส่วนของโคนเห็ดที่เหลือจากการตัดแต่งมาผสมกับกากน้ำตาลหมักไว้ ซึ่งในสารเร่ง พด.2 จะมีจุลินทรีย์จำพวกที่ไม่ต้องการออกซิเจน ในการขยายจำนวนและการดำรงชีวิต จุลินทรีย์เหล่านี้จะย่อยสลายสารอินทรีย์ ซึ่งผลจากการย่อยสลายสารอินทรีย์โดย จุลินทรีย์ดังกล่าวจะได้ฮอร์โมนหรือสารเสริมการเจริญเติบโตของเห็ดเกิดขึ้น และเพิ่มแร่ธาตุอาหารของเห็ดในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน
สารเร่ง พด.3
นั้นเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อสาเหตุโรคเห็ด ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อโรคเห็ด รวมทั้งสามารถทำลายและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคเห็ดได้ด้วย ทำให้สามารถเก็บผลผลิตได้ยาวนานขึ้น จากการสังเกตพบว่าเมื่อใช้สารเร่ง พด.1 พด.2 และ พด.3 กับการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนสามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10 % หรือประมาณ 20 กก. ต่อการผลิตในโรงเรือน / โรง ขนาดของเห็ดมีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่าปกติประมาณ 1-2 เท่า น้ำหนักของเห็ดดีขึ้น คุณภาพความหวานของเห็ดเพิ่มขึ้นด้วย
ขั้นตอนและวิธีการผลิตเห็ดฟางในโรงเรือน
-
- นำฝ้ายที่เตรียมไว้ใส่บ่อซีเมนต์ซึ่งใส่น้ำไว้พอประมาณ รดน้ำให้ชุ่มแล้วใช้แรงงานคนย่ำเพื่อให้น้ำซึมเข้าในฝ่ายให้ทั่วแล้วทิ้งไว้ 1 คืน
- นำฟาง ปุ๋ยยูเรีย ข้าวโพดป่น ปูนหอย ยิปซั่ม แป้งข้าวเหนียว สารเร่งพด.1,3 ปุ๋ยอินทรีย์น้ำตามอัตราส่วนที่เตรียมไว้ โรยบนฝ้ายที่เตรียมไว้ในขั้นตอนที่ 1 ให้ทั่วแล้วมาผสมในเครื่องปั่น ผสมเพื่อให้ส่วนผสมเข้ากันดี โดยการปั่นผสม 2 ครั้ง แล้วนำไปหมักไว้ในบ่อซีเมนต์ที่เตรียมไว้แล้วคลุมด้วยผ้าพลาสติกทิ้งไว้เป็นเวลา 3 วัน
- ในระหว่างการหมักทิ้งไว้ตามขั้นตอนที่ 2 ให้ทำความสะอาดห้องเพาะและโรงเรือนเพาะเห็ดตลอดจนชั้นวาง แล้วนำฟางข้าวหรือผักตบชวา หรือกระสอบป่านซึ่งแช่น้ำเตรียมไว้แล้ว 1 คืน ขึ้นวางบนชั้นเพาะเห็ดฟาง
- นำส่วนผสมของปุ๋ยหมักในขั้นตอนที่ 2 ที่หมักไว้ไปวางบนชั้นเพาะเห็ดแล้วเกลี่ยให้ทั่วกัน
- ต้มน้ำเพื่อนำไอน้ำส่งไปตามท่อสู่เพาะเห็ด เพื่ออบฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อุณหภูมิประมาณ 70 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง แล้วทิ้งไว้ให้ห้องเย็นเท่ากับอุณหภูมิปกติ ( ประมาณ 12 ชั่วโมง )
- นำเชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้โรยตามชั้นเพาะเห็ด โดยใช้เชื้อเห็ดฟาง 3 ถุง / ตร.ม. และรดน้ำที่ผสมด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ( พด.2 ) ให้ทั่วปิดห้องทิ้งไว้ 3 วัน
- วันที่ 4 หลังจากปิดห้องทิ้งไว้ 3 วัน ในขั้นตอนที่ 6 แล้วเปิดห้องและรดน้ำที่ผสม ด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ( พด.2 ) เพื่อให้เส้นใยของเห็ดรวมตัวกลายเป็นดอกเห็ดบนชั้นเพาะเห็ด ส่วนเวลากลางคืนให้ไฟแสงสีฟ้า เป็นเวลา 5 คืน ในระหว่างนี้ต้องคอยดูแลควบคุมอุณหภูมิในโรงเพาะให้อยู่ที่ระดับ 28-31 องศาเซลเซียส โดยการเปิด-ปิดประตูห้องเพาะให้มีการถ่ายเทอากาศ
- หลังจากโรยเชื้อเห็ดแล้วประมาณ 10 วัน เห็ดจะเริ่มงอกและทยอยเก็บผลผลิตไปจำหน่ายได้เป็นเวลา 7 วัน
ต้นทุนในการผลิตเห็ดฟางแบบโรงเรือน
ห้องขนาด 7×7 เมตร / 20 ชั้น โดยใช้ฟางข้าว
ฝ้าย อาหารเสริม ฟางข้าว เชื้อเห็ด ค่าแรงงาน ค่าเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า รวมผลผลิต ราคา รายได้ คงเหลือ ระยะเวลา | 1,750 500 1,000 1,500 1,500 300 200 6,750220 45 9,900 3,150 22 | บาท บาท บาท บาท บาท บาท บาท บาท / กิโลกรัม บาท / กิโลกรัม บาท บาท วัน |
หมายเหตุ
เมื่อเก็บเห็ดจนหมดรุ่นแล้วให้นำวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดออกจากชั้นโรงเรือนไปกองทำเป็นปุ๋ยหมักหรือผสมกับวัสดุอื่น ๆ ทำเป็นดินผสมเพื่อปลูกพืชต่อไป
เศษเห็ดฟางที่ได้จากการตัดแต่งเห็ดก่อนออกจำหน่ายสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ( ปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากเห็ดฟาง ) เพื่อเตรียมไว้ใช้สำหรับผลิตเห็ดฟางต่อไป
การเพาะเห็ดฟางบนวัสดุประยุกต์

การเพาะเห็ดฟางบนวัสดุประยุกต์ เช่น การเพาะเห็ดฟางในตระกร้า ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมากในกลุ่มเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อย โดยเฉพาะเกษตรกรในแถบชุมชนเมือง
วิธีการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติก
วิธีการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติก เป็นอีกวิธีในการเพาะเห็ดฟางสำหรับผู้สนใจเริ่มต้นทำเพื่อไว้บริโภคเองในครัวเรือนหรือเพื่อศึกษาแล้วต่อยอดเพื่อเพาะเห็ดฟางขาย เพราะการเพาะเห็ดฟางในตระกร้าพลาสติกช่วยลดการใช้พื้นที่ เคลื่อนย้ายสะดวก อีกทั้งยังสามารถเก็บผลิตได้ง่าย ทำประมาณแค่ภายในหนึ่งสัปดาห์ก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว
วัสดุอุปกรณ์สำหรับการเพาะเห็ดฟางในตระกร้าพลาสติก
- วัสดุเพาะเห็ดฟางหลักๆ ได้แก่ ฟางทุกชนิดแห้งสนิทไม่เปียกฝนมาก่อน ถ้าเป็นตะกร้าใหม่ก็สามารถนำมาเพาะเห็ดได้เลยหรือถ้าเป็นตะกร้าที่เคยเพาะเห็ดมาแล้วควรทำความสะอาดและตากให้แห้ง
- อาหารเสริม เช่น ผักตบชวาสดหรือแห้ง เปลือกถั่วต่างๆ ผักบุ้ง มูลวัว/ควายแห้ง รำ เศษฝ้าย ไส้นุ่น ก้อนเชื้อนางรม/นางฟ้าเก่า เป็นต้น
- อุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ ตะกร้า พลาสติก บัวรดน้ำ เชื้อเห็ดฟาง
วิธีการเพาะเห็ดฟาง
- ฟางแช่น้ำค้าง 1 คืน
- หัวเชื้อ 1 ก้อน แบ่งเป็น 3 กอง เพาะได้ 3 ตะกร้า
- ฟางอัดลงก้นตะกร้ากดให้แน่น สูง 1 ฝ่ามือ
- อาหารเสริมต่างๆ แช่น้ำพอชื้น โรยชิดขอบตะกร้า
- โรยเชื้อเห็ดฟาง 1 ส่วน ทับบนอาหารเสริม เสร็จชั้นที่ 1
- ทำชั้นที่ 2 และ 3 เหมือนชั้นที่ 1
- ชั้นบนสุดโรยอาหารเสริมเต็มหน้าตะกร้า โรยเชื้อให้ทั่วกลบด้วยอาหารเสริมอีกครั้ง
การดูแลรักษาสำหรับการเพาะเห็ดฟางในตระกร้า
- สถานที่ควรเป็นพื้นดิน ใต้ร่มไม้หรือร่มสนิท
- ซ้อนตะกร้า เป็นรูปสามเหลี่ยม แนวยาว 1 แถว หรือ 2 แถว
- รดน้ำที่พื้นดินให้เปียกแฉะ จะได้ความชื้นจากการระเหยของน้ำที่ดิน
- คลุมด้วยพลาสติก ทับด้วยฟางแห้งหรือสแลนปล่อยทิ้งไว้ 3 คืน
- ครบ 3 คืน เปิดระบายอากาศตรงกลาง แล้วคลุมไว้เหมือนเดิม อีก 3-4 วัน เก็บผลผลิตได้
- ผลผลิต 1 ตะกร้า 1 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับอาหารเสริม ยิ่งใส่มาก ผลผลิตยิ่งสูงตาม
- อาหารเสริมจะใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้ร่วมกันหลายๆ อย่างก็ได้
การเพาะเห็ดฟางอย่างง่าย โดยชมรมเกษตรอินทรีย์ธรรมศาสตร์
- ทุบก้อนเชื้อ ( ได้จากการเพาะเห็ดในถุงพลาสติก ) ให้แตกพอแหลก แต่ไม่ต้องละเอียด
- ใส่วัสดุเพาะลงในตะกร้าสูงประมาณ 2-3 นิ้ว กดให้พอแน่น และ ให้ชิดขอบตะกร้า
- โรยผักตบชวาที่หั่นไว้ ลงบนวัสดุเพาะโดยรอบ
- นำเชื้อเห็ดฟางมาโรยบนวัสดุเพาะได้เป็น ชั้นที่ 1
- ทำชั้นที่ 2 และ 3 ด้วยวิธีการเดิม ปิดชั้นที่ 3 ด้วยวัสดุเพาะ ได้เป็น 1 ตะกร้า
- นำตะกร้าเห็ดฟางใส่กระโจมเพาะเห็ดฟาง
- รักษาอุณหภูมิในโรงเรือนให้อยู่ที่ 33-38 องศา เมื่อเส้นใยเดินเต็มวัสดุจึงรดน้ำด้วยบัวฝอย
- เมื่อเกิดตุ่มดอกแล้วรักษาอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศา ช่วงนี้เห็ดฟางจะเจริญเติบโตขึ้น
- เก็บดอกตูม หัวพุ่ง ของเห็ดฟาง ให้ชิดรูตะกร้า
การดูแลตะกร้าเพาะเห็ดภายในโรงเรือน และการให้ผลผลิต
1. ในช่วง 1-4 วัน ( ฤดูร้อนและฝน ) ส่วนฤดูหนาว ช่วง 1-7 หรือ 8 วันแรก ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในกระโจมหรือโรงเรือนให้อยู่ในระดับ 37-40 องศาเซลเซียส
- ติดเทอร์โมมิเตอร์แขวนไว้ภายในโรงเรือนหรือกระโจม ระดับสูงจากพื้นดินประมาณของความสูงของโรงเรือนหรือกระโจม เพื่อตรวจดูอุณหภูมิให้ได้ระดับที่กำหนดไว้เสมอ
- หากอุณหภูมิสูงเกินไปให้เปิดช่องลมระบายอากาศด้านบนของโรงเรือนหรือใช้วัสดุพรางแสงคลุมหรือรดน้ำรอบกระโจมเพื่อลดอุณหภูมิ
- หากอุณหภูมิต่ำกว่ากำหนดต้องปิดช่องระบายอากาศให้มิดชิด หรือใช้หลอดไฟ 100 วัตต์วางไว้ในโรงเรือนเพาะเห็ด ห่างจากตะกร้า ประมาณ 1 คืบ หรือ 10 นิ้ว เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจเกิดความร้อนเกินไป ในกรณีนี้ต้องยกตะกร้าเพาะเห็ดให้สูงขึ้น โดยวางตะกร้าเพาะไว้บนชั้นโครงเหล็กจะสะดวกต่อการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น
- ควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ภายในกระโจมหรือโรงเรือนให้อยู่ในระดับ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โดยใช้ ไฮโดรมิเตอร์แขวนไว้ภายในโรงเรือน ระดับเดียวกันกับเทอร์โมมิเตอร์
2. เมื่อถึงวันที่ 4 ในฤดูร้อนและฝน หรือวันที่ 5 ในฤดูหนาว
- ให้เปิดพลาสติกคลุมหรือปิดประตูโรงเรือน อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศให้ใยเห็ดสร้างจุดกำเนิดดอก ถ้าวัสดุเพาะแห้งเกินไปให้รดน้ำตามสมควร
- ปกติรดน้ำเพียงเล็กน้อยจะเป็นการตัดเส้นใยเชื้อเห็ดซึ่งการตัดเชื้อใยเห็ดนี้เป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างดอกเห็ดได้
- โดยอาจใช้น้ำตาลกลูโคส 1 ช้อนกาแฟ ละลายกับน้ำ 1 ลิตร รดน้ำให้วัสดุเพาะด้วยก็ได้
- ถ้าไม่แห้งก็ไม่ต้องรด หลังจากเปิดประตูเพื่อถ่ายเทอากาศแล้วต้องปิดพลาสติกหรือประตูไว้เช่นเดิม
3. ระหว่างวันที่ 5-8
- ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส โดยในช่วง 6-7 วัน จะมีการรวมตัวของเส้นใยเป็นดอกเล็กๆ จำนวนมากมาย ช่วงนี้ห้ามเปิดพลาสติกหรือโรงเรือนบ่อยครั้งเพราะจะทำให้ดอกเห็ดฝ่อได้
4. การเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณวันที่ 8-9 วัน ในฤดูร้อน หรือ 12-15 วัน ในฤดูหนาว
เห็ดฟางมีประโยชน์อะไรบ้าง?
มาสรุปกันให้เข้าใจง่ายๆ เลยว่าเห็ดฟางนั้น มีประโยชน์คือ เป็นเห็ดที่มี ไขมันต่ำแคลอรี่น้อย และไม่มีคลอเรสเตอรอล มีคาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินบี1 บี2 วิตามินซี นอกจากนี้ยังมี ซีลีเนียม โพแทสเซียม ช่วยต้านมะเร็งลดความดันโลหิต เห็ดฟางยังมีโปรตีนสูงและกรดอะมิโนต่างๆ การทานเห็ดฟางจึงดีต่อสุขภาพ ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยย่อยอาหาร บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงตับ แก้ร้อนใน แก้ช้ำใน
เห็ดฟางมีประโยชน์ขนาดนี้แล้วจึงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ถ้าหากปลูกขายแล้วเชื่อแน่ว่า น่าจะเป็นอีกธุรกิจเกษตรทำเงินแน่นอน
โอกาสของการเพาะเห็ดฟางขายยังมีมาก
จากเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งเห็ดก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เห็ดฟางก็เป็นอีกเห็ดชนิดที่มีความต้องการสูง ยิ่งถ้าสามารถทำให้ได้มาตรฐานแบบปลอดสาร เริ่มตั้งแต่กระบวนการหาวัสดุอุปกรณ์ ขั้นตอนการทำ การเก็บเกี่ยว จนถึงการหีบห่อขนย้าย ยิ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าให้สูงขึ้นและสามารถขายได้ในกลุ่มตลาดบนด้วย


ดูข้อมูลเพิ่มเติม
- วิธีการเพาะเชื้อเห็ดในอาหารเหลว พี.ดี.เอ. และขยายเชื้อ
- โรงเพาะเห็ดระบบ Evaporative ( EVAP )
- วิธีการเพาะเห็ดขอนขาว
- วิธีการเพาะเห็ดนางฟ้า ( เห็ดนางรมอินเดีย ) เห็ดนางฟ้าภูฐาน ( เห็ดนางรมภูฐาน หรือเห็ดภูฐาน )
- วิธีการเพาะเห็ดสกุลนางรม ( เห็ดนางฟ้า ) : ม. แม่โจ้
- วิธีการเพาะเห็ดหลินจือ ม.แม่โจ้
- วิธีการเพาะเห็ดยานางิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น
- วิธีการเพาะเห็ดเป๋าฮื้อ
- วิธีการเพาะเห็ดแครง
- วิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดฟางวิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง แบบ กอง, โรงเรือน และ ในตะกร้า
- วิธีการเพาะเห็ดเยื่อไผ่ หรือ เห็ดร่างแห
- วิธีการเพาะเห็ดแชมปิญอง หรือ เห็ดกระดุม
- วิธีการเพาะเห็ดเข็มทอง
- วิธีการเพาะขยายพันธุ์ เห็ดเผาะ หรือ เห็ดถอบ : ม.แม่โจ้
- วิธีการเพาะเห็ดหอม หรือเห็ดชิตาเกะ
- วิธีเพาะเห็ดนางรมหลวง หรือเห็ดออรินจิ
- วิธีการเพาะเห็ดหูหนูขาว หรือเห็ดแม่ไก่
- วิธีเพาะเห็ดหูหนูดำหลังขาว หรือเห็ดหูช้าง